ทาง (สายกลาง) ของ พล.ต. วันชนะ สวัสดี (ผู้พันเบิร์ด)

การดำเนินชีวิตของมนุษย์แต่ละคน มีความคิด มีการกระทำ มีคำพูดที่แตกต่างกันออกไป เราจึงต้องใช้หลักในการพิจารณาแนวทางในการดำเนินชีวิตไปสู่ครรลองที่ถูกต้อง พล.ต.วันชนะ สวัสดี (ผู้พันเบิร์ด) ผู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิต และมีแนวทางในการดำเนินชีวิตด้วยทางสายกลาง ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ธรรมะที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ ในหัวข้อ “ธรรมะทำไม ทำไมธรรมะ” บนเวที เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ โดยพุทธปัญญาชมรม บมจ.ซีพี ออลล์

พล.ต.วันชนะ สวัสดี เกริ่นว่า ผมใช้ทางสายกลางเป็นวิถีการดำเนินชีวิตมาโดยเสมอ เมื่อทางสายกลางเกิดขึ้นแล้ว มันจะทำให้เรามีความหนักแน่นทางอารมณ์ หมายถึงเราไม่ได้พริ้วไหวไปตามกระแสของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูลข่าวสาร ในท้ายที่สุดเราสามารถใช้เรื่องนี้มาทำให้เรามีความหนักแน่นทางอารมณ์ได้อย่างจริงจัง เมื่อเกิดความหนักแน่นทางอารมณ์แล้วนั้น ก็จะตามไปถึงจิตอาสาครับ”

ผู้พันเบิร์ด เล่าถึงชีวิตที่ผ่านมาว่า “ในชีวิตผม ผมเป็นลูกทหาร คุณพ่อผมเป็นทหารผ่านศึกไปรบที่เวียดนามและกลับมารับราชการ คุณพ่อเป็นบุคลากรรุ่นแรกของกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี เริ่มก่อตั้งค่ายสุรสีห์ในขณะนั้น คุณพ่อเป็นคนที่ดุมาก ก็ได้เรียนรู้จากพ่อว่า การดุมากไปแม่ก็ลำบาก ดุจนขนาดในบ้านต้องมานั่งผลัดกันปรับทุกข์ระหว่างแม่กับลูก ตอนกลางคืนถ้ามีมดอยู่ในบ้านแล้วคุณพ่อเห็นคุณพ่อจะเดินไปตามดูมดว่ามาจากไหน ถ้ามดเป็นขนมที่เรากิน คุณพ่อจะตีไม่ยั้งเลย ดังนั้น ที่บ้านตอนกลางคืนเราจะไม่ทิ้งเศษอาหารไว้ในถังขยะ แต่ถ้ามีเศษอาหารจะใส่ถุงพลาสติกและมัดยาง และเอาไปแช่ตู้เย็น นั่นหมายความว่าห้ามเห็นและห้ามได้กลิ่น และตอนเช้าถึงจะหยิบขยะเหล่านั้นเอาไปทิ้งข้างนอกบ้าน คุณพ่อเป็นคนที่ตรงแต่ก็ตรงเกินไป จนทำให้วันนี้ตัวเราเองก็กลายเป็นคนยืดหยุ่น และยอมรับบางอย่างได้แต่ก็มีขีดจำกัดว่าแบบนี้ก็จะเกินไป ทำให้เรามีคติประจำใจคือ ความรู้นั้นสำคัญ แต่อุปนิสัยที่ดีนั้นสำคัญกว่า

น้องชายผม อายุห่างกัน 3 ปี สมัยเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนวิสุทธรังษี จ.กาญจนบุรี เกรดเฉลี่ย 0  ทุกตัว จนครูที่โรงเรียนถามว่าเป็นน้องชายของเราจริงรึเปล่า เพราะต่างกันจนไม่ถึงกับเรียนเก่งมาก แต่คุณพ่อเป็นทัศนคติเชิงบวกในการดำเนินชีวิต

ทางสายกลางนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้เรามีความหนักแน่นมั่นคงในการคิด ในการปฏิบัติ จะทำให้เราไม่ทำร้ายตัวเราเอง ในขณะเดียวกัน ก็จะไม่ทำร้ายคนอื่น และจะส่งผลอีกเรื่องก็คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีความสุขหรือความทุกข์ในชีวิต ถ้าเราไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาในความทุกข์ในชีวิตเราได้ สิ่งสำคัญคือ เราจะกลับไปที่บ้าน ไปหาคนที่เรารักและเขาก็รักเราที่บ้าน และเราจะช่วยกันแก้ไขปัญหา ผมคิดว่าหลักธรรมข้อนี้จะทำให้ลดปัญหาในสังคมได้มาก เช่น การฆ่าตัวตาย การทำร้ายตัวเอง หรือการไปทำร้ายผู้อื่น นอกเหนือจากนั้นในเรื่องของข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันก็จะมีเรื่องมากมายที่ทำให้เราคิดถูกคิดผิด หรือไปบูลลี่คนอื่น แต่การดำเนินทางสายกลางนี้จะทำให้เรารู้สึกได้ว่า ข่าวสารใดที่เราเสพอยู่นั้น ถูกต้องหรือไม่ หรือผิดอย่างไร แต่หลักที่สำคัญก็คือเราจะไม่ทำร้ายกัน

ตอนมีความสุขในชีวิตมากๆ หรือมีความทุกข์ในชีวิตมากๆ เราจะมีความสุขหรือความทุกข์เหล่านั้นได้ไม่นาน เราจะกลับมาสู่ทางสายกลาง นั่นก็คือดำเนินชีวิตแบบปกติ ไม่ดีใจจนเกินไป หรือไม่เสียใจจนเกินไป หรือความดีใจ ความเสียใจนั้น มันก็จะอยู่กับเราไม่นาน เราจะกลับมาสู่การดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง และสิ่งที่สำคัญก็คือ ธรรมมะก็คือความเป็นธรรมดา คือความเป็นธรรมชาติ

ผู้พันเบิร์ด ได้สรุปให้ฟังว่า เมื่อเราได้เรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับความเป็นไปในความเป็นจริงทางธรรมชาติ เราจะอยู่ในรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบทางสายกลางจริงๆ รวมถึงเมื่อเราดำเนินชีวิตในการบริหารจัดการแบบทางสายกลางสำหรับตัวเองได้แล้วเราจะโอกาสในการที่จะออกไปช่วยเหลือคนอื่น ในลักษณะของจิตอาสาด้วย เมื่อเราบริหารจัดการชีวิตเราได้ลงตัว เช่น การไปส่งลูกตอนเช้า การไปรับลูกตอนเย็น ถ้าเกิดเราบริหารจัดการได้ในครอบครัว เช่น ผลัดกันไปรับระหว่างคุณพ่อคุณแม่ เราก็จะสามารถบริหารจัดการชีวิตได้ เราจึงสามารถที่จะออกไปช่วยเหลือคนอื่นได้ เมื่อเราไปช่วยเหลือคนอื่นแล้วเค้าจะรู้สึกดีใจที่จะได้รับการช่วยเหลือ เค้าก็จะมีกำลังใจในการที่จะช่วยเหลือคนอื่นต่อไป ดังนั้นจิตอาสาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินทางสายกลางจะเป็นการให้และจะเกิดการให้แบบส่งต่อไปเรื่อยๆ ลักษณะแบบนี้จะทำให้สังคมมีความสุขอยู่ร่วมกันได้อย่างสมัครสมานสามัคคี

พบกับ กิจกรรมเรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ ได้ทุกวันศุกร์ เวลา 12:00-13:30 น. ผ่านช่องทาง facebook fanpage CPALL หรือสามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ช่องทางเดียวกัน พร้อมรับฟังคติธรรมดี ๆ ในช่องทาง TikTok ได้ที่ ธรรมะ TikTok.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password