อสส. ผนึก 3 หน่วยงานยุติธรรม ‘เพิ่มคุ้มครองชาวบ้านหลังถูกจับ’ อิง กม.อุ้มหาย! ตามกระแสโลก

“นารี ตัณฑเสถียร” หวังดันอัยการสูงสุดสู่องค์กรแห่งความยุติธรรมฯ ผุดแนวคิดสร้างแรงบันดาลใจและทัศนคติเชิงบวกแก่บุคลากรภายในองค์กร เผย! พร้อมผนึก 3 หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม “ตำรวจ อัยการ และศาล” เพิ่มความคุ้มครองทางด้านสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนที่ถูกจับกุม อิงแนวทาง พ.ร.บ.อุ้มหาย รับกระแสโลกยุคนี้

น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด (อสส.) เปิดในฐานะประธานจัดงานสัมมนาวิชาการ STRONGER OAG ว่า ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกับจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรอัยการ ระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2566 – 2580) และแผนปฏิบัติราชการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ เป็นองค์กรแห่งความยุติธรรมของสังคมเพื่อความมั่นคงของชาติ และความสุขของประชาชน ซึ่งจะได้เริ่มนำมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานต่าง ๆ ของสำนักงานอัยการสูงสุด ในปีงบประมาณ 2566 นี้ ประกอบกับวันที่ 1 เม.ย.นี้ เป็น วันสถาปนาองค์กรอัยการ ครบรอบ 130 ปี จึงถือโอกาสนี้จัดกิจกรรมการเสวนาวิชาการ ขึ้นเพื่อเป็นการสื่อสารทิศทาง การนำองค์กร ถ่ายทอดยุทธศาสตร์ฯ และแผนปฏิบัติราชการดังกล่าวแก่บุคลากร รวมทั้งเผยแพร่ให้แก่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไปได้รับทราบ เพื่อจะได้ร่วมกัน สร้างสรรค์แนวทางในการดำเนินการเพื่ออำนวยความยุติธรรมในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ การผลัดเปลี่ยนของระเบียบโลกใหม่ (New World Order) และการเกิดขึ้น ของสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้การดำรงชีวิตของผู้คนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การทำงานที่ไม่จำกัดสถานที่จากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) การประชุมออนไลน์ (Online Meeting) การปฏิวัติทางเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์อันเกิดจาก ความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง การเข้าสู่สังคมสูงวัย เป็นต้น ซึ่งล้วน ส่งผลต่อทิศทางการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงานขององค์กรทั้งสิ้น

โดยการตระหนักรู้ (Self – Awareness) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สำนักงานอัยการสูงสุดจะต้อง “รุก รับ ปรับ เปลี่ยน” คือ ปฏิบัติงานเชิงรุก พร้อมรับในสิ่งใหม่ ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง และพร้อมเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า สร้างองค์กรอัยการ ให้เข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การอำนวยความยุติธรรมในยุคสมัยใหม่

พร้อมกันนี้ อัยการสูงสุด ยังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ดุลยภาพแห่งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” สรุปความว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีกฎหมายฉบับหนึ่งออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในชั้นการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กฎหมายฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมระหว่างประเทศ พวกเราคงเคยได้ยินการละเมิดสิทธิมนุษย์เสียชนในชั้นจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งในปัจจุบันนี้ คดีดังๆที่เกิดขึ้นในต่างประเทศก็จะได้ยินมายังประเทศไทยและคดีดังๆ ในประเทศไทยก็จะไปได้ยินในต่างประเทศ เพราะว่าโลกเราเล็กลงจากการสื่อสาร ยกตัวอย่างคดี การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา

ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับกุมชายผิวสี เเละภายหลังผู้ถูกจับกุมถึงแก่ความตาย คดีนี้ทำให้เกิดวิกฤติผลกระทบในกระบวนการยุติธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกาจนนำมาซึ่งการประท้วง และถูกมองว่าเป็นการแบ่งแยกคนผิวสี

ซึ่งใน ประเทศไทยจะโชคดีว่าไม่มีความแตกต่างในเรื่องของเชื้อชาติ จะเห็นว่าค่านิยมของสิทธิมนุษย์ชนเป็นหลักการที่ได้กำหนดในนานาประเทศ พวกเราเป็นนักกฎหมายเป็นผู้ปฏิบัติ เราคงคุ้นเคยกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งมีมาแล้วเป็นเวลานานมาก ซึ่งปฏิญญาสากลจะคุ้มครองบุคคลที่ถูกทำร้ายโดยวิธีการโหดร้ายและถูกย่ำยีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหประชาชาติ เพราะเราไม่สามารถอยู่ได้โดยเฉพาะกฎหมายภายในของประเทศเราเองเท่านั้น ปัจจุบันเราเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศอีก 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 คือการต่อต้านการทรมานและการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษย์ธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และ ฉบับที่ 2 คือ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สาบสูญ โดยที่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้ยอมรับในหลักการของอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

