“แบงก์ชาติ” หวั่น “ครัวเรือน-เอสเอ็มอี” ล้มครืน จากปัญหาการเงินโลกป่วน

ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดผลการประชุมร่วมกัน ระหว่าง กนง.และ กนส. พบระบบการเงินโลก มีแนวโน้มเผชิญด้านความเสี่ยง หวั่น ครัวเรือน เอสเอ็มอีไทย ล้มครืน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกัน ระหว่าง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) โดยพบว่า ระบบการเงินโลกมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วแรงและพร้อมเพรียงกันของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อดูแลเงินเฟ้อ หนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้นมาก ราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่มีความผันผวนสูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในตลาดการเงินที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้ จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ระดับการก่อหนี้ของรัฐบาล ธนาคารพาณิชย์ และเอกชน อยู่ในระดับต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับสูง ทำให้ที่ประชุมประเมินว่าตลาดการเงิน และระบบการเงินไทยในปัจจุบันยังมีเสถียรภาพ ธุรกิจประกันภัยยังมีฐานะการเงินมั่นคง อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามดูแลความเสี่ยงที่มีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยใน 2 ประเด็น

ประเด็นแรก ต้องจับตาความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือนและเอสเอ็มอีบางกลุ่มที่อาจด้อยลง หากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ครัวเรือนไทยยังมีความเปราะบางจากหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เอสเอ็มอีมีความเสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เช่น ภาคท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่สูงขึ้นและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เช่น การขนส่งสินค้า การค้า และวัสดุก่อสร้าง โดยเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องเร่งผลักดันมาตรการแก้หนี้ในลักษณะเฉพาะจุดให้ครอบคลุมและเข้าถึงลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ต้องติดตามคุณภาพอย่างใกล้ชิดของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและ non-bank

ประเด็นที่ 2 ต้องจับตาความผันผวนของราคาสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดการเงินและต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจที่อาจปรับสูงขึ้นจากภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ลดลง จนอาจกระทบผลการดำเนินงานของสถาบันการเงิน กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทประกันภัย รวมทั้งเสถียรภาพระบบการเงินได้ หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องร่วมกันติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมดูแลให้ตลาดการเงินมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะทำหน้าที่ได้ตามปกติแม้ในภาวะวิกฤติ ขณะที่ภาคเอกชนควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากการระดมทุนระยะสั้นที่กระจุกตัว ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password