กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน ‘วังว้า 1’ ต้นแบบความสำเร็จ…เกษตรกรไทย

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายใต้การนำของ นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ และ นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ รวมถึง เจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ได้จัดทริปพิเศษ พาคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางกว่า 20 ชีวิต ลงพื้นที่ศึกษาดูงานจากสวนทุเรียนของจังหวัดระยอง ตลอดช่วงวันที่ 27 – 28 พฤษภาคม 2565

โดยทำการศึกษาดูงานจาก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1 อำเภอแกลง ในวันแรกของการเดินทาง และ สวนทุเรียนลุงแกละ อำเภอวังจันทร์ ในวันรุ่งขึ้น ต่างก็มีประเด็นให้คณะสื่อมวลชนได้หยิบยกเรื่องราวความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก กลุ่มเกษตรกร “ต้นแบบ” เหล่านี้ กระทั่ง สามารถจะนำไปถ่ายทอดมุมมอง วิธีคิด ประสบการณ์ และกลวิธีการดำเนินงานให้กับเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้ศึกษาเรียนรู้ และต่อยอดการดำเนินงานได้ในโอกาสต่อไป

กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน อำเภอแกลง : สำหรับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1 นี้ ตั้งอยู่เลขที่ หมู่ที่ 4 ถนน เจริญสุข ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยมี นายธีระ กิจมาพวานนท์ เป็นผู้จัดการแปลง ประกอบด้วย สมาชิกแปลงใหญ่ 36 ราย  เนื้อที่รวมกว่า 600 ไร่  และ ยังเป็นสมาชิกของศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส.บ้านหนองน้ำขุ่น รวมถึงเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ใช้บริการสินเชื่อรายคนของ ธ.ก.ส.สาขาแกลง ในการทำสวนทุเรียน และสวนมังคุด

ปัจจุบันสมาชิกได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้  โดยมีการบูรณการหลายอย่างเข้าด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์, มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง, เกษตรประณีต/เกษตรผสมผสาน เป็นต้น

เดิมที กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1 ถือเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จจากการปรับปรุงมังคุด โดยใช้เงินทุนของสมาชิกชุมชนในการดำเนินกิจกรรม ประมาณ 300,000 บาท  ทว่าปัจจุบัน พวกสามารถจะพัฒนาและต่อยอดการดำเนินงาน จนกระทั่ง เพิ่มปริมาณเงินทุนของตนเองจนมีมากถึงราว 1.3 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 2  ปีที่ผ่านมา หลังจากประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และทางกลุ่มฯได้เริ่มเข้าร่วมมาทำแปลงใหญ่ ทว่าก็ยังไม่ได้กู้เงินกับ ธ.ก.ส. กระนั้น พวกเขาก็มีแผนจะขอกู้สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย (ดอกเบี้ยล้านละร้อย) จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปซื้อเครื่องพ่นหมอกและรถแทรกเตอร์ตัดหญ้าใหญ่ โดย ธ.ก.ส.เอง ก็ได้บรรจุเข้าสู่โปรแกรมที่จะต้องให้การความช่วยเหลือและสนับสนุนไว้แล้ว

โดยก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.ได้พากลุ่มฯ ไปศึกษาดูงานการบริหารจัดการสวนทุเรียนให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพดีที่จังหวัดตราด ซึ่งมีการใช้เครื่องพ่นหมอก หรือ Air Bus, การตัดแต่งกิ่งเพื่อเพิ่มผลผลิต และการจัดทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง เพื่อให้สมาชิกได้นำไปใช้ในการบำรุงสวนทุเรียน

ระหว่างการลงพื้นที่ศึกษาดูงานของคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง ได้รับความอนุเคราะห์จาก นางมาริน สมคิด เกษตรจังหวัดระยอง ที่ได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรพูดถึงเรื่องราวของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1

นางมาริน เผยว่า ภาพรวมธุรกิจการเกษตรของจังหวัดระยองในปีนี้ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากๆ ทั้งในแง่ของปริมาณผลผลิตที่มีออกสู่ท้องตลาด และราคาขายที่มีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1 นี้ ถือเป็น “ต้นแบบ” ให้กับเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ได้นำไปต่อยอด รวมถึงถอดองค์ความรู้ที่มี โดยนำไปปรับใช้กับพืชเกษตรในพื้นที่ของตัวเอง ทั้งนี้ การรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังช่วยเพิ่มผลผลิตแล้ว ยังมีส่วนช่วยในจัดหาตลาดใหม่ๆ ให้กับสมาชิก ไม่เพียงจะมีลูกค้าประจำ หากยังสามารถจะเพิ่มอำนาจการต่อรองในทางการตลาดได้ดีกว่า

นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯยังเป็นแหล่งทุน อัตราดอกเบี้ยต่ำ ในรูปแบบ “เงินค่าบำรง” ให้กับสมาชิกฯ เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานหรือขยายงานในพื้นที่การเกษตรของตัวเองได้อีก อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มสูงมากที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1 จะขยายงานในมิติต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ ได้ดำเนินการขอกู้ในโครงการ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย (ดอกเบี้ยล้านละร้อย) จำนวน 10 ล้านบาท จาก ธ.ก.ส.ไปแล้ว เชื่อว่า หลังจากได้รับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว ก็น่าจะทำให้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1 สามารถจะขยายการดำเนินงานไปตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้อย่างแน่นอน

“โอกาสทางการตลาดของทุเรียนจากพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดระยอง ถือว่ามีสูงมาก และเป็นความโชคดีที่ในพื้นที่นี้ สามารถจะให้ผลผลิตออกสู่ตลาดก่อนพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนทางใต้ หรือจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะมีรอบระยะเวลาการให้ผลผลิตราวช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมของทุกปี ซึ่งนั่นทำให้ไม่ต้องประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดและแข่งขันตัดราคากัน อีกทั้งทุเรียนเอง หากสามารถควบคุมคุณภาพได้ตั้งแต่ต้นทางการผลิตได้แล้ว ยังไงราคาขายหน้าสวนที่ระดับ 130-150 บาท/ก.ก. ก็ไม่มีวันตกลงมาอย่างแน่นอน อีกทั้งยังสามารถจะนำไปแปรรูปเป็นทุเรียนทอด ทุเรียนกวน และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ได้อีก ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถจะวางแผนในการนำผลผลิตที่มีออกมาในแต่ละปีออกสู่ตลาดได้อย่างหลากหลายและขายได้ในราคาที่น่าพอใจเกษตรกรจังหวัดระยอง ระบุและว่า…

ในปีหน้าเป็นต้นไป ทาง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1 มีแผนจะทำการ Fresh cut (ตัดผลผลิตสินค้าเกษตรสดๆ) กันเอง แทนที่จะปล่อยให้พนักงานของล้ง (โรงรับซื้อผลไม้) มาตัดสด เหมือนเช่นที่ผ่านมา ทั้งนี้ ข้อดีของการทำ Fresh cut ด้วยตัวเอง คือ ไม่ทำให้ลำต้นผลไม้ได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังประหยัดต้นทุนการดำเนินงาน และยังขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้นอีก

สำหรับช่องทางการจำหน่ายทุเรียนของกลุ่มแปลงใหญ่ฯนั้น ส่วนสำคัญเป็นผลมาจากการบูรณาการร่วมกันในระดับจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) แม้กระทั่ง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เอง หรือหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งทั้งหมด มีส่วนช่วยในการวางแผนการผลิตของเกษตรกร อีกทั้ง ยังช่วยให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพมาตรฐานที่สูง และทำให้มีราคาขายที่สูงขึ้น รวมถึงทำให้เกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรสามารถจะวางแผนและกำหนดช่องทางการจำหน่ายได้หลากหลายขึ้น

ซึ่งในส่วนของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1 นั้น นอกจากช่องทางการจำหน่ายไปยังต่างประเทศโดยผ่านล้งในสัดส่วน 75-80% แล้ว ยังสามารถจะนำผลผลิตไปจำหน่ายผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น การนำไปแปรรูป, การแกะสดบรรจุแพ็ค, ขายผ่ายช่องทางออนไลน์ ซึ่งยังมีสัดส่วนไม่มากนักราว 5% นอกจากนี้ หากสถานการณ์โควิดฯคลี่คลาย การจำหน่ายผ่านสวนเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่นักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจอย่างมาก

เกษตรจังหวัดระยอง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้สัดส่วนการส่งออกไปต่างประเทศผ่านล้งจะมีปริมาณที่สูงมาก แต่เกษตรกรเองก็ต้องระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP (กระบวนการผลิตที่ได้ผลิตผลปลอดภัย) ของภาครัฐ รวมถึงการป้องกันปัญหาผลผลิตอาจกลายแหล่งแพร่กระจายเชื้อโควิดฯ ซึ่งทางการประเทศปลายทางนำเข้า (รัฐบาลจีน) ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลที่เข้มงวดอยากมาก และหากการสุ่มตรวจพบว่ามีเชื้อโควิดฯปนเปื้อน จะทำให้ล็อตการส่งออกนั้นๆ มีปัญหาตามมาในทันที จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยตามมาตรฐานที่ภาครัฐและประเทศที่นำเข้าฯกำหนดเอาไว้อย่างเคร่งครัด

(อ่านต่อ… สวนทุเรียนลุงแกละ ต่อยอดจากลูกค้า สู่ Young Smart Farmer).

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password