ดังที่เราจะเห็นได้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญได้บัญญัติศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ย่อมได้รับความคุ้มครอง สอดคล้องกับปฏิญญาสากลและอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้ง2ฉบับที่กล่าวเเละบัญญัติว่าการทรมานด้วยการลงโทษด้วยวิธีโหดร้ายเเบบไร้มนุษย์ธรรม ย่อมกระทำไม่ได้

อย่างประเทศไทยมีคดีที่เกิดขึ้นในจ.นครสวรรค์ซึ่งตนขอเรียกว่าคดีถุงดำซึ่งมีการจับกุมบุคคลแล้วถูกบังคับให้บอกที่ซ่อนยาเสพติดโดยเอาถุงดำหลายใบไปครอบศรีษะจนสุดท้ายผู้ถูกจับกลุ่มถึงแก่ความตายซึ่งสิ่งที่เป็นพยานหลักฐานสำคัญก็คือกล้องวงจรปิดที่อยู่ภายในสถานีตำรวจแห่งนั้น ท้ายสุดศาลก็ได้ ลงโทษ ผู้กระทำผิดคือลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

ส่วน คดีจอร์จ ฟลอยด์ ในต่างประเทศ หรือ คดีถุงดำในไทย ทำให้รัฐบาลได้ตระหนักถึงการถูกบังคับสูญหาย  จึงออก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และมีผลบังคับปี 2566 อยากสื่อสารถึงผู้นำองค์กรถึงความพร้อมและไม่พร้อมของสำนักงานอัยการสูงสุดในขณะที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ไปแล้ว

โดยขณะนี้ทั่วประเทศเรามีอัยการอยู่ 4,500 คนเจ้าหน้าที่ธุรการ 5,800คน  พนักงานในองค์กรอัยการจะต้องมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนี้ อย่างที่บอกว่า ความยุติธรรมจะอยู่เหนือตัวบทกฎหมาย โดยหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจอัยการและศาล ล้วนแต่เป็นบุคลากรหลักที่จะส่งให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการมีกฎหมายฉบับนี้ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งในส่วนของ สำนักงานอัยการสูงสุด มีการดำเนินการด้านนโยบาย,ด้านการตรวจสอบการควบคุมตัวบุคคล ,การสอบสวนการดำเนินคดีความผิด,การคุ้มครองเยียวยาความเสียหายต่อผู้เสียหาย และด้านต่างประเทศ

สำหรับนโยบายการบริหารจะมีการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงและรับเรื่องการตรวจสอบร้องเรียนจากการกระทำเสียหายจากการอุ้มทรมานสูญหาย  ส่วนการตรวจสอบการควบคุมบุคคลซึ่งมีความสำคัญ คือ จะต้องบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุมตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงส่งให้พนักงานสอบสวน สิ่งที่ได้ฟังจากสำนักงบประมาณว่า ทางตำรวจก็มีกล้อง Body Cam ซึ่งถ้อยคำที่สำคัญในกฎหมายก็คื อคำว่า “อย่างต่อเนื่อง” นั่นเเปลว่าจะต้องมีคลิปภาพทบันทึกที่จะต้องไม่มีการตัดต่อก่อนส่งให้พนักงานสอบสวน และจะต้องแจ้งพนักงานอัยการทันที ตรงนี้คือบทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ความผิด

ในส่วนของอัยการจะเป็นผู้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวอย่างที่ ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กล่าวไว้ว่า  เทคโนโลยีมีให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างถูกต้องเพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เเต่กรณีนี้กฎหมายเพียงแต่บอกว่าให้อัยการรับแจ้งแต่ไม่ได้บอกว่าให้รับแจ้งโดยระบบหรือแมนนวล ซึ่งจะเห็นได้ถึงความไม่สมบูรณ์ที่กฎหมายฉบับนี้จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์เต็มร้อย  เรียกว่ากฎหมายยังมีคำถามอยู่ เช่นที่เขียนว่า พนักงานอัยการอาจรับทราบพบเห็น เหตุการณ์ซ้อมทรมานโดยอัยการจะเป็นผู้ตรวจสอบว่ามีเหตุอันควรสงสัยหรือไม่ถ้ามีอัยการจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่อยู่ในเขตอำนาจ เพื่อสั่งยุติการกระทำเช่นนั้นทันที  เเต่ในข้อเท็จจริงอย่างในต่างจังหวัดที่อัยการกับศาลจะมีระยะทางห่างกันซึ่งคำว่า”ทันที”จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่มีระบบ

ถ้าประชาชนจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจะต้องมีการเชื่อมต่อตลอดเวลา ซึ่งจะเห็นว่าในความเป็นจริงถ้อยคำในตัวบทเขียนไว้ เเต่เหตุการณ์จริงจะไปสั่งยุติทันได้อย่างไรหากต้องส่งคำร้องเป็นกระดาษ เรื่องนี้บางครั้งก็ดูง่าย แต่ต้องดูความเป็นไปได้ สิ่งที่อยากได้ไม่ใช่เพียงแค่งบประมาณ  ซึ่งงบประมาณ เราก็จะได้ค่าเวร แต่ถ้าจะตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ต้องบอกเลยว่าไม่แน่ใจ

