DSI ประชุมคดีฟอกเงิน ฮั้ว สว. นัดแรกวันนี้  เผย! ร่วม ‘อสส.’ กำหนดประเด็น-รวบรวมข้อเท็จจริง

อัยการสูงสุดตอบรับ กคพ. ส่งทีมอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 ร่วมสอบคดีฮั้วเลือก สว. กับดีเอสไอแล้ว ด้าน “อธิบดีฯยุทธนา” เตรียมประชุมเดินหน้านัดแรกวันนี้ (21 มี.ค.) ด้าน “ทนายอั๋น” หอบรายชื่อผู้ช่วย สว. 200 ราย มอบอธิบดีดีเอสไอ นำเข้าสำนวนสอบสวน “คดี ฮั้วสว.” หวัง DSI แยกเลขคดีพิเศษเป็นคดีใหม่ ฐานอั้งยี่ซ่องโจร ร้องทุกข์กล่าวโทษโพยฮั้ว สว. 140 รายชื่อ คาดนำหลักฐานทั้งหมดเข้าองค์ประชุม  

สืบเนื่องจาก คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติเห็นชอบให้รับคดีความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ในคดีฮั้ว สว.67 ไว้เป็นคดีพิเศษ ด้วยมติชี้ขาด 11 เสียง จากทั้งหมด 18 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง โดยอำนาจของ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการเซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 41 รายชื่อ เพื่อสืบสวนและสอบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2568

ล่าสุด วานนี้ (20 มี.ค.) มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับเอกสารจาก สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เลขที่ อส 0033.1/198 ลงวันที่ 19 มี.ค. 2568 เรื่อง แจ้งชื่อพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายให้สอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อ้างถึง หนังสือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด่วนที่สุด ที่ ยธ 0824/0845 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2568 สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาคำสั่งสำนักงานการสอบสวน ที่ 6/2568 ลงวันที่ 19 มี.ค. 2568

“ตามหนังสือที่อ้างถึง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณามอบหมาย พนักงานอัยการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้อนุมัติ ให้ทำการสอบสวน กรณีการสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการกระทำความผิดตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ.(ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตาม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ ข้อ 7 คดีความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก) (ข) (ค) (ง) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยลักษณะของการกระทำความผิดดังกล่าวผู้กระทำความผิดเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน อันเป็นลักษณะของความผิดตามพระราชบัญญัติ การสอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ง) ซึ่งตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสอบสวนร่วมกันหรือการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน ในคดีพิเศษระหว่างพนักงานสอบสวนคดีพิเศษกับพนักงานอัยการหรืออัยการทหาร พ.ศ.2547 กำหนดให้คดีพิเศษดังกล่าวต้องมีพนักงานอัยการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานอัยการคนหนึ่งคนใดในสำนักงาน การสอบสวน ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในคดีดังกล่าว สำนักงานการสอบสวน มอบหมายให้ พนักงานอัยการตามคำสั่งสำนักงานการสอบสวนที่ 6/2568 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2568 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานพนักงานอัยการร่วมสอบสวนคดีพิเศษคนหนึ่งคนใด ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และขอให้ท่านประสานกับพนักงานอัยการเพื่อกำหนดวันเวลาในการร่วมสอบสวนต่อไป”

โดยมี ร.ต.อ.โชคชัย สิทธิผลกุล อธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี รักษาการในตำแหน่ง อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นผู้ลงนาม

มีรายงานเพิ่มเติมว่า พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เตรียมนัดประชุมร่วมกันครั้งแรก หลังได้รับเอกสาร สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เรียบร้อยแล้ว โดยมอบหมายคณะพนักงานสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 เข้าร่วม ซึ่งรับเป็นคดีพิเศษที่ 24/2568 เพื่อสอบสวนพิจารณาแนวทางการทำคดีประเด็นการฟอกเงิน ในวันศุกร์ที่ 21 มี.ค.ที่จะถึงนี้

อีกด้านหนึ่ง วันเดียวกัน (20) เมื่อเวลา 16.00 น. ณ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ, นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ “ทนายอั๋น บุรีรัมย์” เดินทางมามอบพยานหลักฐานต่อ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็น รายชื่อของคณะทำงานของ สว. 200 ราย และเป็นคณะทำงานชุดแรก หลังจากเปลี่ยนแปลงคณะทำงานในชุดที่ 2 เพื่อให้ดีเอสไอตรวจสอบความเชื่อมโยงของบุคคลดังกล่าว ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการฮั้วการเลือก สว. หรือไม่ เพื่อให้รวบรวมหลักฐานดังกล่าวเข้าสู่สำนวนของดีเอสไอ

นายภัทรพงศ์ เปิดเผยว่า ตนเดินทางมายื่นเอกสารรายชื่อของบรรดาผู้ช่วย สว. ที่เป็นคณะทำงานชุดแรก ซึ่งภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงคณะทำงานในชุดที่ 2 โดยไม่ทราบสาเหตุการเปลี่ยนคณะทำงานยกชุดเพราะอะไร โดยเฉพาะ สว. ลำดับ 13 คือ ศาสตราจารย์ดร.พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย หรือ “หมอเกศ” ที่ได้เปลี่ยนคณะทำงานยกชุดทั้งหมด ซึ่งทำงานได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น

