“จุรินทร์” แจงสภา พาณิชย์ ตรึงราคาสินค้า “แก้ของแพง”

รมว.พาณิชย์ แจงยิบ ของแพงกระทบจากราคาน้ำมัน เผยราคาพืชผลภาพรวมดีขึ้นทุกตัว ลุยเดินหน้าประกันรายได้ ทลายอุปสรรคส่งออก พร้อมตรึงราคาแก้ของแพงช่วยประชาชน เผยปมถุงมือยางสอบวินัยแล้วไล่ออกทั้งหมด

วันที่ 18 ก.พ.2565 เวลา 12.30 น.ที่ รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องของสินค้าราคาแพง ต้นเหตุสำคัญเกิดจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น น้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญ มีผลต่อการเพิ่มต้นทุนการขนส่งถึงร้อยละ 40 ค่าขนส่งระหว่างประเทศราคาสูงขึ้นมาก เช่น ค่าบรรทุกตู้ขนาด 40 ฟุต เพิ่มขึ้นจาก 49,000 บาทต่อตู้ เป็น 560,000 บาทต่อตู้ ราคาน้ำมันจึงมีผลกระทบต่อราคาสินค้า และ ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทย ตัวอย่างประเทศสหรัฐฯ ก็แพงทั้งแผ่นดิน ราคาสินค้าพุ่งสูงสุดในรอบ 39 ปี ประเทศอังกฤษ ราคาสินค้าพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี ประเทศไทยยังอยู่ในสถานะ ที่ดีกว่าหลายประเทศในโลก สำหรับปี 64 ภาวะเงินเฟ้อของประเทศไทย +1.23% เมื่อเทียบกับประเทศสำคัญในโลก 177 ประเทศ ไทยเป็นลำดับที่ 154

ตั้งแต่เดือน ม.ค.65 เป็นต้นมา ช่วงปีใหม่ถึงตรุษจีนเป็นช่วงที่คนไทยจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่ต้องยอมรับคือ หมู เพราะเกิดจากมาตรการที่ตรงจุดของรัฐบาลรวมทั้งของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรึงราคาสินค้ารวมทั้งใช้มาตรการอื่นๆ ทำให้ราคาสินค้าหลายหมวดสามารถตรึงราคาไว้ได้ แต่ทันทีที่มีปัญหาในเดือน ม.ค.ตนให้กรมการค้าภายในประสานงาน ประชุมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการห้างค้าส่ง-ค้าปลีก และเกษตรกร ตรึงราคาสินค้าไว้ 18 กลุ่มสินค้าสำคัญประกอบด้วย 1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2.น้ำอัดลม 3.เครื่องใช้ไฟฟ้า 4.ซอสปรุงรส 5.อาหารกระป๋อง 6.ข้าวสารถุง 7.นมผลิตภัณฑ์จากนม 8.อาหารสัตว์ 9.ปุ๋ย 10.ยาฆ่าแมลง 11.เหล็ก 12.ปูนซีเมนต์ 13.กระดาษ 14.ยาเวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ 15.น้ำมันพืช 16.อาหารสด 17.ผลิตภัณฑ์ซักล้าง 18.บริการ โดยห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ตรึงราคาไว้ทั้งหมด ไม่ได้แพงขึ้นทั้งแผ่นดินอย่างที่เรามีความรู้สึกหรือได้อภิปรายกันไว้ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้

สำหรับไข่กระทรวงพาณิชย์เชิญประชุมสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับความร่วมมือ ตรึงราคาไข่หน้าฟาร์มไม่เกิน 2.90 บาท/ฟอง ยุคนี้ราคาไข่สูงสุด ยังถูกกว่าหลายยุคที่ผ่านมา ไม่ได้แพงกว่าหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา เรื่องไก่ ที่หลายคนห่วงว่า หมูขึ้นราคาแพงแล้วคนหันไปกินไก่แล้วไก่จะขึ้นราคาจนแพง ที่ไม่เป็นอย่างนั้นเพราะ มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ เข้าไปแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที ส่วนราคาน้ำมันปาล์มขวด ปรับสูงขึ้นจริง อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา ราคาผลปาล์มดิบ ที่เป็นวัตถุดิบของการนำมากลั่นเป็นน้ำมันปาล์มขวดบริโภค จากอดีตผลปาล์มดิบราคากิโลกรัมละ 2-3 บาท แต่หลังจากบริหารจัดการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาปาล์มดิบสูงขึ้นแตะ 9 – 11 บาท บางช่วงถึง 12 บาท สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่วนเรื่องปลา สัตว์น้ำราคาลดต่ำลง และผักในช่วงที่ราคาสูงบ่นผักแพง ผักชีกิโลกรัมละ 400 บาท เดี๋ยวนี้ผักชีราคาลดลงจากช่วงตรุษจีนถึง 40%