สำหรับฐานความผิดของกฎหมายฉบับนี้ก็จะร้อยเรียงมาจากกฎหมายของประเทศอย่างปฏิญญาสากล ซึ่งให้อำนาจพนักงานอัยการเป็นพนักงานสอบสวน เเละกฎหมายยังได้กำหนดเขตอำนาจศาลให้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบฯ เรียกว่าศาลก็มีงานเพิ่มอัยการก็มีงานเพิ่ม

ในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุด เราก็ให้สำนักงานปราบปรามการทุจริตเป็นสำนักงานที่รับผิดชอบในคดี ที่ฝ่าฝืนผิดตามกฏหมาย พ.ร บ.อุ้มหายฯ เเละร่างกฎหมายนี้ยังให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องค่าเสียหายทดแทน เเละความผิดตามพ.ร.บ.อุ้มหายฯนี้ไม่ให้ถือเป็นความผิดทางการเมือง กฎหมายฉบับนี้ระบุให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อดำเนินคดีทางอาญาได้ แต่กฎหมายก็ให้เรามองไปข้างหน้าว่าถ้าเราได้ส่งตัวไปที่ที่มีโอกาสที่จะถูกทำให้สูญหายทางเราก็จะไม่ส่งได้

ทั้งนี้ ส่วนที่ต้องมีอัยการอยู่เวร 24 ชั่วโมง อยากเรียนให้ทราบว่าการอยู่เวร มันไม่สำคัญเท่าการเข้าถึงในทันทีซึ่งก็คือระบบเทคโนโลยี ซึ่งพอเราจัดตั้งศูนย์ก็จะต้องมีอัยการ1คนและเจ้าหน้าที่ธุรการอีก1 คนอยู่เวร และเรามีศูนย์ทั่วประเทศแบบนี้อีก 112 เเห่ง

“ที่เราไปตรวจราชการที่จ.สุรินทร์ ได้มีโอกาสไปตรวจศูนย์ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ ก็พบว่างบประมาณที่ได้คือสติกเกอร์ขนาด A4 ไปแปะไว้ในลิฟต์ สิ่งที่นอกเหนือจากการบ่นครั้งนี้ก็คือการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์” อัยการสูงสุด ระบุและว่า งบประมาณที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล ก็ต้องขอบคุณที่รัฐบาลเห็นความสำคัญ แต่งบประมาณกลับไปทุ่มอยู่กับเข้าอยู่เวรโดยที่ไม่ได้ดูถึงอุปกรณ์ กล่าวตรงนี้ยังรู้สึกอิจฉา ผบ.ตรที่มีกล้อง Body Cam ซึ่งตนเคยถามไปยังสำนักงบประมาณถึง3หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ว่าจะได้รับคำตอบถึงเรื่องนี้หรือไม่ ความสำเร็จของกฎหมายฉบับนี้ที่จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เป็นแกนของกระบวนการยุติธรรมทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อตำรวจอัยการหรือศาลแต่กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ในปีงบประมาณปีหน้าโครงการซุปเปอร์เน็ตของสำนักงานอัยการสูงสุดนั้น ตนเพิ่งได้รับแจ้งจากสำนักงบประมาณว่าเราได้รับงบประมาณ 300 กว่าล้าน ซึ่งการปฏิบัติตามกฎหมายว่าเราบอก พรบ.อุ้มหายฯนี้ ก็ขึ้นอยู่กับระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเพื่อจะสอดคล้องกับระบบของตำรวจและศาล

“กฎหมายฉบับนี้จะบรรลุวัตถุประสงค์คือ ประชาชนได้รับความคุ้มครองทางด้านสิทธิเสรีภาพเกิดจากการจับมือกันระหว่างตำรวจ อัยการ และศาล รับรู้ร่วมมือช่วยเหลือกัน จับมือของ 3 องค์กรนี้จะนำไปสู่ความยุติธรรมที่ดีขึ้นกฎหมายมีอยู่แล้วแต่ความยุติธรรมที่ดีขึ้นจะสำคัญยิ่งกว่าการมีกฎหมายกฎหมายฉบับนี้จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการมีกฎหมายคื อจะต้องมีการรับรู้เชื่อมโยงข้อมูลโดยระบบไอทีงบประมาณสำหรับ 3หน่วยงานนี้ สำนักงบประมาณจำเป็นจะต้องดูให้สอดคล้องทิศทางการพัฒนาขององค์กรอัยการ จะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 15ปี เพื่อสำนักงานอัยการสูงสุดไปสู่ระดับสากล” น.ส.นารี กล่าวสรุปตอนท้าย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password