‘คนกรุงฯ-เจ้าของตึกสูง’ โนสน ‘โพสต์ของนายกฯ’ – สั่งอพยพ หลังอาฟเตอร์ช็อกที่เมียนมา ทำตึกในไทยสั่นไหว!

ตึกสูงใน กทม. สะเทือนรับ “อาฟเตอร์ช็อก” จากเมียนมารอบใหม่ ด้านเจ้าของอาคารรับแรงสั่นไหวนับสิบแห่งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล สั่งอพยพผู้คนออกจากตัวอาคารแล้ว หวั่นซ้ำรอยตึก สตง.ถล่ม! ด้าน “นายกฯแพทองธาร” โพสต์แจง 2 ครั้งติดในรอบ 20 นาที
ย้ำ! ไม่มีแผ่นดินไหวในไทย รอยร้าวตัวตึกต่างๆ เป็นรอยเก่าของ 28 มี.ค. ส่วนคำสั่งอพยพเป็นดุลพินิจของเจ้าของตึก จี้! เร่งสอบอาคารอย่างละเอียด ส่วนความรู้สึกคนไทยยามนี้ ขวัญกระเจิงไปแล้ว!
คนกรุงฯตื่นตระหนกระรอกล่าสุด! หลังจากมีรายงานจากผู้ที่ทำงาน ทำกิจกรรม และ/หรือ อาศัยอยู่ในอาคารสูงหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ที่สัมผัสและรับรู้ได้ถึงอาการสั่นไหวของตัวอาคาร กระทั่ง บางแห่งได้มีคำสั่งให้ผู้ที่ทำงาน ผู้ที่มีกิจกรรมต่างๆ รวมถึงผู้ที่พักอาศัยในอาคารเหล่านั้น ต้องเร่งอพยพออกจากอาคารดังกล่าวโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ทาง กรมอุตินิยมวิทยา จะแจ้งเตือนว่า สาเหตุที่อาคารสูงในกรุงเทพฯมีการสั่นไหวเป็นเพราะเกิดเหตุอาฟเตอร์ช็อกในประเทศเมียนมา แต่ระดับแรงสั่นสะเทือนมีไม่มาก ถือเป็นระดับเล็กที่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออาคารสูงในประเทศไทยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม พบว่า ในหลายๆ อาคารมีคำสั่งให้อพยพผู้คนออกนอกอาคารเหล่านั้นจริง ทั้งนี้ จากรายงานพบว่า มีอาคารหลายแห่ง อาทิ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ได้มีการแจ้งให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ประชาชน อพยพคนออกจากตึกโดยด่วน ซึ่งอาคารดังกล่าวเป็นที่ตั้งของสำนักงานหน่วยงานราชการที่สำคัญ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลแขวงดอนเมือง ศาลล้มละลายกลาง กรมคุมประพฤติ และหน่วยงานราชการอื่น ๆ ซึ่งหลายหน่วยงาน ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่บ้าน (เวิร์ค ฟอร์ม โฮม) หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาแล้ว
จนกระทั่งล่าสุด เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (31 มี.ค.) ยังคงมีเจ้าหน้าที่บางส่วนที่กลับเข้ามาทำงาน แต่พบว่า บางจุดของตัวอาคารเกิดเสียงดัง “แกร๊ก” พร้อมกับมีเศษปูนร่วงลงมา ทั้งนี้ มีรายงานว่าอาคารเอ ฝั่งศาลล้มละลายกลางมีความทรุดตัว และเอียง จึงมีประกาศเสียงตามสายให้ทุกคนออกจากตัวอาคารทั้งหมด ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ยังต้องรอการตรวจสอบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการประมวลข้อมูลข่าวสารจากสถานการณ์ข้างต้น พบว่า มีหลายอาคารสำนักงานที่มีความสูงเกิน 10 ชั้นขึ้น สามารถสัมผัสและรับรู้ได้ถึงอาการสั่นไหว แม้จะไม่รุนแรงมากนักก็ตาม ทั้งนี้นอกจาก อาคารในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ แล้ว ยังมีอาคารสูงอื่นๆ อาทิ ศาลอาญารัชดา, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รัชดา, ทรู รัชดา , สำนักงานประกันสังคม ย่านดินแดง กระทรวงแรงงาน (ดินแดง), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ พระราม 9, โรงพยาบาลตำรวจ, กรมสรรพากร, กรมศุลกากร, การท่าเรือแห่งประเทศไทย, ทีทีบี (ttb) สำนักงานใหญ่, ธนาคารกสิกรไทย พหลโยธิน, อาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ย่าน อ.แพรกษา จ.สมุทรปราการ และที่อื่นๆ
