รัฐบาลส่อทบทวนแผนแจกเงินหมื่น เหตุปัจจัยเสี่ยงใหม่ส่งผลกระทบแรง ชี้! ต้องใช้งบให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“รองฯพิชัย” พูดชัด! รัฐพร้อมทบทวนแผน“แจกเงินหมื่น” เฟสที่เหลือ สอดรับ “รมช.คลัง” ให้รอดูความชัดเจนของคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ ที่มี “นายกฯแพทองธาร” เป็นประธานฯเร็วๆ นี้ ระบุ! ที่ประชุมต้องถกรอบด้านในทุกมิติ เหตุทุกประเทศเสี่ยงรับผลกระทบจากนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือโครงการแจกเงิน 10,000 บาท หลังจากก่อนหน้านี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลจะยังดำเนินโครงการดังกล่าวตามกำหนดการเดิม โดยย้ำว่า สถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลทั่วโลกต่างประสบปัญหาจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ จากนโยบายขึ้นกำแพงภาษีของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัปม์ เหมือนว่า แม้ว่าแนวโน้มของปัญหาจะดีขึ้น หลังจากรัฐบาลสหรัฐและจีนได้ข้อยุติระหว่างกันอย่างน้อย 9 เดือน เนื่องจากยังมีเรื่อแนวโน้มความไม่แน่นอนที่สูงอยู่และอาจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ยอมรับว่าในเรื่องของเศรษฐกิจไทย ยังมีปัจจัยที่มีความท้าทาย และรัฐบาลยังคงต้องระมัดระวังนอกเหนือจากปัจจัยภายนอกเหล่านี้ ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ ฉะนั้นเรื่องของการบริหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบาย หรือเรื่องของงบประมาณ ก็ต้องมีการหารือในรายละเอียดเพื่อให้เงินทุกบาท ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในภาพรวมทุกอย่างของประเทศ
“การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจากนี้ไป จำเป็นจะต้องผ่านการหารือร่วมกันของคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยในเร็วๆ นี้ จะมีการประชุมหารือของคณะกรรมการชุดนี้ โดยหากมีข้อสรุปที่ชัดเจน รัฐบาลจะรีบแจ้งให้ประชาชนได้ทราบอย่างแน่นอน” นายเผ่าภูมิ ย้ำ
ผู้สื่อข่าวถามอว่า รัฐบาลยังดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป และเป็นไปตามกำหนดการเดิมใช่หรือไม่ รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลจะใช้เงินทุกบาทอย่างคุ้มค่า และเหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด ซึ่งตอนนี้ พยายามเร่งเจรจาอยู่ เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องรีบหารือ
สำหรับการแจกเงิน 10,000 ดังกล่าว จะแจกในรูปแบบ G-Wallet หรือไม่ นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ให้รอข้อสรุปภายหลังการประชุมของคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจะดีกว่า เพราะเราจะต้องดูภาพรวมในช่วงเวลาของสถานการณ์เศรษฐกิจ และงบประมาณของโครงการด้วย
“รัฐบาลจะใช้เงินทุกบาทอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะหารือในทุกมิติ ทั้งด้านนโยบาย มาตรการ และด้านงบประมาณ โดยการประชุมของคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ขอให้ประชาชนติดตามข้อสรุปอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะไม่เจาะว่าเป็นรายโครงการ แต่จะมองเป็นภาพรวม โดยการพิจารณาเศรษฐกิจนั้น จะต้องมองในภาพใหญ่ (Macro) ว่า ใช้งบประมาณอย่างไร โครงการเป็นอย่างไร สถานการณ์ที่เข้ามาในแต่ล่ะช่วงเป็นแบบไหน ซึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงที่สูง รัฐบาลจึงต้องทำให้ครอบคลุมในทุกมิติ ถึงแม้ว่าสหรัฐจะมีการผ่อนปรนระยะเวลาการขึ้นภาษีไปอีก 90 วัน นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐบาลก็จะต้องไม่ประมาท” รมช.คลัง ย้ำ
ส่วนกรณี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำไม่ใช่การออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค และไม่ควรแจกเงินในสถานการณ์นี้ นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในหลายมิติ โดยไม่ได้มองเรื่องการลงทุนสำคัญที่สุด จะต้องมีการบริหารสถานการณ์ ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้การบริหารจัดการของรัฐมีความกลมกล่อม โดยจะดูทั้งการบริโภค การลงทุน การส่งออก การบริหารความเสี่ยง การกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ ข้อสรุปทั้งหมดจะมีความชัดเจนจากการประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ด้าน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวตอนหนึ่งระหว่างแถลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าการเจรจานโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ณ โถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยให้สัมภาษณ์ถึงการนัดหมาย การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า รัฐบาลมีแผนจะปรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องรวบรวมข้อมูลหลายด้านเพิ่มเติม เนื่องจากขณะนี้มีปัจจัยใหม่หลายด้านเข้ามากระทบเพิ่มเติม จึงต้องทบทวนใหม่ทั้งหมด หลังจากมีเหตุการณ์สหรัฐเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย นับว่าทุกประเทศทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด
โดยในระหว่างจัดเก็บข้อมูลจากหลายหน่วยงานจึงต้องพิจารณาว่ามาตรการใดควรทำก่อน หรือไม่ควรทํา ทำให้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 อาจต้องปรับเปลี่ยน เพื่อขอทบทวนก่อน ขณะนี้รัฐบาลกําลังทำการบ้าน ในวันพรุ่งนี้ (15 พ.ค.) ตนเตรียมหารือกับผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อมอบนโยบายให้เตรียมการช่วยเหลือกลุ่มผู้ส่งออก เน้นดูแลเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐ.