‘รัฐไทย’ เดินเกมลึกในรอยร้าว! โชว์แยบยล…ดุล 2 ขั้วมหาอำนาจ ‘เศรษฐกิจ – การเมืองโลก’
กลายเป็น “ปมร้อน” ในทางการเมืองระหว่างประเทศ หลังจาก “รัฐบาลไทย” โชว์ความแยบยลในการเดินเกมเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศได้อย่างชาญฉลาด กับการประกาศสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกใน 2 องค์กรระดับโลก
โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น เห็นชอบ ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงของไทยในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากชาติตะวันตก และเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยการเข้าร่วม OECD จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสได้รับคำแนะนำจากชาติสมาชิกเดิม โดยเฉพาะประเด็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ การพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการที่ทันสมัย การปฏิรูปภาษี และการจัดการการค้า ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพในการแข่งขัน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ไทยเองก็แอบคาดหวังลึกๆ ว่า ภายใน 5 ปี จะได้เข้าร่วมสมาชิก OECD และภาคีสมาชิกของ OECD ก็ได้มีมติยอมรับให้ไทยเข้าสู่กระบวนการหารือเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเป็นสมาชิกในอนาคตแล้วเช่นกัน
OECD นับเป็นกลุ่มที่มุ่งเน้นในเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนามาตรฐานในระดับสากล ที่ผูกโยงกับชาติตะวันตกเป็นสำคัญ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า…อยู่กันตรงกันข้ามกับอีกกลุ่มที่ชื่อ BRICS ซึ่งถือเป็นกลุ่มชาติกำลังพัฒนา ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ (ชื่อย่อของแต่ละประเทศถูกนำไปตั้งเป็นชื่อกลุ่ม คือ BRICS)
และ “รัฐบาลไทย” ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศไทย ดำเนินการร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ BRICS โดย “ครม.เศรษฐา” เห็นชอบกับร่างหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ BRICS เริ่มจาก 5 ประเทศสมาชิก ก่อนจะต่อยอดขยายเป็น 10 ประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 โดย 5 ประเทศที่เพิ่มเข้ามาคือ เอธิโอเปีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ทำให้ 10 ประเทศของ BRICS มีประชากรรวมกันมากถึง 39% ของโลก และมีผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) รวมกันมากถึง 28.4% ของโลก โดยมีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจกว่า 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทั้งหมดของโลก 100 ล้านล้านดอลลาร์
เหตุผลอาจแตกต่างไปจากการขอเข้าร่วมเป็น สมาชิก OECD เพราะสิ่งที่ “รัฐบาลไทย” บอกกับสังคมโลก นั่นคือ “มันเป็นประโยชน์ของไทยในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ที่จะมีบทบาทสำคัญในระบบพหุภาคีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ ในซีกโลกใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของไทย ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง โดย BRICS จะช่วยเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลก และกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศกับบรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการค้า การลงทุน ความมั่นคงทางอาหารและทางพลังงาน”
กระทรวงการต่างประเทศของไทย ยืนยันว่า…การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เป็นเรื่องของเหตุผลทางด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ หาใช่…ภูมิรัฐศาสตร์ อย่างที่นักวิชาการและนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด
ล่าสุด กับการที่ ประธานกลุ่ม BRICS “เซอร์เก ลาฟรอฟ” รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ให้การต้อนรับ “มาริษ เสงี่ยมพงษ์” รัฐมนตรีต่างประเทศ ในฐานะตัวแทน “รัฐบาลไทย” ระหว่างเข้าร่วมการประชุม “สุดยอดกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16” ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22 – 24 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
กระทั่ง ไทยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 13 ประเทศที่นับเป็นหุ้นส่วนหรือเป็นพันธมิตรสำคัญของ BRICS ไปพร้อมกับเพื่อนบ้านอาเซียน อย่าง… เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึง ตุรกี คาซัคสถาน เบลารุส อุซเบกิสถาน แอลจีเรีย ไนจีเรีย ยูกันดา โบลิเวีย และคิวบา
แม้จะยังไม่ใช่สมาชิกอย่างเป็นทางการ แต่สิ่งนี้…ทำให้คนจากซีกโลกตะวันตก มีคำถามมากมายถึงเหตุผลในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS
เมื่อครั้งที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย เข้าร่วม การประชุม “ผู้นำอาเซียน” ณ กรุงเวียงจันทร์ สปป.ลาว ราวต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งระหว่างการหารือใน ระดับทวิภาคี กับ ตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งนั้น น.ส.แพทองธาร บอกถึงเหตุผลในการสมัครเข้ากระบวนการเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของไทย กับ นายแอนโทนี เจ.บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ว่า…
…ไทยไม่ได้มีเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่เป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะไทยต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยไม่ถึง 2% และการสมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยให้ไทยมีโอกาสจะขยายตลาดนับสนุนเป้าหมายเศรษฐกิจขยายตัวได้
ดูเหมือนว่า…ตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ จะเข้าใจถึงเหตุผลดังกล่าว
ไม่ว่าทางการไทยจะให้เหตุผลต่อการแสดงความจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิกของทั้ง OECD และ BRICS เอาไว้อย่างไร? บรรดา ชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศอียู จะตั้งคำถามถึงเหตุผลแท้จริงที่ “รัฐบาลไทย” สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS คืออะไร?
คำตอบง่ายๆ คือ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์ของทั้ง 2 กลุ่มให้ได้อย่างพอดีและลงตัว
สิ่งนี้…ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่มันเกิดขึ้นกับประเทศไทยมายาวนานนับร้อยๆ ปี
ประเทศไทย…ถึงได้ดำรงไว้ซึ่งความเป็น “รัฐเอกราช” ในยุคที่ ชาติมหาอำนาจตะวันตก เปิดปฏิบัติการ “ล่าอาณานิคม” หลายชาติในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติไหน?
ครั้งนี้ก็เช่นกัน “รัฐบาลไทย” จำเป็นต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งมากมาย ทั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และสงครามด้านเศรษฐกิจ!!!.