บก.อัพเกรดตัวเอง ขับเคลื่อนภาครัฐสีเขียว หวังลดต้นทุนชาติ – หนุนแข่งขันตลาดโลก

อธิบดีกรมบัญชีกลาง ปรับกลยุทธ์องค์กร มุ่งปรับตัวเองและหน่วยงานภาครัฐรองรับแผนใหญ่ระดับชาติ ประกาศเดินหน้าผลักดันสู่ “องค์กรขับเคลื่อนภาครัฐสีเขียว” หวังลดต้นทุนประเทศ เผย! เตรียมเช็คกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างมากถึง 400 ฉบับ ชี้! ตัวไหนล้าหลังและเป็นอุปสรรค พร้อมโละ รื้อ และปรับปรุงทันที! แนะภาคเอกชนปรับตัวรับกระแสโลกอิง “กรีน” เหตุทั่วโลกสร้างเงื่อนไขส่งออกแล้ว ย้ำ! อยากเพิ่มผู้ประกอบเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ “สีเขียว” หน้าใหม่ ร่วมเป็น “คู่ค้าภาครัฐ”

นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง (บก.) ได้กำหนดแนวนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานนับจากนี้ไป โดยจะเน้นมุ่งสู่เป้าหมายหลักเพื่อผลักดันให้ภาครัฐมุ่งสู่ภาครัฐสีเขียว (Green Economy) พร้อมลดต้นทุนของประเท ศไม่ว่าจะเป็น…การลดเวลา ลดกระบวนการ รวมถึงลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ อำนวยความสะดวกและลดภาระของภาคเอกชน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังการช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านแนวทางการดำเนินงานที่เรียกว่า 2C 2G และ 2D ประกอบด้วย…  

C – Customer Centric โดยกรมฯจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับลูกค้า เป็นการดำเนินการโดยเอาใจเขา ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ บุคลากรภาครัฐ หรือผู้ประกอบการ มาใส่ใจเรา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาความยุ่งยากที่เป็นอุปสรรคทั้งในด้านของกฎระเบียบ ระบบงาน การลดภาระงานที่ไม่จำเป็น เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว คล่องตัว และเกิดความพึงพอใจจากการให้บริการของกรมบัญชีกลางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางมีแนวทางที่จะปรับปรุงกฎหมายและระเบียบของกรมบัญชีกลางให้ทันสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของทุกภาคส่วน รวมถึงลดต้นทุนของประเทศในภาพรวม

C – Collaboration มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมุ่งสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลของกรมบัญชีกลางกับหน่วยงานของรัฐมากขึ้น เช่น การเชื่อมข้อมูลระหว่างระบบ e-Payroll และระบบ D-Pension กับระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีที่เป็นข้าราชการและผู้รับบำนาญ การเชื่อมข้อมูลทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากับระบบ e-GP เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ลดภาระการขอและยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนนิติบุคคล เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานตรวจสอบ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และเฝ้าระวังตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงจะมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการให้ความรู้ ทั้งในด้านการจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายของส่วนราชการ รวมถึงการทำบัญชีภาครัฐ

G – Good Governance การปฏิบัติงานจะยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน รวมถึงผลักดันภาครัฐให้มีธรรมาภิบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญในเรื่องของความโปร่งใส เปิดเผย คุ้มค่า เสมอภาค และเป็นธรรม โดยไม่ละเลยในการอำนวยความสะดวกในการให้บริการ กรมบัญชีกลางมีแนวทางที่จะเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือ Open Contracting Data Standard : OCDS เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้งานได้อย่างสะดวก ลดปัญหาการทุจริตในภาครัฐ นอกจากนั้น จะพัฒนาระบบวิเคราะห์หาความเสี่ยงและตรวจสอบการทุจริตในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง (Red Flag) จากการสมรู้ร่วมคิดในการจัดซื้อจัดจ้าง การผูกขาด และการมีผลประโยชน์ทับซ้อน และพัฒนาระบบสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) เพื่อให้การทำสัญญามีความปลอดภัยและสะดวกมากขึ้น

G – Green & Sustainable Procurement โดยจะมุ่งเน้นผลักดัน ภาครัฐให้เป็นภาครัฐสีเขียวและยั่งยืน โดยจะมี การปรับปรุงกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับสินค้าสีเขียว สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล และผลักดันให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ รวมทั้งตอบโจทย์เป้าหมายที่ไทยจะมุ่งเข้าสู่ประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ในปี 2065 พร้อมทั้งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ในปี 2573

“กรมฯมีแผนจะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องราว 400 ฉบับ กฎหมายตัวไหนที่ล้าสมัยก็จะปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น กฎหมายตัวไหนที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะสร้างปัญหาและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานก็อาจต้องยกเลิกไป รวมถึงการออกกฎหมายใหม่ที่จำเป็นจะต้องมีเพื่อนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยจะพิจารณาดูว่าอะไรที่สามารถทำได้ก่อนก็จะทำก่อน และจะค่อยๆ ดำเนินการ ไม่จำเป็นจะต้องเร่งรัดปรับปรุงแก้ไขทั้งหมดในคราวเดียว” อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุ

ในส่วนของD – Digital กรมฯมีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่ การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ในปี 2570 โดยจะมี แผนการทำ Digital Transformation ภายในองค์กร ลดการนำเข้าข้อมูลที่ซ้ำซ้อนในแต่ละระบบ และมุ่งผลักดันนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐ ลดระยะเวลาและลดค่าใช้จ่าย รวมถึงพัฒนาระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบงานแล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรของกรมก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ดังนั้น จะมีการให้ความรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงสร้างทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถผลักดันนโยบายให้สำเร็จ  

และ D – Data Driven กรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลภาครัฐในด้านต่าง ๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลคู่ค้าภาครัฐ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลการเบิกจ่ายของภาครัฐ รวมถึงข้อมูลค่ารักษาพยาบาล ซึ่งทางกรมบัญชีกลางจะนำข้อมูลมาใช้ในการคิด วิเคราะห์ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที อันจะเป็นการช่วยบริหารทรัพยากรของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

“เป้าหมายที่จะสร้างภาครัฐสีเขียวและการลดต้นทุนของประเทศ สอดรับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องปรับตัวให้เข้ากับ “เศรษฐกิจสีเขียว” (Green Economy) เพราะจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกจะใช้พิจารณานำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ฝั่งตะวันตกได้เริ่มนำมาใช้แล้ว แม้บางส่วนจะเพิ่มภาระต้นทุนการดำเนินงานให้กับเอกชนบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด อีกทั้งภาครัฐ โดยเฉพาะกรมสรรพากรเองก็ได้ให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนตัวเองรองรับภาวะ “เศรษฐกิจสีเขียว” ไปบ้างแล้ว อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวและว่า…

กรมบัญชีกลางเองคาดหวังจะเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าและวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้เข้ามาเป็น “คู่ค้า” กับภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่า งบประมาณในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐมีสูงถึงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ (สภาพัฒน์, กุมภาพันธ์ 2567 : จีดีพีปัจจุบันอยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก (7% ของจีดีพี = 1.253 ล้านล้านบาท) หากมีผู้ประกอบรายใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยเพื่อผลิตสินค้าและวัสดุที่ไม่ก่อปัญหาต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องใช้ เข้ามาคู่ค้ากับภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเป็น “ภาครัฐสีเขียว” และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตและการดำเนินงานของประเทศได้เป็นอย่างดี.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password