สภาทนายฯผุด ‘ศูนย์ช่วยเหลือ ปชช.’ ด้าน กม. สู้ พ.ร.บ.อุ้มหาย – ลั่น 7 ภารกิจเพื่อมนุษยธรรม-ศักดิ์ศรีมนุษย์
สภาทนายความจัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือ ปชช.ทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ทั่วไทย หวังเพิ่มความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนตามพ.ร.บ.อุ้มหาย เผย! มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ 7 ประการ ดำรงไว้ซึ่งหลักมนุษยธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 7 มี.ค.2566 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.พหลโยธิน, ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ พร้อมด้วย นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองเลขาธิการ นายสมพร คําพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ สภาทนายความ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ และ นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 3 ร่วมแถลงข่าวการจัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือปชช.ทางกฎหมายในการป้องกันและ ปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ทั่วประเทศ
นายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า การออก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการ ทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 (แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2564) จากการทรมานและการกระทำให้สูญหายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นการ เพิ่มประสิทธิในการบังคับใช้กฎหมาย สภาทนายความฯ จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือ ประชาชนทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สภาทนายความใน พระบรมราชูปถัมภ์ (ในส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค ประจำสภาทนายความจังหวัดต่างๆ ในภาค 1 – 9)”
โดยการจัดตั้งศูนย์ฯดังกล่าวจะใช้สภาทนายความทั้ง 9 ภาค ทุกจังหวัด รองรับการรับแจ้งจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบและพร้อมร่วมมือกับฝ่ายภาครัฐ ซึ่งมีความพร้อมจะช่วยเหลือในทันทีเพื่ออำนวยความยุติธรรม ทั้งนี้ สภาทนายพร้อมที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกระบวนการจับกุมของพนักงานสอบสวน เนื่องจากตนมองว่าตั้งแต่พนักงานสอบสวนไปจับกุมผู้ต้องหาสิทธิของผู้ต้องหาควรจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนดังกล่าว หลังจากจับกุมแล้วทนายความควรเข้าไปมีบทบาทเพื่ออำนวยความยุติธรรม ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ตนมองว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเคารพ และให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วแม้จะมีบางมาตราที่บางหน่วยงานขอชะลอการใช้บังคับก็ตาม แต่คาดว่าจะมีผลในเร็วๆ นี้
ด้าน นายสัญญาภัชระ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการฯ กล่าวเสริมว่า เรื่องนี้เป็นกฎหมายที่สำคัญที่จะมีผลกับ กระบวนการพิจารณาที่จะเปลี่ยนแปลงต่อไปจากนี้ เพื่อเป็นการรักษาซึ่งสิทธิมนุษยชนมากขึ้น สภาทนายความมีสภาทนายความประจำจังหวัดพร้อมจะรับเรื่องร้องเรียนและให้เข้าช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่ปฏิบัติตามกฎหมาย อีกเรื่องที่จะทำควบคู่กันก็คือการให้ความรู้กับประชาชนในระดับจังหวัด เพื่อให้เข้าถึงเจตนารมณ์ และการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติตามกฎหมายที่แท้จริง และในกรณีที่มีเหตุขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ส่วนกลางเราสามารถดำเนินการที่สภาทนายความแห่งนี้ได้เลย ส่วนของภูมิภาคจะมีกรรมการบริหารภาค และประธานสภาทนายความทุกจังหวัด ทุกเขตอำนาจศาลพร้อมที่จะรับผิดชอบช่วยเหลือประชาชนในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการป้องกันและ ปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1. รับแจ้งขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากประชาชนในเหตุการณ์ทรมาน การกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย
2. ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำใน การกระทำที่ โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย
3. ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการ กระทําให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
4. ทําหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5. เสนอความเห็นต่อสภาทนายความและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้ บุคคลสูญหาย
6. กำหนดนโยบาย แผนงาน มาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานการกระทำหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหายของสภาทนายความ
7. ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำ ให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อเสนอสภาทนายความและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการ กระทําให้บุคคลสูญหาย
“ที่ผ่านมาสภาทนายความ ได้ให้ความช่วยเหลือและติดตามเรื่องของ ทนายความสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่ถูกอุ้มหาย เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2547 โดย ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง ส่วนเรื่องการสูญหายอยู่ในความรับผิดชอบของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด” อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ ระบุ.