แจงผลตัวแทนไทยร่วมถกเวทีระดับโลก – ชี้! จีดีพีอาเซียน+3 โตเกินค่าเฉลี่ยของโลก

“โฆษกคลัง” แจงผล “ผู้ว่าการสำรองชั่วคราวของไทย” ร่วมประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 57  การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง 2 – 5 พ.ค.67 ณ กรุงทบิลิซี จอร์เจีย เผย! ประธาน ADB เรียกร้องสมาชิกร่วมมือแก้ 4 ปัญหาใหญ่ “สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกระทบความมั่นคงอาหาร, ระวังการใช้ AI, เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือการเงินชาติยากจน” มั่นใจจีดีพีกลุ่มชาติอาเซียน +3 ขยายตัวปีนี้ 4.5% ส่วนปีหน้า 4.2% สูงกว่าค่าเฉลี่ยจีดีพีโลก แนะจับตาปัจจัยเสี่ยงระยะต่างๆ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะ ผู้ว่าการสำรองชั่วคราวของไทยในธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB ครั้งที่ 57 (การประชุมฯ) การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2 – 5 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย สรุปได้ ดังนี้

1. พิธีเปิดการประชุมฯ ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 โดย นาย Makatsugu Asakawa ประธาน ADB ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ ให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือ โดยพัฒนาการแก้ไขปัญหาที่สำคัญต่าง ๆ ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรมซึ่งนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร (2) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่างระมัดระวังและเท่าเทียมเพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุม (3) การขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (4) การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศที่ยากจนที่สุดและมีความเปราะบาง

2. การประชุม Business Session ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 โดย ประธาน ADB รายงานผลการดำเนินงาน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกรับมือกับความท้าทายกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาความขัดแย้ง ความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมถึงปัญหาภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง ผู้ว่าการ ADB ของประเทศ สมาชิกได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและแนวนโยบายการดำเนินงานของ ADB ภายใต้แนวคิด Bridge to the Future” ในการพัฒนาการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค รวมถึงได้มีการเรียกร้องให้ ADB ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาและรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก ซึ่งต้องการความช่วยเหลือทางการเงินแบบให้เปล่า (Grants) อย่างทั่วถึง ในการนี้ ADB ได้ขอบคุณประเทศสมาชิกผู้บริจาค ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ได้แสดงเจตจำนงในการบริจาคเงินเพิ่มทุนในกองทุนพัฒนาเอเชีย 14 (Asian Development Fund 14: ADF 14) ซึ่งมีขนาดกองทุนสูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีช่วงระยะเวลาการดำเนินการระหว่างปี 2568 – 2571

3. การประชุมเต็มคณะของสภาผู้ว่าการ ADB (ADB Governors’ Plenary Session) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ From Billions to Trillions – Promoting Private Sector Development for Climate Change” เพื่อหารือถึง แนวทางการเพิ่มศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้น การระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการการพัฒนาที่ยั่งยืน

4. การประชุม AFMGM+3 ครั้งที่ 27 ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ได้ร่วมหารือและแสดงความเห็นในประเด็น สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน+3 โดยคาดว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ในปี 2567 และร้อยละ 4.2 ในปี 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนและการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ทั้งนี้ เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 จะเติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลก และมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกถึงร้อยละ 45 ในปี 2567 – 2573 อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้น ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกและค่าขนส่งที่พุ่งสูงขึ้น ความผันผวนของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สำหรับปัจจัยเสี่ยงในระยะกลาง – ยาว ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และสังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าและมอบหมายนโยบายด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินในกรอบอาเซียน+3 ได้แก่ ทิศทางการดำเนินการในอนาคตของโครงสร้างความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาค การเสริมสร้างประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี การจัดหาเงินทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การดำเนินการของ AMRO มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย และข้อริเริ่มภายใต้กรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3

ทั้งนี้ การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB ครั้งต่อไป มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2568 ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งผู้ว่าการของไทยจะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ Procedures Committee ด้วย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password