โพลเผย ปชช.เชื่อมั่น “รัฐบาล-กระทรวงแรงงาน” เยียวยา-ช่วยแรงงานไทยในอิสราเอล

ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจพบประชาชนห่วงใยแรงงานไทยในอิสราเอล ส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลเร่งอพยพกลับประเทศโดยเร็วที่สุด และเกินครึ่งเชื่อมั่นรัฐบาลและกระทรวงแรงงานในการเยียวยา-ช่วยเหลือ

วันที่ 22 ต.ค.2566 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ความห่วงใยของคนไทย ต่อ แรงงานไทยในอิสราเอล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ รวมจำนวน 1,145 ตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติ ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 18 – 21 ตุลาคม พ.ศ.2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.1 รู้สึกห่วงใยแรงงานไทยในอิสราเอล ในขณะที่ ร้อยละ 8.9 ไม่รู้สึกอะไร

ที่น่าพิจารณาคือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 51.3 ระบุแรงงานไทยในอิสราเอลเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 24.6 ระบุ ปานกลาง และร้อยละ 24.1 ระบุ ค่อนข้างน้อยถึงไม่เป็นประโยชน์เลย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.9 ต้องการค่อนข้างมากถึงมากที่สุดให้รัฐบาลเร่งอพยพ พาแรงงานไทยในอิสราเอลกลับประเทศเร็วที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 21.3 ระบุ ปานกลาง และร้อยละ 9.8 ระบุ น้อยถึงไม่ต้องการเลย

ที่น่าสนใจคือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.8 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุดต่อรัฐบาลและกระทรวงแรงงานในการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานไทยในอิสราเอล ร้อยละ 22.9 ระบุปานกลาง และร้อยละ 24.3 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ห่วงใยแรงงานคนไทยในอิสราเอลและได้เห็นประโยชน์ของแรงงานไทยในต่างแดนที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยต้องการเร่งด่วนให้รัฐบาลอพยพแรงงานไทยในอิสราเอลกลับประเทศโดยเร็ว อย่างไรก็ตามยังคงเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและกระทรวงแรงงานในการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานไทยที่ไปทำงานในอิสราเอลผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม

“จากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า แรงงานไทยที่กลับมาจากอิสราเอลเป็นแรงงานไทยที่น่าจะได้รับการดูแลต่ออย่างใกล้ชิดเพราะมีคุณสมบัติทักษะความรู้และประสบการณ์ที่ดีผ่านการคัดสรรมาระดับหนึ่งทั้งในและต่างประเทศ แรงงานคุณภาพแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) นี้ทั้งในภาคการเกษตรและภาคก่อสร้างในประเทศศักยภาพสูงระดับโลกแห่งตะวันออกกลางจึงควรที่จะมีกระบวนการรองรับการจัดหางานเป็นกรณีพิเศษต่อยอดจากสิทธิประโยชน์ที่พวกเขาได้รับจากกฎหมายแรงงานแห่งอิสราเอล รัฐบาลและกระทรวงแรงงานไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ต้อนรับการกลับมาของแรงงานคุณภาพสูงให้เกิดความเจริญต่อยอดด้านแรงงานตามหลักแรงงานที่ดีและมีคุณค่า (Decent Work) ทั้งในอุตสาหกรรมการเกษตรและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย” ผศ.ดร. นพดล กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password