จำคุกตลอดชีวิต! 6 แก๊ง ตร. ฮั้วเอื้อทุนเอกชนสร้างแฟลตฯ 3.7 พันลบ.

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุก อดีต ผช. ผบ.ตร. และ 5 นาย ตร. ฐานร่วมกันทุจริต ฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างแฟลตตำรวจ 165 หลัง มูลค่ากว่า 3.7 พันล้านบาท  เผย! ลดโทษหลังจำเลยให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุก 33 ปี 4 เดือน ปรับคนละ 2.6 แสน  ก่อนส่งเข้าเรือนจำ  รอคำสั่งประกันจากศาลอุทธรณ์ ขณะที่ 2 นาย ตร. รอดคุก ศาลให้ประกันระหว่างอุทธรณ์คดี  

เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 30 มี.ค.2566 ณ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.เลียบทางรถไฟ ตลิ่งชัน, ศาลอ่านคำพิพากษาคดีอาญาทุจริตก่อสร้างแฟลตตำรวจ หมายเลขดำที่ อท 96, 131/2564  ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ อดีตผช.ผบตร. ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคา, พล.ต.ต .สัจจะ คชหิรัญ ประธานกรรมการประกวดราคา, พล.ต.ต.สมาน สุดใจ, พ ต.อ.ปัทเมฆ  สุนทรานุยุตกิจ , พ.ต.อ.จิรวุฒิ จันทร์เพ็ง, พ.ต.ต.สิทธิไพบูลย์ คำนิล, พ.ต.ท.คมคริบ นุดาลัย, ด. ต.สายัณ อบเชยและบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันทุจริตปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

โจทก์ฟ้องระบุความผิด สรุปว่า จำเลยที่ 1-6 เป็นเจ้าพนักงานได้รับแต่งตั้งให้เป็น คณะกรรมการประกวดราคาจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ รายการอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) ขนาด 30 ครอบครัว สูง 5 ชั้น จำนวน 163 หลัง วงเงิน 3,709,880,000 บาท ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีเจตนาแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบ ด้วยกฎหมายและเอื้อประโยชน์แก่บริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จำเลยที่ 9 โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อช่วยเหลือ จำเลยที่ 9 ให้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญา โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำารวจ กับสํานักงานตำารวจแห่งชาติ จําเลยที่ 7 เป็นเจ้าพนักงานได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้าง ได้อาศัยโอกาสที่ตนมีอำนาจหน้าที่ เรียกรับเงินจากจําเลยที่ 9 จำนวน 60,000 บาท เพื่อช่วยเหลือจําเลยที่ 9 ด้วยการอำนวยความสะดวก ในการดำเนินการก่อสร้าง การตรวจการจ้าง การตั้งเรื่องเบิกจ่าย และการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการก่อสร้าง

โดยจำเลยที่ 9 ยินยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 7 เพื่อแลกกับการตอบแทนช่วยเหลือในการตรวจการจ้าง จำเลยที่ 8 เป็นเจ้าพนักงานได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ควบคุมงานได้อาศัยโอกาสที่ตน มีอำนาจหน้าที่เรียก รับทรัพย์สินจากจำเลยที่ 9 จำนวน 91,618,000 บาท เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 9 ด้วยการ อำนวยความสะดวกในการดำเนินการก่อสร้าง การตรวจการจ้าง การตั้งเรื่องเบิกจ่าย และ การดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง โดยจำเลยที่ 9 ยินยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 8 เพื่อแลกกับการตอบแทนช่วยเหลือดังกล่าว

โจทก์จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1-6 ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 151,157 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงาน ของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10, 12  ส่วนจำเลยที่ 7-8 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 จำเลยที่ 9 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149,157,86  และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิด เกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

ทั้งนี้ จำเลยทั้งหมด ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีมาโดยตลอด

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานตามทางการไต่สวนและข้อเท็จจริง ของโจทก์และพยานหลักฐานของจำเลยทั้งเก้าแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1-6 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ๆ อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151,157 และเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้ มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่จำเลยที่ 9 ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ และเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการพิจารณาหรือดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคา รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนั้น มีการกระทำผิด ละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10,12 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา151 เป็นบทเฉพาะย่อมไม่ต้องปรับบทความผิดตาม มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

ส่วน จำเลยที่ 7 เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการ อย่างใดในตำแหน่งว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบ ด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 157 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เป็นบทเฉพาะย่อมไม่ต้อง ปรับบทความผิดตาม มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

ขณะที่ จำเลยที่ 8 เป็นเจ้าพนักงานเรียก รับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ในตำแหน่งว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 157 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เป็นบทเฉพาะย่อมไม่ต้อง ปรับบทความผิดตาม มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

สำหรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณราคา เป็นเงินได้กรณีของจำเลยที่ 7 จำนวน 60,000 บาท จำเลยที่ 8 จำนวน 91,618,000 บาท ที่ได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการให้รับตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 32

ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเงินจำนวนดังกล่าวถูกนำไปรวมกับทรัพย์สินอื่นหรือมีการจําหน่ายจ่ายโอนเป็นทรัพย์สินอื่นโดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้หรือ การติดตามเอาคืนจะกระทําได้โดยยากเกินสมควร จึงให้จําเลยที่ 7 – 8 ส่งสิ่งที่ศาลสั่งริบชำระ เป็นเงินจำนวนดังกล่าวแทนตามมูลค่า ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำ

โดยที่ จำเลยที่ 9 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1-6  ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1-6 เป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อ กฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามพ.ร.บ.ว่าด้วย ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด   ให้จำคุกจำเลยที่1-6 ไว้ตลอดชีวิต ปรับคนละ 390,000บาท

จำเลยที่ 7 จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 8 จำคุก 19 ปี และจำเลยที่ 9 ปรับ 260,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ทางนำสืบของจำเลยที่ 1-8 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาบ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม  ดังนั้น คงจำคุกจําเลยที 1-6 ไว้คนละ 33ปี 4 เดือน ปรับคนละ 260,000 บาท จำเลยที่ 7 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 8 คงจำคุก 12 ปี 6 เดือน

นับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ อท 285/2561 ของศาลนี้ และไม่นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.23/2565 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากศาลพิพากษา ยกฟ้องตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.21/2565ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ริบทรัพย์สินของจำเลยที่ 7 เป็นเงิน 60,000 บาท และริบทรัพย์สินของจำเลยที่ 8 เป็นเงิน 91,618,000 บาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้จำเลยที่ 7-8 ส่งสิ่งที่ศาลสั่งริบ เป็นเงินแทนตามมูลค่าดังกล่าวภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา หากจำเลยที่ 1-6 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 กรณีต้องกักขัง แทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ได้

ทั้งนี้ จำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,29/1

ยกฟ้องจำเลยที่ 9 สำหรับฐานเป็นผู้สนับสนุน การกระทําความผิดของจําเลยที 7 และที่ 8

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กับพวก ที่ถูกยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานร่วมกันทุจริตฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 โรงนั้น ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมในเวลาต่อมาว่า ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษาให้จำคุกพวกจำเลยแล้ว จำเลยทั้ง 8 คน  ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิจารณาเเล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 7 และ 8  เพียง 2 คนเท่านั้น ส่วน จำเลยที่ 1 – 6 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิจารณาแล้ว เห็นควรส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป

ต่อมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวจำเลยที่ 1-6ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อรอคำสั่งขอประกันตัวจากศาลอุทธรณ์ คาดว่า จะใช้เวลา 1-2 วัน ศาลอุทธรณ์จึงจะมีคำสั่งมา.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password