“พิธา”จบเห่! สภาลงมติ “ญัตติ” ตกไปแล้ว เสนอชื่อโหวตนายกฯรอบ 2 ไม่ได้

ประตูตาย”พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ “! ที่ประชุมรัฐสภาลงมติ 395 -374 เสียง เสนอชื่อโหวตนายกฯซ้ำไม่ได้ ขัดข้อบังคับฯที่ 41 หลังถกเดือดลากยาวกว่า 8 ชั่วโมง ดับความฝันเป็นนายกฯคนที่30ของประเทศไทย

วันที่ 19 ก.ค.2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา272 ซึ่งมีผู้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เพียงชื่อเดียว ให้รัฐสภาพิจารณา และมี ส.ส.รับรอง 299 คนครบตามจำนวนที่กำหนด

แต่การพิจารณาดังกล่าวไม่สามารถลงมติตามที่ขั้นตอนได้ เนื่องจากที่ประชุมได้พิจารณาข้อหารือ ตามที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอประเด็นให้พิจารณาเพื่อโต้แย้งการเสนอชื่อนายพิธา ให้รัฐสภาโหวตเป็นนายกฯ รอบสอง เพราะมองว่าการชื่อของนายพิธานั้นเข้าข่ายเป็นญัตติที่รัฐสภาตีตกไปแล้ว หลังจากการประชุมรัฐสภา เมื่อ 13 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น นายพิธาไม่ได้เสียงเห็นชอบให้เป็นนายกฯ ดังนั้นกรณีเสนอชื่ออีกครั้งถือว่าขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 อย่างไรก็ดีตนยืนยันว่าชื่อของนายพิธาไม่ได้เสียสิทธิ์ต่อการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ แต่ต้องเกิดขึ้นในสมัยประชุมครั้งถัดไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้ใช้เวลาถกเถียงกันอย่างดุเดือดเข้มข้น ระหว่าง พรรคขั้วรัฐบาลเดิม กับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงฝั่งส.ว. ซึ่งยกเหตุผลและข้อบังคับ รวมถึงรัฐธรรมนูญว่าด้วยการโหวตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 สนับสนุนเหตุผลของฝั่งตนเอง ทั้งนี้พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าการเสนอชื่อบุคคลให้ความเห็นชอบเป็นนายกฯ นั้น เป็นเรื่องที่เสนอให้พิจารณา ไม่ใช่การเสนอญัตติตามที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับการประชุม

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการอภิปราย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายตอนหนึ่งว่า ขอให้หัวหน้าพรรคการเมืองระลึกด้วยว่า การพิจารณาตามข้อหารือนั้นอาจสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีของอนาคตการเมืองไทย ทั้งนี้การเลือกนายกฯ ตามบทเฉพาะกาลท มาตรา 272 นั้น มีโอกาสใช้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะครบ5 ปี ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ ยังมีผลบังคับใช้ และการเลือกนายกฯ​ต้องปฏิบัติตามมาตรา 159 โดยให้สภาฯเลือกแคนดิเดตนายกฯจากบัญชีของพรรคการเมือง ดังนั้นในอนาคตหากเกิดกรณีที่พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งไม่พอใจ เพราะจัดสรรปันส่วนไม่ลงตัว และที่ประชุมสภา ไม่รับข้อเสนอของพรรคเสียงข้างมากที่เสนอบุคคลเป็นนายกฯ คนที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯอาจตกม้าตาย เพราะที่ประชุมมโหวตไม่ได้ และหากยึดบรรทัดฐานที่ระบุว่าเสนอชื่อซ้ำไม่ได้อาจจะสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีในอนาคต

“ด้วยความเคาพอย่าให้บรรทัดฐานการเมือง ต่อประเด็นลงมติเลือกนายฯ เป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีต่อไปในอนาคต ผมเห็นว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 มาตรา 272 และข้อบังคับการประชุมรัฐสสภา ข้อ 136 เป็นบทบัญญัติเฉพาะว่าด้วยการเลือกนายกฯ ดังนั้นจะนำเรื่องข้อบังคับที่เป็นญัตติ ซึ่งเป็นบททั่วไปมาบังคับไม่ได้ ทั้งนี้ไม่มีอะไรห้ามที่จะเสนอ ตรงกันข้ามการพิจารณานั้นต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ” นายชูศักดิ์ อภิปราย

ต่อมาภายหลังจากได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางในญัตติการเสนอชื่อนายพิธา ให้รัฐสภาเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จะทำได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ41 ได้หรือไม่ ประธานได้ทำการตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อที่จะลงมติ

จนในเวลา17.07 น. ได้เปิดให้มีการลงมติด้วยวิธีกดบัตรแสดงตน ผลปรากฎว่า เห็นด้วย 395 เสียง ไม่เห็นด้วย 317 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 ซึ่งประธานฯ ชี้แจงว่า เนื่องจากขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณามีมติให้นายพิธา งดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นจำนวนสมาชิกกึ่งหนึ่งของที่ประชุมทั้ง 2 สภาฯ คือ 374 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นด้วยเป็นไปตามข้อบังคับฯ 41 คือไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ จากนั้นได้สั่งปิดประชุมในเวลา 17.09 น. ทั้งนี้ที่ประชุมได้ใช้เวลาถกเถียงและอภิปรายในเหตุผลของแต่ละฝ่ายยาวนานกว่า 8 ชั่วโมง

มติดังกล่าว ส่งผลให้นายพิธาหมดสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี และต้องจับตาการเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป !

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password