สงร.ขานรับนโยบายรัฐ – รวมพล ‘ลด ดบ.0.25%’ นาน 6 ด. เริ่ม 1 พ.ค.นี้
สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมแบงก์สมาชิก “ธนาคารออมสิน – ธอส. – SME D BANK – EXIM BANK – บสย. – ธ.อิสลาม – ธ.ก.ส.” รวมใจขานรับนโยบายรัฐบาล ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.25% นาน 6 เดือน หวังช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบาง เริ่ม 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป ด้าน ผู้บริหาร ธอส. แจง นอกจากลดดอกเบี้ยแล้ว ยังหนุนคนไทยออมเงินอีก คลอดผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ “เก็บออม” ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95% จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ขณะที่ ผู้บริหาร EXIM BANK เพิ่งลดดอกเบี้ยช่วงสงกรานต์ รวมกับรอบนี้ ลดรวมมากสุดถึง 0.40%
แม้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ในการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ทว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยังคงจะใช้ความพยายามเพื่อหาทางลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในขณะนี้
โดยเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 นายกรัฐมนตรีได้เชิญให้ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย เข้าหารือถึงแนวทางในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ต่อมาภายหลัง สมาคมธนาคารไทย โดย นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมฯ แจ้งว่า ธนาคารสมาชิกฯจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR – Minimum Retail Rate) ลด 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งแต่ละธนาคารสมาชิกฯจะไปพิจารณาถึงกรอบเวลาที่เหมาะสมกันเอง
ล่าสุด ในฝั่งของ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สงร.) ก็ได้ตอบรับนโยบายของรัฐบาลเช่นเดียวกัน โดยเมื่อช่วงสายวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะ ประธาน สงร. แจ้งว่า ตามที่รัฐบาลโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายช่วยเหลือบรรเทาภาระของลูกค้ารายย่อยนั้น ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ที่ประชุมฯมีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล
โดย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกันลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25% อันได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR – Minimum Retail Rate) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) และ อัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR – Standard Profit Rate for Prime Retail Customer) เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
ในขณะที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรร่วมลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้มีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วก่อนหน้านี้
“สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารสมาชิกฯ ตระหนักถึงภาระต้นทุนทางการเงินของประชาชนและสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวในขณะนี้ โดยสมาคมฯ พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการทางการเงินต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้น เพื่อบรรเทาภาระและช่วยเสริมสภาพคล่องในครัวเรือน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายวิทัย ย้ำ
ด้าน นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% ต่อปี จากเดิม 6.795% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.545% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้ากว่า 1.8 ล้านบัญชี รวมถึงลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย และลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ให้มีเงินเหลือเพียงพอในการดำรงชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ธอส. ยังพร้อมสนับสนุนการออมภาคประชาชน ให้มีวินัยทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการออมเงินที่ได้รับผลตอบแทนสูง จึงได้จัดทำผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ “เก็บออม” เพียงเปิดบัญชีเงินฝากขั้นต่ำ 500 บาทขึ้นไป และมีวงเงินฝากคงเหลือไม่เกิน 200,000 บาท จะได้รับ อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.95% ต่อปี (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) พิเศษ! ดอกเบี้ยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากปีละ 2 ครั้ง (29 มิถุนายน และ 29 ธันวาคม)
ผู้ที่สนใจ สามารถ เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ “เก็บออม” ได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม – 30 ธันวาคม 2567 หรือจนกว่าจะเต็มกรอบวงเงินโครงการ ณ สาขาธนาคารทั่วประเทศ ทั้งนี้ ธอส.ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” โดยตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี ได้ทำให้ คนไทยมีที่อยู่อาศัยแล้วมากกว่า 4.4 ล้านครอบครัว พร้อมให้บริการลูกค้าทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ G H Bank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application : GHB ALL GEN และ www.ghbank.co.th.
ขณะที่ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 6.60% เหลือ 6.35% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ EXIM BANK ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์) นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางและ SMEs โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ในครั้งนี้เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.15% ต่อปีเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เพื่อเป็นของขวัญแก่ผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และเมื่อรวมกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ EXIM BANK จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 0.40% ต่อปี เพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และ SMEs สอดคล้องกับภารกิจของ EXIM BANK ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ บรรเทาภาระหนี้และต้นทุนทางธุรกิจ และสามารถปรับตัวให้แข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืนในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ช้าลง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง