ศาลอาญาคดีทุจริตฯสั่งจำคุก 5 ปี อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปมรับสินบนไต้หวัน

ศาลอาญาคดีทุจริตฯสั่งจำคุก 5 ปีไม่รอลงอาญา ริบทรัพย์ 20 ล้าน อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค8 เรียกรับเงินสินบนประกันตัวชาวไต้หวัน 20 ล้าน รับเงินกัน 4 รอบ กล้องวงจรผิดจับภาพได้หน้าโรงแรม ดิ้นไม่หลุด ศาลชี้พยานหลักฐานโจทก์สอดคล้องมัดเเน่น น้ำหนักน่าเชื่อถือ 

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2566 ณ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ, ศาลได้อ่านคำพิพากษา คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 178/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)  เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นาย ฐ. อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นจำเลยในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 171,175 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 30 วรรคสอง  พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128,129 ประกอบมาตรา 169 และมาตรา 194 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2543 ข้อ 5(2) (เดิม) และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ ฯ ขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สิน หรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ของจำเลย รวมเป็นเงินจำนวน 20ล้านบาท และหรือขอให้จำเลยชำระเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามมูลค่า รวมเป็นเงินจำนวน 20ล้านบาท ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือขอให้ริบทรัพย์สินอื่นของจำเลย แทนตามมูลค่าดังกล่าว

โจทก์ฟ้องระบุความผิดสรุปว่า คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาชาวไต้หวันและ ศาลจังหวัดสมุทรปราการออกหมายขังไว้ในคดีอาญา เมื่อระหว่างเดือน พ.ย.61-12 ธ.ค.61 โดยขณะที่จำเลยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 8 จำเลยอ้างว่ารู้จักสนิทสนมกับผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการสามารถช่วยเหลือเกี่ยวกับ การสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวันดังกล่าวได้ โดยจำเลยเรียกและรับเงิน 20ล้านบาท จากนาย พ. หรือโก พ. เป็นค่าตอบแทน

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นอกจากพยานหลักฐานโจทก์มีบันทึก ถ้อยคำพยานบุคคลที่ให้การต่อคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นยืนยันว่า จำเลยเรียกและรับเงิน20ล้านบาท จากนาย พ. รวม 4 ครั้งแล้ว โจทก์ยังมีหลักฐานอื่นที่เชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ที่ นาย พ. พบและส่งมอบเงิน ให้กับจำเลย ดังนี้

ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 7 พ.ย.61จำนวนเงิน1 ล้านบาท ที่โรงแรม สินทวี จังหวัดภูเก็ต โจทก์มีรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาภูเก็ตของ นาย พ. ที่แสดงให้เห็นว่าในวันดังกล่าวนาย พ. เบิกถอนเงินสด 1ล้านบาทบาท จากบัญชีของตน สาขาภูเก็ตเพื่อนำมามอบให้จำเลยที่รออยู่ที่โรงแรมสินทวี ส่วน ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 11 พ.ย.61จำนวน 3 ล้านบาท ครั้งที่สาม เมื่อวันที่30 พ.ย.61 จำนวน 7 ล้านบาท และ ครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.61  จำนวน 9 ล้านบาท มีการนัดและส่งมอบเงินกันที่ โรงแรมเอ็มบาสซี่ สะพานควาย กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ โจทก์มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยและนาย พ. นัดพบเพื่อส่งมอบเงินกันที่โรงแรมเอ็มบาสซี่ในช่วงวันเวลาดังกล่าว ได้แก่ ข้อมูลการเดินทางของจำเลย ในช่วงเวลาดังกล่าวโดยเครื่องบินบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด ระหว่างภูเก็ต – ดอนเมือง และดอนเมือง – ภูเก็ต ใบเสร็จค่าที่พักโรงแรมเอ็มบาสซี่ สะพานควาย กรุงเทพมหานคร ซึ่งระบุวันเวลาที่นาย พ. เข้าพัก ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการนัดพบจำเลย ภาพถ่ายจำเลยในบริเวณโรงแรมเอ็มบาสซี สะพานควาย และ ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสะพานควาย ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้เคียงกับโรงแรม รายการเคลื่อนไหวทางบัญชี ธนาคารของนาย พ. ที่แสดงว่านาย พ. ทำรายการฝากถอนเงินเพื่อรวบรวมเงินนำไปมอบให้จำเลย รวมถึง คลิปวิดีโอภาพและเสียงและสัญญาจ้างที่ทำขึ้นเมื่อวันที่12 ธ.ค.61 ซึ่งเป็นการรับเงินครั้งสุดท้าย

ดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเรียกและรับเงิน จากนาย พ. 20 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการในการขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวัน ในคดีอาญาของศาลจังหวัดสมุทรปราการจริง แม้จำเลยไม่เคยรู้จักผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการที่มี คำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวันหรือจำเลยไม่ตั้งใจจะเอาทรัพย์ที่เรียกไปให้ ผู้พิพากษาดังกล่าวเลยก็ตามก็เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมาตรา 175 และประมวล กฎหมายอาญามาตรา 143 แล้ว และการที่จำเลยรับเงินดังกล่าวจากนาย พ. ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินหรือ ประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา จึงเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา มาตรา 128วรรคหนึ่ง และ 129แห่ง พรป.ฉบับดังกล่าวข้างต้นอีกกระทงหนึ่งด้วย แต่สำหรับความผิดตาม  พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561มาตรา 171นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางไต่สวนว่า นาย พ. รู้อยู่แล้วว่าจำเลยเป็นผู้พิพากษาศาล อุทธรณ์ภาค 8และจำเลยเรียกรับเงินโดยอ้างว่าจะนำไปมอบให้ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการผู้มี ตำแหน่งหน้าที่ในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาอีกทอดหนึ่งและนาย พ. กับพวกก็เข้าใจเช่นนั้น โดยไม่มีการกระทำหรือพฤติการณ์อื่นใดที่จะทำให้นาย พ. กับพวกเชื่อหรือเข้าใจว่าจำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการ อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาของศาลจังหวัดสมุทรปราการ กระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานนี้

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 128วรรคหนึ่ง, 129ประกอบมาตรา 169,175 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อ กฎหมายหลายบทลงโทษตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 175ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90จำคุก 5 ปี ริบเงิน 20ล้านบาท หรือทรัพย์สินอื่นของจำเลยแทนตามมูลค่าดังกล่าว ข้อหาอื่น นอกจากนี้ให้ยกคำร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ ปปช. ได้นำคดีมายื่นฟ้องเอง โดยศาลดำเนินกระบวนพิจารณา จำนวน 10 นัด รวมระยะเวลาตั้งแต่วันฟ้องถึงวันอ่านคำพิพากษา เป็นเวลา 9 เดือน 3 วัน ขณะที่ นาย ฐ. อยู่ระหว่างยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ระหว่างอุทธรณ์.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password