“ต้องยอมรับว่าหมูราคาสูงขึ้นจริง และรัฐบาลใช้ความพยายามแก้ปัญหาทั้งระบบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาจับมือร่วมกันแก้ปัญหาบูรณาการทำให้ราคาหมูปรับลดลงมา รัฐบาลเร่งผลิตหมูเข้าสู่ระบบให้เข้าสู่ภาวะสมดุลให้เร็วที่สุด ต้องใช้เวลา 5 – 8 เดือน หรือ 1 ปี กรมปศุสัตว์กำลังเร่งผลิตลูกหมูเดือนละ 300,000 ตัว ธ.ก.ส.จัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขพิเศษให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยทันทีที่มีปัญหากระทรวงพาณิชย์ มีมติห้ามส่งออกหมู ขณะเดียวกันบูรณาการระหว่างฝ่ายความมั่นคง ตำรวจมหาดไทยพาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสต๊อกหมูทั่วประเทศเพื่อป้องกันการกักตุน ทำให้หมูออกสู่ระบบเร็วขึ้น ราคาลดลงทุกวัน” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า เรื่องปุ๋ยแพงจริงเพราะน้ำมันแพง และช่วงปีที่แล้วประเทศที่ผลิตส่วนใหญ่โดยเฉพาะจีนเก็บปุ๋ยไว้ใช้ในประเทศ เพราะนโยบายความมั่นคงด้านอาหารเก็บปุ๋ยไว้และลดกำลังการผลิตก่อนเข้าโอลิมปิกฤดูหนาวเพราะต้องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และอินเดียประมูลปุ๋ยล็อตใหญ่ไปทั่วโลกทำให้ปุ๋ยไปกองที่อินเดียเยอะตลาดก็ขาด กระทรวงพาณิชย์พยายามตรึงราคา เจรจากับผู้นำเข้า 19 บริษัท จัดปุ๋ยราคาถูก 4,500,000 กระสอบ 84 สูตร ลดราคาจากหน้าโรงงานกระสอบละ 20 – 50 บาท ขายได้แล้ว 3,150,000 กระสอบ และที่ถามว่าทำไมไม่ใช้เงินรัฐบาลอุดหนุนเพื่อให้ราคาปุ๋ยลดลงบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.64 กระทรวงพาณิชย์ของบกลาง 960 ล้านบาท เพื่อช่วยลดราคาปุ๋ยกระสอบละ 50 บาท ช่วยผู้นำเข้ากระสอบละ 35 บาท ให้หลายฝ่ายช่วยนำเข้าเพิ่มปริมาณปุ๋ย ช่วยดอกเบี้ยเกษตรกร 3% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อส่งเสริมการให้กลุ่มเกษตรกรสหกรณ์ซื้อปุ๋ยหน้าโรงงาน จะได้ปุ๋ยราคาถูกลง วันที่ 28 มิ.ย.64 สำนักงบฯตอบกระทรวงพาณิชย์ว่าไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องปุ๋ย เพราะเป็นเรื่องของการผลิต วันที่ 3 ก.พ.65 ตนทำหนังสือของบอีก 123 ล้านบาท เป็นงบเงินกู้ มาชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้นำเข้าและสหกรณ์ 3% เพื่อจูงใจให้นำเข้าปุ๋ยเกษตรกรซื้อปุ๋ยจากโรงงานมาขายให้สมาชิกราคาจะได้ต่ำลงบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งรอผลการพิจารณาของฝ่ายเลขาคือสภาพัฒน์อยู่ วันที่ 29 ธ.ค.64 กระทรวงเกษตรฯ ของบเงินกู้ 570 ล้านบาทเพื่อชดเชยกระสอบละ 50 บาท ตอนนี้ติดขั้นตอนอนุกรรมการเงินกู้ พิจารณาบอกว่าไม่ตรงวัตถุประสงค์การกู้เงิน ต้องรอกรรมการใหญ่อนุเคราะห์ต่อไปว่าจะทำอย่างไร

“ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายก็ร้อนใจท่านนายกฯก็ร้อนใจ พวกเราก็ร้อนใจ ขอให้กระบวนการเหล่านี้ดำเนินการต่อไปว่าจะหาข้อยุติอย่างไร ทุกฝ่ายเป็นห่วงเกษตรกรทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามข่าวดีหลายฝ่ายประเมินแนวโน้มราคาปุ๋ยในตลาดโลกจะลดลงเพราะจีนจะเริ่มผลิตปุ๋ยมากขึ้นเพราะโอลิมปิกฤดูหนาวยุตติแล้วและอินเดียประมูลปุ๋ยในราคาต่ำ จะชี้นำตลาดและที่ผ่านมาปุ๋ยราคาแพงขึ้นมากทำให้หลายประเทศในโลกชะลอการซื้อปุ๋ย ทำให้ราคาปุ๋ยเริ่มปรับลดลงมา” นายจุรินทร์ กล่าว

“สุดท้ายเรื่องกรณีการสอบเรื่องถุงมือยาง ผมติดตามตลอด เราตั้งกรรมการสอบ 2 ส่วน 1.สอบวินัย 2.สอบทางละเมิด ถ้าพบว่ามีใครเข้าข่าย ให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งชุดวินัยสอบจบ มี 3 – 4 คน ที่ต้องรับความผิดลงโทษทางวินัย และชี้แล้วว่าให้ไล่ออกทั้งหมด ส่วนความผิดทางละเมิดผู้ที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้กับ องค์การคลังสินค้า 2,000 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่ตามกฏหมายชี้ขาดว่าใครต้องจ่ายจำนวนเท่าไหร่ ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน “ นายจุรินทร์ กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password