อสส.ติวเข้มอัยการรับมือ พ.ร.บ.อุ้มหายที่ใกล้คลอด หวังยกระดับทำงานเข้มกว่าเดิม
รองโฆษก อสส.เผย! อัยการพร้อมปฏิบัติ พ.ร.บ.อุ้มหาย ระบุ! อสส. สั่งจัดติวเข้ม อัยการทำหน้าที่ตามกฎหมายใหม่ อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2566 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ว่า กฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ยังจะมีผลบังคับใช้วันที่ 22 ก.พ.นี้ ทั้งนี้ ตามนโยบาย ของ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด (อสส.) ที่ต้องการให้มีการยกระดับปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในการคุ้มครองสิทธิ์ประชาชน ใช้กฎหมายในการคุ้มครองสังคม อัยการต้องยกระดับปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ดี ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
โดย สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีการเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยได้มีการเตรียมการตั้งแต่ก่อนกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา และได้แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุดตามคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ 1642/2565 ลงวันที่ 22 ก.ย.65
ซึ่ง คณะทำงานได้ประชุมยกร่างระเบียบในการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว ตลอดจนกำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการของพนักงานอัยการ จนนำไปสู่การประกาศใช้ “ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566 และแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566
นอกจากนี้ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้จัด “โครงการสัมมนาการดำเนินการของพนักงานอัยการตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565” เพื่อให้พนักงานอัยการได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ ในการนำกฎหมายใหม่นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน คุ้มครองสิทธิของประชาชนได้อย่างถูกต้อง ระดมสมองวางแผนในการทำให้กฏหมายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการดูแลสังคม ตามนโยบายท่านอัยการสูงสุด แม้กฎหมายนี้จะต้องมีอุปกรณ์สนับสนุนการทำงานในการบันทึกภาพถ่าย และยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนตามที่กฎหมายประกาศใช้แต่สำนักงานอัยการสูงสุดก็พร้อมที่จะบริหารการจัดการความ ยุติธรรม ให้กฏหมายมีประสิทธิภาพได้ในทันที พร้อมปฎิบัติหน้าที่ตามกฏหมายทุกมาตรา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯดังกล่าวได้มีการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 นี้ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเลื่อนเวลาบังคับใช้ อ้างเหตุผลเรื่องงบประมาณและความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ล่าสุด คณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ความเห็นชอบเลื่อนบังคับใช้มาตรา 22-25 พ.ร.บ. ฉบับนี้ แล้ว และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป
สำหรับ มาตราที่ได้มีการขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป มีสาระสำคัญ ดังนี้
มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน.