พิธา-ก้าวไกล ยก 9 ข้อต่อสู้คดียุบพรรค สวนศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุบพรรค ชี้! กกต.ยื่นคำร้องไม่ชอบด้วย กม.

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ยกข้อต่อสู้ 9 ข้อ ปมยุบพรรคคดีล้มล้างการปกครอง ชี้ อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมีแค่ 3 เรื่อง ไม่รวมถึงอำนาจตัดสิทธิการเมือง ส่วน กกต. ระบุ ยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้าน หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม โพสต์สวน ไม่ฟังศาล พยายามชี้นำสังคม

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงแนวทางการต่อสู้ในคดียุบพรรค กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคําสั่งยุบพรรคก้าวไกลในคดีล้มล้างการปกครองฯ ว่า พรรคฯมีข้อต่อสู้ 9 ข้อในคดีนี้ แบ่งเป็น 3 หมวด คือ กระบวนการ ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ ซึ่งจุดประสงค์ของการแถลง จะเน้นไปที่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคดี สอดคล้องกับข้อกังวลของที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่อยากให้แสดงความเห็นในเพื่อเป็นการชี้นำสังคม ดังนี้

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ 2.กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสองข้อนี้เกี่ยวข้องกับขอบเขตอำนาจและกระบวนการโดยตรง 3.คำวินิจฉัยคดีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้ 4.การกระทำที่ถูกกล่าวหาไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นการปฏิปักษ์

5.การกระทำตามวินิจฉัย 31 มกราคม 2567 ไม่ได้เป็นมติของพรรค 6. โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็นฉุกเฉิน ฉับพลันและไม่มีทางอื่นแก้ไขในระบอบประชาธิปไตย 7. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสินคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) 8.จำนวนปีในการตัดสิทธิ์ทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด และ 9. การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับชุดกก.บห. ในระยะเวลาที่ถูกกล่าวหา

นายพิธา สรุปรายละเอียดบางข้อ โดยระบุว่า ที่ผ่านมา พวกเราต่อสู้ในเรื่องขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่คราวยุบพรรคอนาคตใหม่ และรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 ระบุชัดว่า อำนาจเฉพาะของศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ 1. พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับกฎหมายและร่างกฎหมาย 2. พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจ และหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ 3. หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งพวกตนได้ศึกษารัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีอำนาจข้อไหนที่ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสิทธิการเมือง ซึ่งอีกย่อหน้าก็ระบุว่า อะไรที่นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญแล้ว ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของกระบวนการ แต่ไม่ใช่บ่อเกิดอำนาจ ที่ศาลให้รัฐธรรมนูญมีขอบเขตอำนาจมากกว่า 3 ข้อนี้

ในส่วนของ กกต.นั้น กระบวนการ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีโอกาสให้ผู้ถูกร้อง นั่นก็คือพรรคก้าวไกล รับทราบ โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐานของตนแต่อย่างใด นอกจากนี้ คำวินิจฉัยว่า วันที่ 31 มกราคม ปี 2567 ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้ หลายคนอาจจะคิดว่าข้อเท็จจริงได้รับการวินิจฉัยเป็นที่สุดแล้ว แต่กกต. ยังใช้คำวินิจฉัยในคดีวันที่ 31 มกราคม เป็นเพียงหลักฐานเดียวในการยื่นยุบพรรคในครั้งนี้ แล้วหวังว่าจะมีความผูกพันคดี ในการที่คดีหนึ่งจะผูกพันกับอีกคดีได้ ก็ต่อเมื่อเป็นไปตาม 2 กรณีนี้เท่านั้น 1. เป็นข้อหาเดียวกัน ซึ่งในกรณีของเราต่างข้อหาก็เท่ากับต่างวัตถุประสงค์ 2. ถ้าระดับโทษใกล้เคียงกัน ก็อาจจะมาเทียบเคียงให้มีความผูกพันคดีได้ ซึ่งคดีเมื่อเดือนมกราคม ซึ่งโทษทั้ง 2 คดีนี้มีความแตกต่างกันมหาศาล มาตรฐานการพิสูจน์จึงเข้มข้นต่างกัน

สำหรับ โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีอื่นแก้ไข ในระบบประชาธิปไตย ต้องระบุให้ชัดเจนว่า โทษยุบพรรคมีได้ในระบบประชาธิปไตย แต่โทษการยุบพรรคต้องมีไว้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย การยุบพรรคจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง และเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น ก่อนที่ นายพิธา จะย้ำในเวลาต่อมาว่า…การยุบพรรคในระบบประชาธิปไตยมีได้ แต่ต้องเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ฉับพลัน ซึ่งหากปล่อยไปจะเสียหายไม่มีวิธีอื่นแก้ไขแต่ในกรณีของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นการสั่งชะลอจากกกต. ระบบนิติบัญญัติ และการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้น และเมื่อมีคำวินิจฉัยในเดือนมกราคม พรรคก้าวไกลก็หยุดการกระทำ ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการสุดท้ายในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหากมีการใช้ ก็เท่ากับว่าเป็นการทำลายประชาธิปไตยเสียเอง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

กรณี 44 สส. ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น นายพิธี เชื่อว่า จะไม่ถูกพิจารณาทั้งหมด หรือถูกพิจารณาเป็นรายกรณี ตนมั่นใจทุกข้อเท่ากัน เพราะทุกข้อเหมือนเป็นด่านและบันไดที่จะใช้ต่อสู้ ตั้งแต่ขอบเขตอำนาจของศาลไปจนถึงสัดส่วนการได้โทษของกรรมการบริหารพรรค แต่เรายังเชื่อว่าเจตนา และการกระทำของ สส. ในการเข้าชื่อแก้ไขกฎหมาย ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง และไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ รวมถึงการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเป็นนายประกัน การที่มีสมาชิก และ สส. ที่เป็นผู้ต้องหาในคดีความผิด มาตรา 112 การแสดงออก เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมาย มาตรา 112 ก็ถือเป็นการกระทำทั่วไป การกระทำทุกอย่างเป็นเรื่องรายบุคคล ที่ถูกขยุมรวมกัน ไม่ได้มาจากมติพรรค ไม่ได้เป็นเรื่องนิติบุคคล แต่เป็นเรื่องปัจเจก ไม่ได้มีความเห็นที่ออกมาจากกรรมการบริหารพรรค ย้ำว่า ต้องแยกความแตกต่างระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล

ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กโจมตี นายพิธา กรณีการแถลงข่าวข้างต้น โดยย้ำว่า “วันนี้พรรคก้าวไกลโกหกอะไร” ก่อนระบุอีกว่า วันนี้ผมคิดว่าพี่น้องคงได้ฟัง คำแถลงว่านายพิธาและพรรคก้าวไกล โกหกประชาชนเรื่องอะไรบ้าง ในประเด็นที่ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยยุบหรือไม่ยุบพรรคก้าวไกล

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญท่านก็ได้มีคำสั่ง ไม่ให้พรรคก้าวไกล มีการแสดงความคิดเห็น ที่เป็นการชี้นำประชาชน แต่พวกคุณก็ไม่สนใจ ทั้งๆที่หัวใจของประชาธิปไตยคือเคารพกฏหมาย และคำสั่งศาล

สิ่งที่คุณแถลงแนวทาง ในการต่อสู้ของพวกคุณ ไม่ต่างจากการเอาสีข้างมาเข้าถู คุณแน่ใจหรือว่า เรื่องการยกเลิกมาตรา112 ของพวกคุณนั้น ยังคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ พระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์

ฟังคุณพูดแค่นี้ก็รู้แล้วว่า คุณกับนายทักษิณมี DNA ไม่แตกต่างกันเลย นั่นคือพูดไปเรื่อย คิดว่าประชาชนคนไทยโง่ ตามพวกคุณไม่ทัน สิ่งที่พวกคุณต่างกัน เป็นเพียงตัวเลขของอายุเท่านั้น นอกนั้นไม่ต่างกันเลยคือ พูดเลอะเทอะไปเรื่อย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password