คปภ. – ส.ประกันวินาศภัย ร่วมหาแนวทางช่วยเหลือด้านการประกันภัยจากเหตุแผ่นดินไหว

สำนักงาน คปภ. แถลงข่าวร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย กำหนดแนวทางการและมาตรการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนและผู้เอาประกันจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยในงานแถลงข่าวมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านการประกันภัย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า สำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยและสมาคมประกันชีวิตไทยกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้เอาประกันภัยอย่างเร่งด่วนทันทีที่ทราบข่าวสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ได้ประสานงานกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และประสานขอทราบรายชื่อผู้สูญหายหรือติดในซากอาคารพร้อมหลักฐานอื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบและเตรียมการสำหรับการเยียวยาด้านการประกันภัยต่อไป รวมถึงจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย ณ สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก เพื่อเตรียมพร้อมให้บริการข้อมูล และการช่วยเหลือด้านประกันภัยอย่างทันท่วงที

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งได้รับความเสียหาย มีการทำประกันภัย Construction All Risk (CAR) ไว้กับบริษัทประกันภัย 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยมีสัดส่วนการรับประกันภัยอยู่ที่ 40%, 25%, 25% และ 10% ตามลำดับ รวมมูลค่าความคุ้มครอง 2,241,000,000 บาท  พร้อมย้ำว่าความเสียหายนี้จะไม่กระทบต่อความมั่นคงของบริษัทประกันภัยทั้ง 4 บริษัทประกันภัยที่ร่วมรับประกันภัยอย่างแน่นอน เนื่องจากบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงโดยการประกันภัยต่อ (Reinsurance) กับบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศ และจากการตรวจสอบดัชนีวัดความมั่นคงบริษัทประกันภัยตามกฎหมาย พบว่าบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยทั้งระบบยังมีความมั่นคงในระดับดีมาก โดยมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) อยู่ที่ระดับเกือบ 300% ซึ่งสูงกว่า ที่กฎหมายกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 100% ดังนั้น หากบริษัทประกันภัยทั้ง 4 แห่ง มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มวงเงินรับประกันภัย จะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของบริษัทข้างต้น อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ขอความร่วมมือบริษัทประกันภัยให้เร่งติดตามสถานการณ์และดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้บริการสายด่วน คปภ. 1186  ตลอด 24 ชั่วโมง และบริการ Chatbot @oicconnect เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจนกว่าสถานการณ์ จะคลี่คลาย และจัดทำข้อมูล Q&A และ Infographic เกี่ยวกับข้อมูลความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อสร้างมาตรฐานในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน โดยจะเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ต่อไป

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ตั้งศูนย์ประสานงานอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยกรณีแผ่นดินไหว ผนึกภาคธุรกิจประกันวินาศภัย ดูแลผู้เอาประกันภัยอย่างเต็มที่

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่  ทั้งอาคาร บ้านเรือน คอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัยหรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอส่งความห่วงใยให้ผู้เอาประกันภัยรวมถึงประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พร้อมแนะนำ ผู้เอาประกันภัยที่อยู่ในเขตพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่ามีความคุ้มครองภัยจากแผ่นดินไหวหรือไม่ ถ้ามีความคุ้มครองให้รีบแจ้งความเสียหายแก่บริษัทประกันภัยทันที เพื่อประโยชน์ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการดูแลและให้บริการผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้ตั้งศูนย์ประสานงานและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจาก ภัยพิบัติดังกล่าว ซึ่งการดำเนินงานครอบคลุมถึงการอำนวยความสะดวกในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน การตรวจสอบข้อมูล ในกรณีที่กรมธรรม์สูญหาย ตลอดจนการให้คำแนะนำเกี่ยวกับรายละเอียดความคุ้มครองผ่านช่องทางโทรศัพท์ 0 2108 8399 และช่องทางออนไลน์ Facebook สมาคมประกันวินาศภัยไทย ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หมายเลขสายด่วนของ ทุกบริษัทประกันภัยให้ประชาชนรับทราบและสามารถติดต่อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงประสานงานกับบริษัทสมาชิกให้เตรียมความพร้อมในการให้บริการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เร่งดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยโดยเร็วที่สุด

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหว มีดังนี้

1. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี โดยสามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ ซึ่งจำนวนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 2,233,518 ฉบับ ขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีจำนวน 3,145,880 ฉบับ รวมทั้งประเทศมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย จำนวน 5,379,398 ฉบับ สำหรับการประกันภัยอาคารชุด ในส่วนของนิติบุคคลจะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk: IAR) คุ้มครองความเสียหายต่อตัวอาคารส่วนกลาง เช่น โครงสร้างอาคาร ลิฟต์ บันไดส่วนกลาง สระว่ายน้ำ ฟิตเนส และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เป็นของส่วนกลาง ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิด (Sub Limit) ขณะที่ในส่วนเจ้าของห้องชุดเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในห้องชุด เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่อยู่ภายในห้องชุด ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี แต่สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้

2. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับสถานประกอบการ ร้านค้าต่างๆ จะให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว เฉพาะกรมธรรม์ที่ซื้อความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติมเท่านั้น ซึ่งจำนวนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 452,716 ฉบับ ขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีจำนวน 661,806 ฉบับ รวมทั้งประเทศมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จำนวน 1,114,522 ฉบับ

3. กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk: IAR) สำหรับผู้ประกอบกิจการร้านค้าทั่วไป สำนักงาน โรงแรม โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการต่างๆ ให้ความคุ้มครองความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินภายใน สิ่งปลูกสร้าง ที่เอาประกันภัยจากอุบัติเหตุใดๆ ที่ไม่ได้มีการระบุข้อยกเว้นไว้ ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิด (Sub Limit) ซึ่งจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 95,372 ฉบับ ขณะที่จังหวัดอื่นๆ  มีจำนวน 99,017 ฉบับ รวมทั้งประเทศมีกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน จำนวน 194,389ฉบับ

สำหรับการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก คุ้มครองความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจ ความสูญเสียในทางการค้า    (รายได้ของผู้เอาประกันภัย) กำไรสุทธิ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าเช่าโรงงาน เป็นต้น)    อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สิ่งปลูกสร้างใดๆ หรือทรัพย์สินอื่นๆ ที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจได้รับความเสียหาย และได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยหรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินและไม่ได้มีการระบุยกเว้นไว้

4. กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง สำหรับผู้ว่าจ้างหรือผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งให้ความคุ้มครองต่องานก่อสร้าง งานปรับปรุงสถานที่ งานตกแต่ง หรืองานติดตั้งเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ อันไม่อาจคาดหมายได้ หรือด้วยสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุในข้อยกเว้น โดยให้ความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหว ประกอบด้วย งานก่อสร้างและ วิศกรรมโยธาการติดตั้งเครื่องจักร และความรับผิดต่อบุคคลภายนอก

5. กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เท่านั้น สำหรับกรมธรรม์ประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 5 (2+ และ 3+) สามารถซื้อเป็นเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คุ้มครองภัยธรรมชาติ หรือแยกซื้อภัยแผ่นดินไหวเพิ่มได้

6. กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ คุ้มครองความเสียหายต่อร่างกายรวมถึงชีวิตที่เกิดจากอุบัติเหตุ รวมถึงอุบัติเหตุจากแผ่นดินไหวด้วย

ด้านนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้ แต่การเตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะการวางแผนด้านการประกันภัยถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน เหตุการณ์ในครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันภัยเพิ่มขึ้น และภาคธุรกิจได้ถอดบทเรียนในการบริหารความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติพร้อมกับทบทวนวิธีในการประเมินความเสี่ยง เพราะปัจจุบันจะเห็นได้ว่าภัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุนี้ หลายภัยที่เคยถูกมองข้ามหรือไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง อาจต้องถูกนำกลับมาประเมินใหม่อย่างรอบด้าน ทั้งในแง่ของการรับประกันภัยและการกำหนดเบี้ยประกันภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่แท้จริง  ธุรกิจประกันวินาศภัยถือเป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับประชาชน ระบบเศรษฐกิจและสังคม โดยสมาคมประกันวินาศภัยไทยและภาคธุรกิจประกันวินาศภัย พร้อมยืนหยัดเคียงข้างดูแลผู้เอาประกันภัยในทุกสถานการณ์ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยสามารถก้าวข้ามผ่านทุกวิกฤตไปได้ด้วยกัน 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ขอแนะนำให้ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ติดต่อบริษัทประกันภัยที่ทำกรมธรรม์ไว้โดยเร็วที่สุด พร้อมจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ เช่น หลักฐานความเสียหาย ภาพถ่าย และเอกสารสำคัญอื่นๆ ทั้งนี้ บริษัทประกันภัย จะส่งผู้ประเมินความเสียหายเข้าตรวจสอบและพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ หากมีข้อสงสัยหรือ พบปัญหาจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสามารถติดต่อสำนักงาน คปภ. หรือติดต่อสายด่วน คปภ. 1186 หรือช่องทาง Chatbot @oicconnect ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สำนักงาน คปภ. ได้ประสานงานกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทยและบริษัทประกันภัยต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ อย่างเต็มที่ พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินการเพื่อให้ประชาชนและผู้เอาประกันภัยได้รับความช่วยเหลือและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม พร้อมทั้งจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและผู้เอาประกันภัย

“ธุรกิจประกันภัย เป็นธุรกิจที่มีไว้เพื่อบริหารความเสี่ยง ในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง 3 หน่วยงานสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ภาคธุรกิจประกันภัยก้าวผ่านสถานการณ์ต่างๆ มาได้ แม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้จะเป็นครั้งแรก      แต่ทุกฝ่ายได้ตอบสนองอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ พร้อมย้ำว่า สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย รวมถึงบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย จะทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยา ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและผู้เอาประกันภัย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password