ด้านความเห็นของ รัฐบาล ล่าสุด วันนี้ (31 มี.ค.) เวลาประมาณ 11:54 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ “Ing Shinawatra” ระบุว่า…
“กรณีที่มีการแชร์ข่าว อพยพออกจากตึกขณะนี้ ดิฉันได้ตรวจสอบกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สรุปว่า
1. ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานไม่มีแผ่นดินไหวในประเทศไทย และ after shock จากเมียนมา ไม่กระทบต่อประเทศไทยใดๆ ทั้งสิ้นค่ะ
2.รอยร้าวที่เกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้เจ้าของตึกสั่งอพยพ เริ่มมีรายงานว่าเป็นรอยร้าวเดิม จึงขอยืนยันคำสั่งเดิมจากท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เจ้าของตึกเร่งตรวจตึก เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเป็นรอยเก่า รอยเดิม หรือรอยใหม่ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกต้อง
3. ขอให้เจ้าของอาคารเร่งตรวจสอบตึกให้เกิดความแน่ใจก่อนการเปิดให้ใช้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ทำงานหรือผู้พักอาศัย โดยหากไม่แน่ใจ ให้สอบถามไปยังกรมโยธาธิการและ ปภ. เพื่อเข้าร่วมตรวจสอบตึก
4. การอพยพของแต่ละตึกเป็นวิจารณญาณของแต่ละหน่วยงาน แต่ขอให้เป็นคำสั่งที่ชัดเจนและได้ตรวจสอบข้อมูลจากทางราชการแล้ว
ขอยืนยันว่า ขอให้รอข่าวจากทางการจะเป็นข่าวที่ได้รับการรับรองว่าถูกต้อง และไม่เกิดการสร้างความกังวลหรือตื่นตระหนกระหว่างพี่น้องประชาชนค่ะ”
ต่อมาเวลาประมาณ 12:12 น. นายกรัฐมนตรี ยังได้โพสผ่าน “Ing Shinawatra” ตามมาอีก โดยย้ำว่า…
“เพื่อตอบสนองต่อรายงานของผู้ที่อพยพออกจากอาคารในเวลานี้ ฉันได้ตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและยืนยันสิ่งต่อไปนี้:
1. ตามที่ กรมอุตุนิยมวิทยาไทย ยังไม่มีแผ่นดินไหวใน ประเทศไทย อาฟเตอร์ช็อกจากพม่าไม่มีผลกระทบต่อ ประเทศไทย
2. รอยร้าวที่นําเจ้าของอาคารสั่งอพยพตอนนี้กําลังถูกรายงานว่าเป็นรอยร้าวที่มีอยู่ก่อน จึงขอยืนยันคําสั่งเดิมจากผู้ว่าฯ กทม. เจ้าของอาคารต้องตรวจสอบอาคารอย่างเร่งด่วน เพื่อตรวจสอบให้ชัดเจนว่ารอยร้าวเก่า มีอยู่ หรือใหม่ สิ่งนี้จะสนับสนุนการตัดสินใจที่ถูกต้อง
3. ขอให้เจ้าของอาคารตรวจสอบอาคารอย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยก่อนเปิดใช้งานอีกครั้ง หากไม่แน่นอน โปรดปรึกษา กรมสรรพากรและผังเมือง หรือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (DDPM) เพื่อตรวจสอบอย่างเป็นทางการ
4. การตัดสินใจที่จะอพยพออกจากอาคารแต่ละอาคารขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละองค์กร อย่างไรก็ตาม เราขอให้การตัดสินใจดังกล่าวได้รับการสื่อสารอย่างชัดเจนและอิงจากข้อมูลที่ได้รับการยืนยันจากแหล่งที่มาของรัฐบาล”.