สวนทุเรียน ‘ลุงแกละ’ ยุค ‘นวัตกรรม’ ความสำเร็จที่ไม่ทิ้งเพื่อนไว้ข้างหลัง!

ต่อเนื่องจากการลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงาน…สวนทุเรียนในจังหวัดระยอง ของ คณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง ภายใต้การนำของ นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ และ นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ รวมถึง เจ้าหน้าที่ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1 ที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้

คราวนี้ลองไปดูกันต่อที่ “สวนทุเรียนลุงแกละ ต่อยอดจากลูกค้า สู่ Young Smart Farmer” บ้าง…

ตัวละครสำคัญของเรื่อง คงไม่พ้น…เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ถูกขนานนามให้เป็น Young Smart Farmer ซึ่งได้ ต่อยอดธุรกิจการเกษตร และองค์ความรู้ของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ผสานนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ และบูรณาการองค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน จนกลายเป็น “ต้นแบบ” แห่งการเรียนรู้ของเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ จากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย

และตัวละครสำคัญที่ว่า ก็คือ นายนิธิภัทร์ ทองอ่อน  หรือ “โอ๋” ทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ของ ลุงแกละ (นายสำรวย ทองอ่อน) เจ้าของสวนลุงแกละ นั่นเอง….

นายนิธิภัทร์ เล่าเท้าความถึงที่มาการทำธุรกิจสวนทุเรียนยุคใหม่ว่า เริ่มต้นมาเมื่อหลายสิบปีก่อนหน้านี้ จากสมัยคุณปู่ ต่อเนื่องจนถึงยุคของคุณพ่อ ที่แต่เดิมเน้นการทำธุรกิจการเกษตรแบบผสมผสาน มีการเพาะปลูกทุเรียน เงาะ ลองกอง ขนนุ และยางพารา บนพื้นที่ขนาด 60 ไร่ ในพื้นที่ตำบลวังจันทร์ อำเภอวังจนัทร์ จังหวัดระยอง             

ความที่ตัวเขาคลุกคลีอยู่กับงานในสวนผลไม้ตั้งแต่วันเยาว์ ทำให้คุ้นชินกับกระบวนการการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำเท่าที่เกษตรกรรุ่นเก่าจะทำได้ ทว่าหลังจากเรียนจบทางด้านวิศกรรมและทำงานในสายงานที่เรียนมาอยู่สักระยะหนึ่ง จนเมื่อ 8 ปีก่อน จึงได้เบนเข็มมาสานต่อภารกิจที่พ่อแม่ในวันสูงวัยทำไว้ นั่นคือ…สานต่อธุรกิจการเกษตร เพียงแต่ครั้งนี้…เขาได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้กับสวนเกษตรของพ่อและแม่

“เห็นคุณพ่อคุณแม่…ท่านมีอายุมากขึ้นทุกวัน ประกอบการงานในสวนค่อนข้างจะหนัก และมีความเสี่ยงจากการพ่นปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ซึ่งต้องใช้เวลามากถึง 3 วันกว่าจะฉีดพ่นได้ครับทั้ง 60 ไร่ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมคิดจะนำเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาช่วยงานในสวน และแบ่งเบาภาระของ โดยสั่งซื้อเครื่องจักรฯมือสองที่นำเข้าจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งช่วงแรกๆ คุณพ่อคุณแม่…ท่านไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับความคิดนี้…สักเท่าใด

“โอ๋” เล่าต่อไปว่า…แต่หลังจากสั่งซื้อรถพ่นยาอัตโนมัติ ทั้งที่เป็นแบบธรรมดาและแอร์บัสมาใช้ นอกจากช่วยประหยัดเวลาการฉีดพ่นยาฯ จากเดิม 3 วันเหลือเพียงครึ่งวันแล้ว ยังช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย เนื่องจากประสิทธิภาพการฉีดพ่นฯที่มีสูง ทำให้เกิดความสูญเสียระหว่างฉีดพ่นฯด้วยวิธีเดิมๆ น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้น ก็คือ สุขภาพของแรงงานในสวนฯ ซึ่งก็คือ คุณพ่อและคุณแม่ ดีขึ้นอย่างมาก เพราะไม่ต้องเสี่ยงกับสารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ เวลาที่ใช้ในการฉีดพ่นฯน้อยลง ทำให้มีเวลาเหลือมากถึง 2 วันครึ่ง เพียงพอจะนำไปใช้ทำงานในภารกิจอื่นๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการวางแผนการดำเนินงาน เพื่อช่วยลดความสูญเสีย, เพิ่มผลผลิตและสร้างมาตรฐานคุณภาพของผลผลิตได้ดีมากขึ้น

จาก…รถพ่นยาฯ ถึงรถตัดหญ้ามือสอง ที่ “โอ๋” สั่งซื้อและนำมาใช้สวน ซึ่งตอนนี้…เน้นไปที่การเพาะปลูกทุเรียนเป็นหลัก และเป็น… “ลุงแกละและภรรยา” ที่เริ่มมีความคิดคล้อยตามบุตรชายโทนคนนี้ไปข้างแล้ว เนื่องจากเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนในทิศทางที่ดีขึ้น กระทั่ง เป็น “ลุงแกะ” เสียเอง ที่เสนอให้มีการนำรถกระเช้ามือสองเข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยวผลผลิต (ทุเรียน) ในสวนแห่งนี้ เพื่อแก้ปัญหาทุเรียนที่อยู่จุดยอดสุดของลำต้น ซึ่งที่ผ่านมา…หากไม่ตัดทิ้ง ก็ต้องปล่อยให้ตกหล่นลงมาเอง

จากเดิมที่เคยใช้วิธีการเดิมๆ และได้ผลผลิตต่อไร่ราว 1 ตัน ก็ขยับปรับเพิ่มไปเป็น 2-3 ตันต่อไร่ เมื่อมีการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ ซึ่งหมายความว่า…ผลผลิตทุเรียนจาก “สวนลุงแกละ” ในยุคของ “โอ๋” นั้น สามารถจะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากถึง 2-3 เท่าตัวเลยทีเดียว!!!

