‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ สะดุด ‘กฏหมาย ธ.ก.ส.’ ชี้ชัด ห้ามแจกเงินหมื่น เพื่อ ‘ประชานิยม’
ภาพ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ต้องการแสดงให้เห็นถึงภาพของการเห็นพ้องของทุกพรรคต่อโครงการดังกล่าว
แต่อีกนัยหนึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากมั่นใจว่าทุกอย่างฉลุย ทุกพรรคพร้อมสนับสนุน ก็ไม่จำเป็นจะต้องนำแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มายืนเป็นแบ็กกราวด์อยู่ด้านหลัง
มันเหมือนกับการ ล็อกคอ มา เพื่อทำให้หลายฝ่ายเห็นว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการนี้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่คัดค้าน
ส่วนน้อย ที่ว่า อาจจะหมายถึง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เป็นหน่วยงานเดียวที่แสดงความไม่เห็นด้วย ผ่านหนังสือที่ส่งไปให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 เม.ย. 2567 เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาในการประชุม ครม.วันที่ 23 เม.ย.67
สาระสำคัญคือ โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ต้องใช้เงินจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดภาระหนี้ผูกพันต่อรัฐบาลในอนาคต ช่องว่างที่อาจก่อให้เกิดการทุจริต ตลอดจนแนะนำให้เลือกประหยัดงบประมาณด้วยการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ตรงจุดมากกว่า ดังนั้นการแถลงวันนั้นของนายเศรษฐาอาจเป็นการแสดงพลัง เพื่อต้องการลดทอนความเห็นของ ธปท. ให้เป็นเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น
ขณะเดียวกันยังมองกันว่า ที่ผู้ว่าฯ ธปท. แสดงความไม่เห็นด้วยผ่านหนังสือประกอบการพิจารณาของ ครม.เพื่อเป็นการเซฟตัวเอง ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่เคยเห็นด้วยกับโครงการนี้ หากวันข้างหน้าเกิดความเสียหายและเกิดปัญหาทางข้อกฎหมาย
ผู้ว่าฯ ธปท.ระวังเรื่องนี้มาโดยตลอดเพื่อไม่ให้ถูกมัดรวม ตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ครั้งแรกๆ ที่เคยเอ่ยปากขอให้ที่ประชุมบันทึกการประชุมทุกคำพูดและความเห็นของตัวเอง ตลอดจนไม่เข้าร่วมประชุมในวันที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวเห็นชอบโครงการเพื่อส่งเข้าครม. อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายไม่ได้แปลกใจกับท่าทีของผู้ว่าฯ ธปท. เพราะเสมอต้นเสมอปลายกับจุดยืนนี้มาตลอด
แต่เรื่องที่น่าจับตาคือ ความไม่มั่นใจจนต้องเอาพรรคร่วมรัฐบาลมาอยู่ในเฟรมของนายเศรษฐา มันชวนคิดว่า สรุปแล้วโครงการนี้ได้รับไฟเขียวจากกลุ่มอำนาจเก่าแล้ว หรือยังลูกผีลูกคนอยู่
ข้อท้วงติงของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี เมื่อวันก่อนยิ่งน่าสนใจ หากขจัดอคติว่า เป็นคนที่ไม่มีทางเห็นด้วยกับโครงการนี้อยู่แล้วออก โดย “หมอวรงค์” อ้างข้อห่วงใยของ อดีตคน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขมาตรา 9 พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.ว่าไม่สามารถนำเงินไปใช้ในโครงการนี้ได้
เพราะกำหนดให้ ธ.ก.ส.ช่วยเหลือเกษตรกรเป็นหลัก อย่างเช่น โครงการรับจำนำข้าวที่สามารถทำได้ เพราะดำเนินการภายใต้ขอบวัตถุประสงค์มาตรา 9 (1) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังมาตรา 28 ไม่ได้อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. เพราะไม่ได้เป็นโครงการ ที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม แต่โครงการมีวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจ เกษตรกรผู้รับเงิน 1 หมื่นบาท นำไปใช้จ่ายดำรงชีวิตทั่วไป ไม่ได้นำไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างชัดเจน
ไม่ได้เป็นโครงการที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ เพราะเกษตรกรผู้รับเงิน 1 หมื่นบาท สามารถนำไปใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ จึงไม่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบกิจการเพื่อเพิ่มรายได้
ไม่ได้เป็นโครงการที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามกฎกระทรวง ท้ายมาตรา 9 ขยายความมาตรา 9 (1) ข้อ (ง) นี้ จะต้องเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับการศึกษา การอบรม การดูงาน การรักษาพยาบาล การปรับปรุงการจัดหาที่อยู่อาศัยเท่านั้น
ไม่เพียง นพ.วรงค์ เท่านั้น แต่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ก็เห็นไปในทางเดียวกันว่าจะขัดต่อที่มาตรา 9
“คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” (Digital Wallet)” จึงเป็นนโยบายที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศที่แจกเงินแบบเหวี่ยงแหกระจาย มิใช่ดำเนินการเพื่อพัฒนาการเกษตร”
แม้อีกฝั่งจะมองว่า ทั้ง นพ.วรงค์ และ นายธีระชัย เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หรือมีปัญหากันมาก่อน ไม่แปลกที่จะต้องค้านหัวชนฝา หาข้อติติง แต่ถ้ากางกฎหมายดูจะเห็นว่า มันมีข้อชวนคิดเหมือน
ฉะนั้น ด่าน ธ.ก.ส. ที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ ที่ตอนแรกดูเหมือนง่าย แต่ไปๆ มาๆ อาจจะไม่ง่าย มีประเด็นข้อกฎหมายมาให้ชวนคิด ที่สำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ
โครงการประชานิยม อันเป็นนโยบายหาเสียงที่ชาญฉลาดของ พรรคเพื่อไทย.