ส่วนกรณี สว. บางท่านจากบุรีรัมย์ ได้เอาญาติตัวเองไปเป็นผู้ช่วยให้กับ สว.ท่านอื่น ซึ่งไปรู้จักกันตอนไหน มีความสัมพันธ์กันอย่างไรถึงมอบหมายญาติตัวเองไปเป็นผู้ช่วย สว.ท่านอื่น ทำไมไม่มาเป็นผู้ช่วย สว.ของตัวเอง และ โดยปกติ สว. ที่เราเคยได้ยินจะมาเป็นจาก อสม. หรือ เกษตรกร เป็นต้น แต่การหาผู้ช่วย สว. มาช่วยงาน ควรจะต้องหาคนที่มีความรู้ความสามารถ คุณวุฒิ ที่ตรงกับสายงานที่ตัวเองเป็น สว.ในกลุ่มนั้นๆ ไม่ใช่สลับกันไปหมด ทั้งนี้ ตนมาเป็นครั้งที่ 3 นำพยานหลักฐานมามอบให้ดีเอสไอ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่การสอบสวน

“นอกจากนี้ ยังติดใจกรณีทราบว่า ดีเอสไอ รับคดีฟอกเงิน ฮั้วสว. เป็นคดีพิเศษ ในประเด็นความผิดมูลฐานการฟอกเงินซึ่งเป็นความผิดชั้น 2 และต้องมีความผิดมูลฐานก่อน สมมุติว่าหากสอบเส้นทางการเงินไปแล้วไปแตะนาย ก. ข. ค. ซึ่งอาจเป็นความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร หรือความมั่นคงเกี่ยวกับรัฐ คำถามคือใครจะเป็นเจ้าภาพทำคดีดังกล่าว หรือให้รอ กกต. แต่ด้วยข้อห่วงใย ผมจะเดินทางมาดีเอสไออีกครั้ง เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวนคนที่อยู่ในโพยฮั้ว 140 รายชื่อให้แยกเลขคดีพิเศษเป็นคดีใหม่ ฐานอั้งยี่ซ่องโจร” ทนายอั๋น ระบุ

ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า ภายหลังจากที่ บอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติรับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ 24/2568 รวมถึงได้มีการตั้งคณะพนักงานสอบสวนเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งทางอัยการสูงสุดยังได้มีการมอบหมายพนักงานอัยการ 8 ราย จากสำนักงานการสอบสวน มาร่วมเป็นพนักงานสอบสวนกับดีเอสไอ ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งในวันนี้ (21 มี.ค.) เวลา 13.30 น. จะได้มีการประชุมร่วมกันครั้งแรกครบองค์คณะ ระหว่างดีเอสไอและอัยการ ทั้งนี้ รายละเอียดประเด็นต่างๆ อาจยังไม่สามารถนำเปิดเผยได้ในตอนนี้ เพราะยังคงอยู่ระหว่างการสอบสวน

สำหรับ วาระการประชุมถือเป็นวาระสำคัญคือการประชุมเปิดคดี เพื่อจะได้กำหนดประเด็นทางคดี เพราะอัยการที่มาร่วมสอบสวนอาจยังไม่รู้พฤติการณ์ที่มีการกล่าวหา ดีเอสไอจึงต้องนำเสนอให้อัยการได้รับทราบด้วย และจะได้ร่วมกันกำหนดประเด็นที่จะสอบสวนร่วมกันต่อไป อย่างไรก็ตาม หลักการในการสอบสวน คือ หากมีหลักฐานอะไรที่เป็นประโยชน์ที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ พนักงานสอบสวนก็มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเพื่อจะพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ที่ถูกกล่าวหา

ทั้งนี้ หากในการประชุมสามารถลงรายละเอียดได้ถึงขั้นตอนการแบ่งหน้าที่การสอบสวนระหว่างดีเอสไอและอัยการ เราก็จะได้หารือเรื่องนี้ร่วมกัน เพราะตนเพิ่งได้รับหนังสือแจ้งกลับจากอัยการเมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) จึงประสงค์ที่จะนัดประชุมให้เร็วที่สุด จะได้ตระเตรียมประเด็นด้วยกัน

ส่วนกรณีพยานเอกสารหลักฐานซึ่ง นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ ได้นำมามอบให้นั้น จะถูกนำเข้าพิจารณาในการประชุมพรุ่งนี้หรือไม่ ต้องถือว่าเป็นการแจ้งข้อมูลมายังดีเอสไอ เราก็ต้องนำเข้าไว้เป็นประเด็นในการสอบสวนด้วย เพราะอย่างที่เรียนว่าเรามีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานข้อเท็จจริงทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ว่าอะไรเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง และเป็นพฤติการณ์ในความผิดฐานใด.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password