สภาทนายฯผุด ‘ศูนย์ช่วยเหลือ ปชช.’ ด้าน กม. สู้ พ.ร.บ.อุ้มหาย – ลั่น 7 ภารกิจเพื่อมนุษยธรรม-ศักดิ์ศรีมนุษย์

สภาทนายความจัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือ ปชช.ทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ทั่วไทย หวังเพิ่มความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนตามพ.ร.บ.อุ้มหาย เผย! มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ 7 ประการ ดำรงไว้ซึ่งหลักมนุษยธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 7 มี.ค.2566 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.พหลโยธิน, ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ พร้อมด้วย นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองเลขาธิการ นายสมพร คําพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ สภาทนายความ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ และ นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 3 ร่วมแถลงข่าวการจัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือปชช.ทางกฎหมายในการป้องกันและ ปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ทั่วประเทศ

นายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า การออก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการ ทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 (แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2564) จากการทรมานและการกระทำให้สูญหายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นการ เพิ่มประสิทธิในการบังคับใช้กฎหมาย สภาทนายความฯ จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือ ประชาชนทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สภาทนายความใน พระบรมราชูปถัมภ์ (ในส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค ประจำสภาทนายความจังหวัดต่างๆ ในภาค 1 – 9)”

โดยการจัดตั้งศูนย์ฯดังกล่าวจะใช้สภาทนายความทั้ง 9 ภาค ทุกจังหวัด รองรับการรับแจ้งจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบและพร้อมร่วมมือกับฝ่ายภาครัฐ ซึ่งมีความพร้อมจะช่วยเหลือในทันทีเพื่ออำนวยความยุติธรรม ทั้งนี้ สภาทนายพร้อมที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกระบวนการจับกุมของพนักงานสอบสวน เนื่องจากตนมองว่าตั้งแต่พนักงานสอบสวนไปจับกุมผู้ต้องหาสิทธิของผู้ต้องหาควรจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนดังกล่าว หลังจากจับกุมแล้วทนายความควรเข้าไปมีบทบาทเพื่ออำนวยความยุติธรรม ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ตนมองว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเคารพ และให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วแม้จะมีบางมาตราที่บางหน่วยงานขอชะลอการใช้บังคับก็ตาม แต่คาดว่าจะมีผลในเร็วๆ นี้

ด้าน นายสัญญาภัชระ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการฯ กล่าวเสริมว่า เรื่องนี้เป็นกฎหมายที่สำคัญที่จะมีผลกับ กระบวนการพิจารณาที่จะเปลี่ยนแปลงต่อไปจากนี้ เพื่อเป็นการรักษาซึ่งสิทธิมนุษยชนมากขึ้น สภาทนายความมีสภาทนายความประจำจังหวัดพร้อมจะรับเรื่องร้องเรียนและให้เข้าช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่ปฏิบัติตามกฎหมาย อีกเรื่องที่จะทำควบคู่กันก็คือการให้ความรู้กับประชาชนในระดับจังหวัด เพื่อให้เข้าถึงเจตนารมณ์ และการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติตามกฎหมายที่แท้จริง และในกรณีที่มีเหตุขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ส่วนกลางเราสามารถดำเนินการที่สภาทนายความแห่งนี้ได้เลย ส่วนของภูมิภาคจะมีกรรมการบริหารภาค และประธานสภาทนายความทุกจังหวัด ทุกเขตอำนาจศาลพร้อมที่จะรับผิดชอบช่วยเหลือประชาชนในเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการป้องกันและ ปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1. รับแจ้งขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากประชาชนในเหตุการณ์ทรมาน การกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย

2. ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำใน การกระทำที่ โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย

3. ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการ กระทําให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

4. ทําหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

5. เสนอความเห็นต่อสภาทนายความและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้ บุคคลสูญหาย

6. กำหนดนโยบาย แผนงาน มาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานการกระทำหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหายของสภาทนายความ

7. ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำ ให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อเสนอสภาทนายความและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการ กระทําให้บุคคลสูญหาย

“ที่ผ่านมาสภาทนายความ ได้ให้ความช่วยเหลือและติดตามเรื่องของ ทนายความสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่ถูกอุ้มหาย เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2547 โดย ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง ส่วนเรื่องการสูญหายอยู่ในความรับผิดชอบของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด” อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ ระบุ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password