“ศิริกัญญา” ชี้ แจกเงิน “ดิจิทัล” ส่อถึงทางตัน เตือนรัฐบาล ให้ทบทวน นโยบาย

พรรคฝ่ายค้าน ระบุ การปรับเงื่อนไข โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต แสดงว่า รัฐบาลมีปัญหาเรื่องงบประมาณ กำลังถึงทางตัน เตือนให้ทบทวน หลังธนาคารออมสิน ไม่ปล่อยเงินเด็กมาให้ดำเนินการ

วันที่ 26 ต.ค.2566 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (กก.) กล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่มีการปรับลดเงื่อนไขว่า การปรับหลักเกณฑ์โดยคัดกรองคนรวยออก ก็ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลน่าจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ที่จะนำมาใช้กับนโยบายนี้ จึงต้องทำจำนวนคนที่ได้รับผลประโยชน์ให้ลดลง ซึ่งถึงแม้ว่าจะลดลงแล้ว ก็ยังมีคนที่จะได้รับอยู่ที่ประมาณ 43-49 ล้านคนอยู่ดี ดังนั้นโอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก็มีค่อนข้างน้อย และมีข้อเสนอออกมาอีกว่าจะใช้งบผูกพันปีละ 1 แสนล้านบาทภายใน 4 ปี ตนคิดว่าก็ยิ่งชัดเจนว่างบประมาณปี 2567 มีที่ว่างให้ทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเพียงแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น

“กรณีจำเป็นที่ต้องผูกพันไปถึง 4 ปี ก็เท่ากับว่าจะมีร้านค้าบางส่วนที่ไม่ได้เงินสดไปทันที และต้องรอแลกเป็นหลายรอบปีงบประมาณ ก็จะกระทบกับร้านค้า อาจจะไม่มีแรงจูงใจมากพอ ถ้าหากต้องการเงินสดมาหมุนเวียนในร้านค้าของตนเอง ก็อาจจะไม่เข้าร่วมโครงการด้วยซ้ำไป” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว และ ย้ำว่า

สิ่งที่ตนพูด แสดงว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาถึงทางตันแล้ว เนื่องจากไม่สามารถให้ธนาคารของรัฐ ธนาคารออมสิน ดำเนินโครงการนี้ไปก่อนได้ จึงติดข้อจำกัดหลัก ที่เป็นตอใหญ่คือเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งคิดว่าการปรับเงื่อนไขครั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่ายังคงสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิม ผลที่คาดว่าจะได้รับดั้งเดิมหรือไม่ ถ้าเงื่อนไขเปลี่ยนไปหมดแล้ว อาจจำเป็นที่ต้องทบทวนวิธีการใหม่ทั้งหมด ทบทวนนโยบายใหม่ทั้งหมด

เมื่อถามว่า การปรับเงื่อนไขทำให้จำนวนผู้ได้รับลดลงมากน้อยอย่างไร และสะท้อนอะไรบ้าง น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่าลดไปได้นิดเดียวเอง สำหรับคนที่มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท รวมถึงเงื่อนไขบัญชีเงินฝาก ลดไปได้ 13 ล้านคน “ถ้าเกิดเงินเดือนเกิน 50,000 บาท ยิ่งลดไปได้น้อยใหญ่เลย ลดไปได้แค่ 7 ล้านคน ดังนั้น เกณฑ์นี้อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนักในแง่ของการที่จะประหยัดงบประมาณลง ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงว่าจะทำอย่างไรกันต่อ

สุดท้าย รัฐบาลกลับไปทางเลือกที่ 3 ที่ให้เฉพาะคนที่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตนมองว่าอาจจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป อาจจะเป็นโครงการประคับประคองเยียวยา ค่าของชีพคนที่มีรายได้น้อย หรือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน จะกลายเป็นการเปลี่ยนรูปแบบวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นชัดเจน ซึ่งตนเข้าใจดีว่าสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนก็สำคัญ

“ดิฉันเข้าใจว่าเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ แต่ก็สามารถที่จะบอกกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าติดปัญหาในเรื่องอะไร ดิฉันคิดว่าประชาชนน่าจะเข้าใจได้ว่ารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่มีอุปสรรคชิ้นใหญ่คืองบประมาณ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

เมื่อถามว่า สุดท้ายจะเหมือนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ต้องรอดูว่าจะเป็นรูปแบบนั้นหรือไม่ ตอนนี้งบประมาณที่ไปทบทวนในแต่ละหน่วยงานของรัฐทำการเสร็จแล้ว และเริ่มทยอยส่งกลับมาที่สำนักงบประมาณดังนั้น สำนักงบประมาณน่าจะมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วว่าจะสามารถที่จะตัดลดงบหรือไกล่เกลี่ยงบประมานปี 2567 ได้เท่าไหร่

“ดังนั้น ถ้าไม่ทำงบประมาณผูกพันข้ามปีทางออกทางเดียวก็คือให้เฉพาะคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มันก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไปเป็นเพียงแค่เยียวยาค่าของชีพเท่านั้น” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

โดยฝ่ายค้านจะยังรอให้มติผลการประชุมกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ออกมาก่อน เรายังใจดีให้รัฐบาลกลับไปคิดทวนลงรายละเอียดทุกอย่าง และให้คณะกรรมการชุดใหญ่มีข้อเสนอกับคณะรัฐมนตรี เราจะได้ทำการตรวจสอบกันต่อไป หลายกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ก็รอที่จะพูดคุยอยู่ ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงปิดสมัยประชุม แต่หากเปิดสมัยประชุมเรา ก็จะมีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างแน่นอน พร้อมย้ำสื่อมวลชนให้สอบถามร้านค้าว่า หากมีการทยอยจ่ายเงินสดไม่ได้ทันที ร้านค้าเข้าร่วมโครงการอยู่หรือไม่

ซึ่งตอนนี้แหล่งเงินจากธนาคารออมสินไม่สามารถใช้ได้แล้ว เพราะเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ถ้าจะใช้ธนาคารออมสิน ต้องแก้ไขกฏหมาย ส่วนการออก พ.ร.ก.กู้เงินเหมือนช่วงโควิดนั้น เป็นทางออกที่ง่ายที่สุด แต่ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า พ.ร.ก. จะออกได้เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น ซึ่งต้องกลับไปถามสำนักบริหารหนี้สารธารณะว่าจะยอมหรือไม่ ในกรณีที่ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนและเสี่ยงต่อการขัดต่อรัฐธรรมนูญ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password