ประวัติการณ์ใหม่ ‘ธนารักษ์’ เก็บรายได้ปี’67 พุ่ง 125% – เผย! ‘อธิบดีใหม่’ เหนื่อยแน่กับ ‘เป้าปรับ’ ที่ 1.6 หมื่นล.

อธิบดีกรมธนารักษ์คนใหม่ “ดร.เอกนิติ” เหนื่อยแน่! หลัง “รมช.คลัง” ปรับเพิ่มเป้าจัดเก็บรายได้ในงบประมาณหน้า (2568) เป็น 150% ของเป้าจริง เผย! เฉพาะปี 2567 กรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้สูงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 14,378 ล้านบาท เกินเป้ากว่า 2,800 ล้านบาท เหตุมีรายได้พิเศษ โดยเฉพาะค่าเวนคืนจาก รฟม. หลายพันล้าน

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะ กำกับดูแลกรมธนารักษ์ เปิดเผยในวันสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 และวันสุดท้ายในการทำงานของ นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ โดยย้ำว่า แม้จะทำงานร่วมกันในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ทำงานร่วมกันได้อย่างประสิทธิภาพ พิสูจน์ได้จากผลงานการจัดเก็บรายได้ของปีงบประมาณนี้ ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สามารถจัดเก็บรายได้มากถึง 14,378 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 125.03 ของประมาณการทั้งปี ทั้งนี้ เกิดจาก การเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการที่ราชพัสดุและการผลิตเหรียญกษาปณ์ทำให้สามารถจัดเก็บรายได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งตนได้มอบแนวนโยบายให้ดำเนิน การบริหารจัดการที่ราชพัสดุ (TRD Next Step) โดยการเพิ่มพื้นที่จัดหาประโยชน์ ร้อยละ 10 และเพิ่มผลตอบแทนจากสินทรัพย์ ROA (Return on Asset) ในสัญญาเช่าเชิงพาณิชย์ในกลุ่มเป้าหมายขึ้นร้อยละ 3 จากปัจจุบันที่มีค่าเฉลี่ยของทั้ง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเพื่อการพาณิชย์ กลุ่มที่อยู่อาศัยของประชาชน และกลุ่มเพื่อการเกษตร มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น โดย กระทรวงการมอบหมายให้กรมธนารักษ์สามารถจัดเก็บรายได้รวม 55,000 ล้านบาท ตามแผนระยะ 5 ปี (ปี 2566 – 2570)

“ในปีงบประมาณหน้า (2567) ผมคาดหวังจะเห็นการจัดเก็บรายได้ของกรมธนารักษ์มีสูงกว่าปีงบประมาณในปีนี้ ประมาณการรายได้ที่ 16,000 ล้านบาท แม้จะเป็นตัวเลขที่สูง แต่หากกรมธนารักษ์สามารถนำที่ราชพัสดุที่มีอยู่แล้ว มาบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเรียกคืนที่ดินในความครอบครองของหน่วยงานราชการ แต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์หรือใช้ผิดประเภท รวมถึงเปิดประมูลที่ราชพัสดุในโครงการพิเศษ (เขตเศรษฐกิจพิเศษ สนามกอล์ฟ ท่าเทียบเรือหรู และอื่นๆ) เชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวก็น่าจะทำได้” รมช.คลัง ระบุ

ด้าน นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมธนารักษ์สามารถจัดเก็บรายได้เพื่อนำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 23 กันยายน 2567) เป็นจำนวน 14,378.712 ล้านบาท หรือมากกว่าเป้าหมาย 2,878.712 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 125.03 ของประมาณการรายได้ทั้งปี ซึ่งรายได้จำนวนดังกล่าว ประกอบด้วย การจัดเก็บรายได้จากภารกิจด้านที่ราชพัสดุ และการจัดเก็บรายได้จากภารกิจด้านเหรียญกษาปณ์ โดยรายได้จากภารกิจด้านที่ราชพัสดุ จำนวน 13,442.615 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 125.63 โดยมาจากรายได้ปกติที่เป็นค่าเช่าที่ราชพัสดุ จำนวน 10,601.717 ล้านบาท และรายได้พิเศษ จำนวน 3,776.995 ล้านบาท อาทิ ค่าเวนคืนที่ดินเพื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม. การต่ออายุสัญญาจากค่าเช่าส่วนเพิ่มและค่าธรรมเนียมต่ออายุสัญญาของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด การเวนคืนที่ดิน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน การประมูลขายทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาล และส่วนแบ่งรายได้จากบริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด

ทั้งนี้ ในส่วนการจัดเก็บรายได้จากภารกิจด้านเหรียญกษาปณ์ สามารถจัดเก็บรายได้ จำนวน 936.097 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 117.01 ของประมาณการทั้งปี โดยมาจากรายได้ปกติ จำนวน 743.597 ล้านบาท และรายได้พิเศษ จำนวน 192.500 ล้านบาท ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสอบถาม ผู้บริหารระดับของกรมธนารักษ์เกี่ยวกับตัวเลขประมาณการจัดเก็บรายได้ของกรมฯในปีงบประมาณ 2568 ที่ นายเผ่าภูมิ ตั้งไว้ที่ 16,000 ล้านบาทนั้น สามารถดำเนินการได้จริงแค่ไหน? คำตอบที่ได้รับคือ ประมาณการจัดเก็บรายได้จริงของกรมฯในปีหน้า จะอยู่ที่ 11,600 ล้านบาท ไม่ใช่ตัวเลข 16,000 ล้านบาท แต่อาจเป็นไปได้ว่า รมช.คลัง มีกลยุทธ์ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้กรมธนารักษ์ ภายใต้การนำของ “อธิบดีคนใหม่” (ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ที่จะย้ายมาจากกรมสรรพสามิต ในต้นปีงบประมาณ 2568 ซึ่งขณะนี้ รอเพียงพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 ลงมาเท่านั้น) ได้ดำเนินการเพื่อนำมาซึ่งรายได้จากโครงการพิเศษตามที่ได้แถลงข่าวในช่วงต้น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password