นายกฯ เปิดประชุม ครม.สัญจร ยันส่ง ปมเงินดิจิทัลให้ กฤษฎีกาตีความ ในสัปดาห์นี้
นายกรัฐมนตรี ย้ำ! นำครม.สัญจรหนองบัวลำภู ไม่ได้สร้างภาพ แต่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้าน หลังประชากรมีรายได้น้อยนานชั่วอายุคน ยัน ส่ง ปมดิจิทัลวอลเลต ให้กฤษฎีกา ตีความภายในสัปดาห์นี้
วันที่ 4 ธ.ค.2566 ที่โรงแรมณัฐพงษ์ แกรนด์ จ.หนองบัวลำภู นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง เป็นประธานการประชุม คณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2566 พร้อมกล่าวก่อนเริ่มการประชุมว่า เหตุผลที่เลือก จ.หนองบัวลำภู เป็นจังหวัดแรกในการประชุม ครม.สัญจร เนื่องจากต้องการให้ประชาชนในพื้นที่มีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งการแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ดินทำกิน ปัญหาภาคการเกษตร ขอให้มั่นใจว่าพวกเราไม่ได้สร้างภาพอะไร แต่ที่นี่เป็นจังหวัดที่ประชากรมีรายได้น้อยที่สุดในประเทศ พี่น้องประชาชนใน อ.สุวรรณคูหา ไม่ใช่เพิ่งประสบปัญหานี้ แต่ประสบปัญหากันมานานเป็นชั่วอายุคน แต่ไม่มีใครสนใจที่จะยกระดับชีวิตของพวกเขา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอาหารที่ทางจังหวัดหนองบัวลำภูจัดเตรียมให้นายกฯและคณะรัฐมนตรี ในการประชุมครม. ประกอบด้วย น้ำพริกลงเรือ ผัดเห็ดหอมกุ้งสด ลาบปลาคังโนนสัง แกงปลาช่อนนาใส่ดอกแค ขณะที่อาหารคาวและอาหารหวาน ประกอบด้วย ลอดช่องกะทิแตงไทย เมี่ยงคำลำภู สังขยาข้าวเหนียวดำ ส่วนผลไม้ คือ แก้วมังกร ฝรั่งกิมจู และกล้วยหอมทอง
โดยภายหลังการประชุม ครม.สัญจร นายเศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์ ถึงความคืบหน้าโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ได้มีการพูดคุยกันกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง โดยจะมีการส่งหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินในโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ภายในสิ้นสัปดาห์นี้ เมื่อถามย้ำว่า ภายในสัปดาห์นี้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ใช่ครับ ภายในสัปดาห์นี้.
ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะส่งหนังสือเป็นคำถามถึงความข้อกฎหมายเกี่ยวกลับโครงการเงินดิจิทัลวอลเลต ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ส่ง ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านที่จะใช้ในโครงการแต่อย่างใด
เมื่อถามว่าคำถามที่จะส่งไปตั้งประเด็นไปอย่างไรบ้าง นายจุลพันธ์ ตอบว่า ต้องเข้าใจว่าคำถามที่จะถามไปยังคณะกรรมการกฤฎีกา จะต้องถามในรูปแบบของข้อกฎหมาย สิ่งที่เราเขียนต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์วิธีการ และเติมรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น ตัวเลขที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลง ที่เราทำช้าเพราะรอตัวเลขตรงนี้ เพื่อให้ครบองค์ประกอบ จะได้ส่งความเห็นไปได้อย่างครอบถ้วน
ถามอีกว่า หากคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราก็จะกลับมายกร่างซึ่งใช้เวลาไม่นาน เพราะโดยหลักการแล้วการยกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน จะมีไม่กี่มาตรา จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หากเห็นชอบก็จะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทานอีกครั้งซึ่งคงใช้เวลาไม่นานแล้ว และจะนำร่างเข้าสู่สภาฯในสมัยประชุมหน้านี้ พิจารณา และขอยืนยันว่า ประชาชนจะได้ใช้โครงการดังกล่าวในเดือน พ.ค. 67ตามที่วางกรอบเวลาไว้.