ดีเดย์ ! 21 พ.ย.66 รถไฟฟ้า “สายสีชมพู” พร้อมเปิดทดลองให้ปชช.ฟรี! ปล่อยทุก 10 นาที
รถไฟฟ้าสายสีชมพู จัดรถ 20 ขบวน พร้อมให้ประชาชนใช้บริการฟรี 30 สถานี “แคราย-มีนบุรี” สัปดาห์แรกเปิดบริการ 6 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม ก่อนขยับเป็นปิด 4 ทุ่ม และเที่ยงคืน คาดผู้โดยสารทะลุ 1 แสนคน/วัน ขณะที่ NBM เร่งงานต่อขยาย สายสีชมพูเข้าเมืองทองฉิว คืบแล้ว 35% เปิดบริการปลายปีหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 21 พ.ย.66 ตั้งแต่เวลาประมาณ 13.30 น. หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. แล้วเสร็จ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และ บริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการฯ จะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการตลอดสาย 30 สถานี ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี(PK01)-สถานีมีนบุรี (PK30) โดยไม่เก็บค่าโดยสาร(ฟรี) เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ แบบเก็บค่าโดยสาร เริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท ตั้งแต่วันที่18 ธ.ค.66 ทั้งนี้หากนั่งตลอดสายจะใช้เวลาประมาณ 50 นาที
เบื้องต้นในสัปดาห์แรกของการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี รถไฟฟ้าสายสีชมพูจะเปิดให้บริการในช่วงเวลาประมาณ 06.00-20.00 น. ซึ่งในวันที่ 21 พ.ย.66 จะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา13.30 น. ส่วนสัปดาห์ที่ 2 จะขยายเวลาการปิดให้บริการ โดยจะเปิดให้บริการในช่วงเวลาประมาณ 06.00-22.00 น. และสัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป จะเปิดให้บริการในช่วงเวลาปกติประมาณ 06.00-24.00 น. อย่างไรก็ตาม NBM ได้เตรียมขบวนรถรองรับไว้ประมาณ 20 ขบวน ซึ่งจะนำมาใช้เดินรถวิ่งไป-กลับสลับกัน โดยสัปดาห์แรกจะปล่อยขบวนรถทุก 10 นาที และในสัปดาห์ถัดไปในช่วงเวลาเร่งด่วน(Peak) จะปล่อยขบวนรถทุก 5 นาที
สำหรับการเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรีนั้น จะเปิดเสมือนให้บริการตามปกติโดยแต่ละสถานีจะพยายามเปิดให้บริการได้ทุกทางเข้า-ออก ซึ่งขณะนี้ NBM กำลังเร่งรัดงานก่อสร้างทางขึ้น-ลง 3 สถานี ได้แก่ สถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11), สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) และ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ(PK13) รวมถึงทางเชื่อมเข้าศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้แล้วเสร็จทันในวันที่ 21 พ.ย.66 ยอมรับว่างานอาจจะยังไม่เรียบร้อยทั้งหมด แต่รับรองว่าปลอดภัย อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าการเปิดให้ใช้บริการฟรี จะได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน เหมือนกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยคาดว่าจะมาใช้บริการมากกว่า 1 แสนคนต่อวัน
โดยเมื่อเปิดให้บริการแบบเก็บค่าโดยสารแล้ว คาดว่าผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 หมื่นคนต่อวัน อย่างไรก็ตามประชาชนที่จะมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สามารถติดต่อขอรับบัตรโดยสารได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร หรือกดรับบัตรผ่านตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ เพื่อเข้าใช้บริการได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้บัตรRabbit และบัตร EMV แตะเข้าออกในการเดินทางได้ด้วยโดยไม่หักเงิน โดยรถไฟฟ้าสายสีชมพู สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี มีทางเดินลอยฟ้า (Skywalk) ความยาว 345 เมตร เป็นแห่งแรกในไทยที่มีทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) มีบริการ 6 ตัว, รถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีหลักสี่, รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และในอนาคตเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ที่ สถานีมีนบุรี
นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ที่สถานีเมืองทองธานี โดยขณะนี้ในส่วนของเส้นทางต่อขยาย สายสีชมพู ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ภาพรวมมีความคืบหน้า 35.56% โดยงานโยธา คืบหน้า 41.76% และงานระบบรถไฟฟ้า คืบหน้า 23.34% ซึ่งกำลังเร่งรัดงานก่อสร้างอยู่ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 67 เร็วกว่าแผนงานที่วางไว้ว่าจะเปิดให้บริการกลางปี68
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายที่ 2 ในประเทศไทยขบวนรถเป็นแบบคร่อมราง (Straddle) ไร้คนขับ ใช้ล้อยางวิ่งบนคานคอนกรีต มีความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร(กม.)/ชั่วโมง(ชม.) มีรูปแบบขบวนรถไฟฟ้า เป็นชุดรถไฟฟ้าแบบ 4 ตู้โดยสาร รองรับผู้โดยสารได้ 568 คน/ขบวน หรือ17,000 คน ต่อชม.ต่อเที่ยว โดยสามารถเพิ่มตู้ได้เป็น 6 ตู้โดยสาร รองรับผู้โดยสารเป็น 25,000 คนต่อชม.ต่อเที่ยวและสามารถเพิ่มตู้เป็น 7 ตู้โดยสาร รองรับผู้โดยสารได้ 28,000 คนต่อชม.ต่อเที่ยว ทั้งนี้ในช่วงเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี ทาง รฟม. ได้เปิดอาคารจอดรถสถานีมีนบุรีให้ใช้บริการฟรีด้วย โดยในระยะแรกสามารถใช้บริการได้ที่ชั้น 1 ก่อน รองรับได้ประมาณ 1 พันคัน.