หอค้าฯไทย-จีนแนะรัฐเร่งคุยหาช่องส่งออกทุเรียนด่วน!

หอการค้าไทย-จีนฉายภาพอนาคตเศรษฐกิจไทย หลังวิกฤต “รัสเซีย-ยูเครน” เชื่อ! ไม่ขยายผลกลายเป็นสงคราม แต่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยแน่ หวั่นจีดีพีไทยปีนี้ หดเหลือโตแค่ 1% เศษ แนะทางการไทยเร่งหารือจีน สร้างจุดผ่อนปรนนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย โดยเฉพาะทุเรียน พ่วงเปิดเส้นทางการบินตรงระหว่าง เผย! เตรียมเดินทางพบ ก.พาณิชย์ แล้ว ส่วนการค้า 2 ชาติ ไทยขาดดุลการค้าจีน ช่วง ม.ค.-ก.พ.ไปแล้วกว่า 6.8 พันล้านเหรียญ มั่นใจทุนจีนย้ายมาไทยชัวร์

วันที่ 8 เมษายน 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ชั้น 9 อาคารหอการค้าไทย-จีน นายณรงค์ศักดิ์  พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารฯ ร่วมแถลงข่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย ภายหลังเกิดสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกและของไทย ว่า หากไม่มีปัญหาดังกล่าว เชื่อว่าสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่เมื่อมีประเด็นรัสเซียและยูเครน และชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย ยิ่งเพิ่มปัญหาในหลายมิติต่อระบบเศรษฐกิจโลกและของไทย โดยเฉพาะปัญหาราคาพลังงาน (ราคาน้ำมันดิบ) ที่ขยับจาก 50 ดอลลาร์ต่อบาเรล เป็น 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล และขึ้นลงตามสถานการณ์ ส่งผลให้ราคาต้นทุนการส่งขนสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

“ถึงไม่มีปัญหาระหว่างดอลลาร์รัสเซียและยูเครน ผู้นำเข้าและส่งออกก็ประสบปัญหาการขนาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อยู่แล้ว ก่อนหน้ามีผู้ประกอบการขนส่งทางทะเลรายใหญ่ของไทย ประสบปัญหาในคลองสุเอช ยิ่งทำให้เกิดความขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าเพิ่มมากยิ่ง และเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งในยุโรปตะวันออก ยิ่งทำให้ต้นทุนการขนส่งทั้งภายในและนอกประเทศยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจที่เริ่มจะฟื้นตัวจากปัญหาโควิดฯ กลับมาประเด็นปัจจัยลบอีก” ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน กล่าวและว่า

สถานการณ์จากนี้ไป ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่ขยายผลจนกลายเป็นสงครามวงกว้าง แต่ก็น่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกและของไทย เชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2565 จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน หนักสุดจีดีพีอาจเหลือ 1% กว่าๆ ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม หากทุกฝ่ายเตรียมการวางแผนรับมือล่วงหน้า โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยมีผลไม้ตามฤดู เช่น ทุเรียน มะม่วง เงาะ และอื่นๆ ออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ ก็ควรที่หน่วยงานภาครัฐของไทย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร (กระทรวงการคลัง) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรจะไปหารือ หรือขอคำปรึกษากับหน่วยงานของรัฐบาลจีน คือ กรมศุลกากรจีน หรือแม้แต่ องค์กรตรวจสอบและรับรองคุณภาพจีน (CCIC) ซึ่งมีหน้าที่เป็น “เซอร์เวย์เยอร์” ในการสำรวจและตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออกไปยังจีน เพื่อสร้างช่องทางในการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นที่ต้องการของคนจีน ไปยังตลาดจีน เพราะหากไม่ดำเนินการในลักษณะรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งจะมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือแล้ว โอกาสที่ด่านศุลกากรจีน ซึ่งมีเพียงแค่ 6 ด่านในการส่งออกผลไม้ไทย จะมีมาตรการกักกันสินค้าเกษตรจนกลายเป็นความเสียหายขึ้นมาได้

ปกติศุลกากรจีนสามารถกักกันสินค้าเกษตรจากนอกประเทศได้ไม่เกิน 6 ชม. แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิดฯ เขาสามารถจะกักกันในนานกว่านั้น ซึ่งจะทำให้ผลไม้ของไทยเกิดการเน่าเสียได้ ผมและคณะกรรมการฯจะไปยื่นข้อเสนอให้หน่วยงานภาครัฐของไทย เร่งเจรจากับกรมศุลกากรจีน เพื่อสร้างช่องทางในการส่งออกผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน เพราะหากไม่เตรียมการล่วงหน้า เชื่อว่าจะส่งผลเสียต่อการส่งออกทุเรียนอย่างแน่นอน” นายณรงค์ศักดิ์ ระบุ

สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้ง “รัสเซีย-ยูเครน” กระทั่ง มีกระแสข่าว ชาติยักษ์ใหญ่ในเอเชีย สั่งซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซีย ที่ถูกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกานั้น ส่วนตัวเชื่อว่า ชาติยักษ์ใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย สามารถทำได้ เพราะมีอำนาจต่อรองกับชาติตะวันตก แต่กับชาติในอาเซียนเชื่อว่าจะต้องระมัดระวังในเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตกับชาติตะวันตกด้วย ดังนั้น การจะนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย ที่แม้จะมีราคาถูกกว่าราคาในตลาดโลก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายของชาติอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย

“หอการค้าไทยจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาด้านการเมืองระหว่างประเทศ เราสนใจเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและการค้าเท่านั้น” ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน ย้ำ

สำหรับด้าน การค้าระหว่างไทยและจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และจีนยังคงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย 9 ปี ติดต่อกัน โดยในช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565) ของปีนี้ พบว่า มีการขยายตัว 16% คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 17,095 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 18% ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ ไทยส่งออกสินค้าไปจีน ขยายตัว 4.78% แต่มีการนำเข้าจากจีน ขยายตัว 21.73% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า สูงถึง 6,815 ล้านเหรียญสหรัฐ  

ผม และคณะกรรมการบริหารหอการค้าไทย-จีน  คาดหวังว่าจะสามารถนำคณะไปเยือนประเทศจีน หลังจากการแพร่ระบาด โควิด-19  มีสถานการณ์ดีขึ้น และจีนมีนโนบายเปิดประเทศต้อนรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่มีข้อจำกัด เช่น มาตรการการกักตัว และมีการเพิ่มเที่ยวบินตรง ระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองสำคัญๆ ของจีน” นายณรงค์ศักดิ์ ย้ำและว่า

แม้รัฐบาลไทยจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว แต่นักท่องเที่ยวจีนยังมาไทยได้ไม่มาก ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายห้ามเดินทางออกนอกประเทศของทางการจีน อีกส่วนหนึ่งคือ เที่ยวบินตรงจากไทยไปจีนและจีนมาไทย ยังมีน้อยและมีราคาแพง จากเดิมที่ค่าตั๋วเครื่องบินจาก “มณฑลกวางตุ้ง-กรุงเทพฯ” เฉลี่ยราว 2-3 หมื่นบาท ก็ขยับขึ้นไปถึงกว่า 1 แสนบาท ซึ่งราคานี้ แพงเกินกว่าจะนักท่องเที่ยวจีนจะยอมจ่าย ขณะเดียวกันเที่ยวบินตรงระหว่างกันก็มีน้อยมาก ดังนั้น ทางการไทยควรจะเดินสายเชิญชวนนักท่องเที่ยวจีนให้มาท่องเที่ยวในไทย ควบคู่ไปกับเร่งเปิดเส้นทางการบินตรงระหว่างกันให้มากเส้นทางและต้องทำอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังเชื่อว่า การค้าระหว่างไทยกับจีน ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก โดยขอหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจสัก 2 -3 ประเด็นเพื่อตอกย้ำแนวคิดข้างต้น กล่าวคือ…

ประเด็นแรก คือ การใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565  เป็นต้นมา โดยในช่วงสองเดือนแรกของปี 2565 นี้  มีรายงานจากกรมการค้าต่างประเทศของไทย ระบุว่า  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ผู้ประกอบการไทยมีการใช้ประโยชน์จาก ความตกลง RCEP ส่งออกไปยังตลาดหลัก  คือ ญี่ปุ่น  จีน  และเกาหลีใต้  และมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยมีการส่งออกไปญี่ปุ่น  540.36 ล้านบาท จีน 453.95 ล้านบาท

และเกาหลีใต้ 171.21 ล้านบาท

“เป็นที่น่าสังเกตว่า  ผู้ส่งออกไทยไปจีน ภายใต้ความตกลง RCEP ส่วนใหญ่ได้รับการลดภาษีในระดับที่เท่ากับกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน  คือ เป็น 0% แต่เนื่องจาก ความตกลง RCEP มีข้อกำหนดเรื่องการตรวจปล่อยสินค้าที่ชัดเจน คือ กรณีที่เป็นสินค้าเน่าเสียง่าย จะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากร ภายใน  6 ชั่วโมง และสำหรับสินค้าทั่วไปให้การตรวจปล่อยภายใน 48 ชั่วโมง จึงคาดว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกของไทย มาขอให้สิทธิภายใต้ RCEP กันมากขึ้น  เนื่องจากสามารถวางแผนการนำเข้าส่งอออกสินค้าล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น  โดยเฉพาะสินค้า ผลไม้สด เช่น ทุเรียนสด ฝรั่ง มะม่วง มังคุด ลำไย ลิ้นจี่  เงาะ ลางสาด มะพร้าวทั้งกะลา   ตลอดจน มันสำปะหลัง  และ รถยนต์และยานยนต์ขนส่งบุคคล เป็นต้น”

ประเด็นที่สอง คือ การเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว-ไทย เป็นโอกาสที่สำคัญ ในการส่งเสริมกระจายสินค้าไทยเข้าไปยังประเทศจีนอีกช่องทางหนึ่ง  โดยเฉพาะพื้นที่มณฑลตอนในของจีน นอกจากนี้ จากการเยือนจีนของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เมื่อวันที่ 2 เมษายน  ทางรัฐบาลจีน ยังเน้นความสำคัญ “การเร่งรัดก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ให้เชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว”  ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพด้านบริการโลจิสติกส์ของประเทศ ต่อไป

ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ  หอการค้าไทย-จีน  รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ประกออบการชาวจีนโลก (WCEC) สมัยที่ 16  ระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2566 ที่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการชาวจีนจากทั่วโลก กว่า 3,000 คน เข้าร่วมประชุม และสำรวจลู่ทางการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวในประเทศไทย

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดประชุม WCEC สมัยที่ 16 ในปีหน้านี้ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังจากการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากนักธุรกิจจีนโพ้นทะเลยที่เดินทางมาจากทั่วโลก จะพาครอบครัวมาท่องเที่ยวในไทยนานกว่า 3 วันของการประชุมฯอย่างแน่นอน โดยจะดูลู่ทางในการลงทุนในไทยในโอกาสต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของไทยตามมา ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไทย ผมเชื่อว่าจะยังคงเกื้อกูลกันแบบฉันท์พี่น้อง ยิ่งปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนเมื่อช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ ยิ่งทำให้นักลงทุนจีนเลือกที่จะเข้ามาลงในไทยมากยิ่งขึ้น ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน กล่าวสรุป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password