‘ชูศักดิ์’ แย้มร่างกม.นิรโทษฯเสร็จแล้ว แนะทุกฝ่ายโฟกัสตั้ง ‘ส.ส.ร.’ เปิดทางรื้อกติกาใหม่

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แย้มร่างกม.นิรโทษฯฉบับเพื่อไทยเสร็จแล้ว แนะ ทุกฝ่ายโฟกัสตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.เปิดทางรื้อกติกาประเทศใหม่

วันที่ 8 ธ.ค.67 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย ที่จะเสนอเข้าไปประกบกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคการเมืองอื่น ที่จะเปิดสมัยประชุมในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ว่า ขณะนี้การยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย ถือว่าเสร็จแล้วในชั้นต้น เนื้อหาใกล้เคียงกับร่างอื่นๆ ของพรรคต่างๆ ที่จะมุ่งเน้นไปที่ความผิดที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยจะกำหนดนิยามเหตุจูงใจทางการเมืองไว้ให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีปัญหาตีความ ทั้งนี้ จะรวมถึงความผิดเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น ความผิดฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน), พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง เป็นต้น จะมีบัญชีแนบท้ายว่าความผิดอะไรบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรม โดยให้มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาความผิดที่เข้าหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความรอบคอบว่าความผิดอะไรเกี่ยวกับการเมือง อะไรไม่เกี่ยวข้อง

“คล้ายๆ กับหลักการที่เคยศึกษามา หลังจากนี้จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสส. ของพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ สส. ได้แสดงความคิดเห็น และให้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อร่วมลงชื่อเสนอสภาฯต่อไป อย่างไรก็ตาม การพิจารณากฎหมายดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้นทันทีตั้งแต่เปิดสมัยประชุมสภาฯ จึงมั่นใจว่าร่างของพรรคเพื่อไทยจะสามารถเสนอเข้าไปพิจารณาพร้อมกับร่างอื่นๆ ได้ทัน” นายชูศักดิ์ กล่าว

นายชูศักดิ์ ยังกล่าวถึง การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่า การจะยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา พิจารณา ในส่วนของพรรคเพื่อไทยคงต้องไปหารือในวิปรัฐบาล แต่ความเห็นส่วนตัวเห็นว่าเราพิจารณากันในชั้นสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันการลงมติเสียงข้างมากชั้นเดียวเป็นเอกฉันท์ พรรคคงต้องยืนตามนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การต้องยับยั้งร่างไว้เป็นเวลา 180 วัน และในสมัยประชุมที่จะเปิดขึ้น จะมีการประชุมรัฐสภาซึ่งน่าจะพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีหลายร่างมาก สะสมมาตั้งแต่สภาฯตอนแรก ๆ คงต้องให้วิป 3 ฝ่ายหารือร่วมกันว่าจะเอาร่างใดบ้าง

“ส่วนตัวมองว่า หากเห็นว่าจะใช้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. มาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามขั้นตอนนี้ ก็อยู่ในกระบวนการที่แต่ละฝ่ายกำลังดำเนินการกันอยู่ และเกี่ยวโยงไปถึงกฎหมายประชามติ จึงคิดว่าควรพุ่งเป้าไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะดีกว่าหรือไม่ โดยประธานรัฐสภา และวิปควรหารือแนวทางที่จะให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง หากจะพิจารณากันไปทีละร่างในตอนนี้ ก็ต้องคิดคำนึงว่ารัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ที่สำคัญคือสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เห็นอย่างไร เพราะการพิจารณายังอยู่ในหลักทั่วไป เช่น ในวาระที่หนึ่งต้องมี สว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จะต้องได้เสียงจากรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง จึงต้องหารือกันแบบเป็นเรื่องเป็นราวให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นก็จะเสียเวลาเปล่า” นายชูศักดิ์ กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password