“นอกจากการนำเครื่องมือและเครื่องจักรกลยุคใหม่มาช่วยแล้ว เรายังได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้จัดทำเอาไว้ มาปรับใช้ในการทำงานกับสวนทุเรียนของเรา ไม่ว่าจะเป็นการนำแอปพลเคชั่นเกี่ยวกับการตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพดินฟ้าอากาศ การตรวจสอบสภาพความชื้น การตรวจสอบแมลงศัตรูพืช และอื่นๆ ซึ่งมีผลทำให้ผลผลิตที่ได้มีมาตรฐานคุณภาพและปริมาณเพียงพอกับความต้องการของตลาด อีกทั้งยังทำให้สามารถวางแผนการผลิตเพื่อให้มีผลผลิตออกมาในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน (นอกฤดู) ซึ่งช่วยให้เรามีระยะเวลาการขายสินค้าเกษตรได้ยาวนานขึ้น” ทายาทลุงแกละ ระบุ

แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ผูกพันอยู่กับนวัตกรรมเทคโนโลยี ทว่า “โอ๋” ก็ไม่ละเลยหรือหลงลืมที่จะนำภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่ามาปรับใช้กับงานในสวนทุเรียนยุคของเขา กล่าวคือ ภูมิปัญญาการนำ “ลูกเหม็น” มาใช้เพื่อการขับไล่แมลงศัตรูพืช กระทั่ง แนวคิดขยายวงกว้างออกไปยังสวนอื่นๆ และพื้นที่อื่นๆ จนกลายเป็นภาวะ “ขาดตลาด” ในบางส่วนเวลา อันเนื่องมาจากเกษตรกรมีความต้องการสั่งซื้อ “ลูกเหม็น” เหมือนเช่นที่ “สวนลุงแกละ” ได้นำร่องเอาไว้แล้วนั่นเอง

การผสมผสานแนวคิด ระหว่าง…กุศโลบายของคนรุ่นเก่า เข้ากับนวัตกรรมเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ ยังผลให้ก่อเกิดเป็นความสำเร็จ ทั้งในเชิงปริมาณ (ผลผลิตต่อไร) และเชิงคุณภาพ (สดใหม่และปลอดภัย) กระทั่ง กลายเป็นรายได้และผลกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงที่ยังยึดโยงอยู่กับแนวทางเดิมๆ

และความเป็นที่ “โอ๋” เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ แต่ เปิดใจกว้าง น้อมรับกับภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่า ทำให้ตัวเขากลายเป็น “ไอดอล” ของเกษตรกรอื่นๆ ไม่เฉพาะในพื้นที่จังหวัดระยองหรือภาคตะวันออก แต่ยังรวมถึงเกษตรกรจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ที่ต่างก็ขอคำปรึกษา ทั้งจากช่องทางปกติ รวมถึงช่องทางใหม่ๆ ผ่านโลกโซเชียลมีเดียอย่างมากมาย โดยเขาจะใช้เวลาหลังเลิกงาน…ช่วงค่ำๆ ตอบทุกคำถามและข้อสงสัย รวมถึงแนะนำในสิ่งที่คิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเหล่านั้น

ด้วยความคิดที่ว่า… “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ทำให้ “โอ๋” คาดหวังจะนำพาเกษตรกรรุ่นเก่า-ใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียง ก้าวเข้าสู่ความเป็น Smart Farmer ไปด้วยกัน ด้วยหวังจะเห็นการต่อยอดความสำเร็จที่เขาได้รับในเบื้องต้นนี้…กระจายไปยังสวนต่างๆ ทั้งที่อยู่ใกล้และห่างไกลออกไป

หนึ่งในนั้น เขามีความคิดเรื่อง “แปลงใหญ่ทุเรียน” รวมอยู่ด้วย โดย “โอ๋” ให้เหตุผลว่า…การทำ แปลงใหญ่ทุเรียน มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะดึงเอาเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ได้ก้าวไปสู่ความเป็น Smart Farmer ไม่ว่าจะเป็นYoung หรือOld ก็ตาม ซึ่งนั่นจะทำให้ผลผลิตที่ได้ มีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทำให้สามารถกำหนดทิศทางการตลาดและช่องทางการจำหน่ายได้ง่ายขึ้น

สำหรับ สวนทุเรียน “ลุงแกละ” นั้น “โอ๋” บอกว่า…เขาเตรียมจะขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน จากเดิมที่มีราว 60 ไร่เศษ ขยับขึ้นไปเป็น 100 ไร่ในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ โดยระหว่างนี้…เขาได้เจรจาติดต่อขอซื้อที่ดินบริเวณด้านหลัง และด้านหน้า “สวนลุงแกละ” ไว้แล้วรวมกันประมาณ 10 ไร่เศษ โดยมีเป้าหมายจะใช้บริการสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ประมาณ 5 ล้านบาทสำหรับภารกิจใหม่นับจากนี้

ซึ่งก็นับเป็นสัญญาณที่ดี ที่ คณะผู้บริหารของ ธ.ก.ส. นำโดย นายสมเกียรติ พร้อมจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าอีกไม่นานนับจากนี้…เราอาจจะได้เห็น ความเป็น “ต้นแบบ” ของ “สวนทุเรียนลุงแกะ” ได้รับการต่อยอดความสำเร็จไปยังสวนทุเรียน รวมถึงสวนผลไม้และสวนเกษตรอื่นๆ อย่างที่ควรจะเป็น!.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password