รัฐไทยชู ‘20 FTA – 53 ชาติ’ ล่อเจ้าสัวจีนทั่วโลก ซบลงทุนไทย

“จุรินทร์” อ้างรัฐไทยผนึก “53 ชาติ เซ็น 20 ข้อตกลงเอฟทีเอ” พ่วงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หวังดึงเจ้าสัวนายทุนจีนโพ้นทะเลในเวทีประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 หันลงทุนในไทย ชูพื้นที่ EEC รองรับอุตสาหกรรมสุดล้ำ ด้าน ประธานฯหอการค้าไทย-จีน เชื่อ! เวทีประชุมที่ยึดโยงนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” สามารถรวมพลังฟื้นเศรษฐกิจโลกด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจจีน

เมื่อช่วงสายวันที่ 25 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, หอการค้าไทย-จีน เป็นตัวแทนประเทศไทย จัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention : WCEC) ครั้งที่ 16 ซึ่งประเทศไทยได้กลับมาทำหน้าที่เจ้าภาพจัดการประชุมฯเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อ 28 ปีก่อน เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯมาแล้ว โดยครั้งนี้ การประชุมฯครั้งประวัติศาสตร์ในรอบนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

ภายในงานมี ตัวแทนนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล ราว 4,000 คน จาก 50 ประเทศในทวีปต่างๆ ทั่วโลก เข้าร่วมประชุมฯ โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี และ นายเกา หยุนหลง รองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานในพิธี และมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ ประธานกล่าวเปิดงานฯ

สำหรับคนดังที่เข้าร่วมงานฯในครั้งนี้ อาทิ นายธนินท์ เจียรวนนท์ นายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ถาวรหอการค้าไทย-จีน, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ, นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือซีพี, นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย, นายหลี เสี่ยวปอ นายกสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน-ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ICBC เป็นต้น

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน และประธานกรรมการจัดงาน WCEC ครั้งที่ 16 กล่าวว่า ในภาวะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกในครั้งนี้ จึงถือเป็นเวทีรวมพลังนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลจากทั่วโลกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และใช้เป็นโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์ และเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 สอดคล้องกับเป้าหมายของการประชุมครั้งนี้ ที่จัดภายใต้หัวข้อร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจจีน โดยหวังให้มีโอกาสพัฒนาจาก “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่เป็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และเขตอ่าวเศรษฐกิจกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า” เชื่อมโยงกับ EEC และไทยแลนด์ 4.0 ของไทย

นายณรงค์ ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายการลงทุนที่นักธุรกิจชาวจีนให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)  และอุตสาหกรรมต่อเนื่องในไทย คาดว่าอีก  5 ปีข้างหน้าไทยจะมีรถปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมอยู่แล้ว ส่วนรัฐบาลใหม่นั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็สามารถทำให้เกิดการพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายจุรินทร์ กล่าวในฐานะ ตัวแทนรัฐบาลไทย ตอนหนึ่งว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตนได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันการทำข้อตกลงทางการค้า (FTA) กับประเทศและกลุ่มประเทศต่างๆ และยังรอการลงนามข้อตกลงอีกหลายฉบับภายใน 1-2 ปีนับจากนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยมีข้อตกลง FTA รวมทั้งสิ้น 20 ฉบับ กับ 53 ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป (EU) รวม 27 ประเทศ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ตุรเกีย, ปากีสถาน, ศรีลังกา เป็นต้น และนั่นจะช่วยสร้างโอกาสที่ดีทางด้านการค้า การลงทุน และการส่งออกสินค้าของนักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลก ไปยังประเทศต่างๆ ที่มีข้อตกลง FTA กับไทย

“การจัดประชุม WCEC ครั้งที่ 16 นี้ ผมเชื่อว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบพัฒนาการทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และมองเห็นลู่ทางโอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนกับประเทศไทย สะท้อนจากนโยบาย และศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ทั้งจากการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศของไทยภายใต้ความตกลงทางการค้าที่ทันสมัย ซึ่งรวมถึง เอฟทีเอ อาเซียน-จีน และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ตลอดจนการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในรูปแบบที่มีความยืดหยุ่น” นายจุรินทร์ ย้ำและว่า

จากการ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะ การส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC ตลอดจนโอกาสการร่วมลงทุนกับไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายในระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ในต่างประเทศ อันเกิดจากการกระจายการเจริญเติบโตภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศอย่าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของรัฐบาลจีน จะส่งผลดีต่อทุกฝ่ายอย่างมั่นคง

ส่วน นางเฉิน ซวี่ ผอ.สำนักงานกิจการชาวจีนโพ้นทะเลแห่งคณะรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน ระบุว่า นักธุรกิจชาวจีนทั่วโลกเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ควบคู่ไปกับเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติด้านต่างๆ ดังนั้น การส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์กับนานาประเทศจึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนตัวเชื่อว่าการประชุมครั้งจะเป็นการเสริมพลังต่อความร่วมมือของนักธุรกิจชาวจีน และจะเป็นประโยชน์ต่อศักยภาพทางธุรกิจ รวมถึงเป็นการยกระดับการค้าขาย เวทีการประชุมครั้งนี้จะทำให้นักธุรกิจชาวจีนได้แสดงความรู้ ความสามารถ และนำมาซึ่งกับพัฒนาร่วมกัน

ขณะที่ นายธนินท์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ สรุปความว่า นักธุรกิจจีนต้องให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการศึกษาและวิทยาการด้านต่างๆ จากสหรัฐอเมริกา รวมถึงทรัพยากร ด้านบุคคลากร เงินทุน เทคโนโลยีและวัตถุดิบจากทั่วโลกเข้ามาในจีน เพราะมีปัจจัยพื้นฐานด้านต่าง ๆ ที่พร้อมจะพลิกโฉมการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในอนาคต

สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของโลก ผ่าน EEC โดยให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่โครงการที่ช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงยังมีความสำคัญ และอีคอมเมิร์ชต้องอาศัย “เรียล อีโคโนมี่” ในการผลิตสินค้าที่จับต้องได้ และต้องอาศัยโลจิสติกส์ เพื่อส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริงที่ใช้นวัตกรรมในการผลิตให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพสูง และมีมูลค่าสูงขึ้น จึงจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ชและโลจิสติกส์ดำรงอยู่ต่อไป

อนึ่ง การประชุมจะเป็นการประชุมกลุ่มย่อย 4 หัวข้อ ได้แก่ 1.ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย 2.โอกาสพัฒนาจาก “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและเขตอ่าวเศรษฐกิจกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า” 3.แนวคิดและภูมิปัญญาการดำเนินธุรกิจของนักธุรกิจชาวจีน และ 4.การสืบสานและพันธกิจของนักธุรกิจชาวจีนรุ่นใหม่ จะมีผู้บริหารระดับสูงในไทยและนักธุรกิจจีน ขึ้นบรรยายให้ความรู้ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศไทย ,แนวความคิด และภูมิปัญญาการดำเนินธุรกิจของนักธุรกิจชาวจีน และการสืบสานและพันธกิจของนักธุรกิจชาวจีนรุ่นใหม่ เป็นต้น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password