หอการค้าไทย-จีน มุ่งกระชับความสัมพันธ์ 2 ชาติ เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทยไปตลาดจีน

ประธานหอการค้าไทย-จีน เผย! รัฐบาลจีนเปิดกว้างนำเข้าสินค้าคุณภาพส่งขายประเทศ ชี้! ตลาดจีนจะใหญ่สุดในโลก มุ่งหนุนสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยเจาะจีน เตรียมส่งธุรกิจของสมาชิกฯเพิ่มเป็น 50 รายร่วมงาน CCIE ครั้งที่ 7 ช่วงปลายปีนี้ ที่เมืองเซียงไฮ้ ระบุ! เตรียมหาตัวเลขนำเข้าสินค้าจีน ทำไทยขาดทุนมหาศาล มั่นใจส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุน นำเข้าเพื่อผลิตและส่งขายต่อในตลาดโลก ย้ำ! ทิศทางหอการค้าไทย-จีน ปี 2567-2568 เน้นกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมณฑลต่าง ๆ ของจีน คาดหวังขยายการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดจีนเพิ่มขึ้น

วันที่ 5 เมษายน 2567ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคาร Thai CC สาทร กรุงเทพฯ, หอการค้าไทย-จีน นำโดย นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการฯ เปิดแถลงข่าวว่า ในปี 2567 นี้ หอการค้าไทย-จีน ที่ก่อตั้งครบรอบ 114 ปี ยังคงบทบาทเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ ไทย-จีน ทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมและการสร้างโอกาสเข้าสู่ตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่ กว่า 1,400 ล้านคน ด้วยเหตุที่ ทางการจีน มีนโยบายส่งเสริมการเปิดกว้างระดับที่สูงขึ้นและขยายการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคคุณภาพสูง โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมูลค่า 274.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 1.95 ล้านล้านหยวน) ขยายตัว 1.2% จากปีก่อน

นอกจากนี้ สถิติเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่ามูลค่าของการนำเข้าสินค้าทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นการนำเข้าแบบขายปลีก มีมูลค่าถึง 141.77 พันล้านหยวน ในปี 2566 หรือ เพิ่มขึ้น 7%  เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น หอการค้าไทย-จีน  จึงมีแผนงานที่จะนำผู้ประกอบการไทย-จีน ในประเทศไทย  เข้าร่วมงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติ ครั้งที่ 7 (หรือ CCIE ครั้งที่ 7) มีกำหนดจัดงาน 5-10 พฤศจิกายน ที่ นครเซี่ยงไฮ้  โดยงาน CIIE นี้เป็นมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติเป็นแพลตฟอร์มที่มีความสำคัญมาก  ที่จะสร้างตลาดขนาดใหญ่ของจีนให้กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ของโลก หอการค้าไทย-จีนเชื่อมั่นว่าการร่วมงาน CIIE ครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้สินค้าอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักและสามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้สะดวกยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา หอการค้าไทย-จีน เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (หรือ WCEC) ครั้งที่ 16  ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซี่งมี นักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลก และจากประเทศไทย ราว ๆ 4,000 คน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายหลังการระบาดของโควิด-19  หอการค้าไทย-จีน มีโอกาสต้อนรับผู้นำจีนและคณะผู้แทนระดับสูงจากประเทศจีน มาอย่างต่อเนื่อง

“จากการเปิดประเทศของจีน  ได้มีโอกาสนำคณะผู้แทนหอการค้าไทย-จีน  เดินทางไปเศึกษา ดูงานและเข้าร่วมกิจกรรมการประชุม ในมณฑลต่าง ๆ ของจีน เช่น เมืองเซียะเหมิน  มณฑลฝูเจี้ยน เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง มณฑลชิงไห่  นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง มณฑลหูเป่ย  มณฑล ไห่หนาน มณฑลยูนนาน มณฑลเจ้อเจียง /มณฑลกานซู่ เป็นต้น การที่หอการค้าไทย-จีน มีโอกาสต้อนรับผู้นำจีนและคณะผู้แทนระดับสูงจากจีน และการนำคณะหอการค้าไทย-จีน เยือนมณฑลต่าง ๆ ของจีน นั้น เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และยังเป็นการส่งเสริมการขยายความร่วมมือและโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทย กับมณฑลต่าง ๆ ของจีน” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวและย้ำว่า…  

สำหรับทิศทางหอการค้าไทย-จีน ยุคใหม่ นี้  ยังคงทำหน้าที่เป็นสายใยผูกพันความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในทุกมิติ พร้อมกับช่วยเผยแพร่เรื่องราวดี ๆ ของประเทศจีน ในขณะเดียวกันก็แนะนำสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย รวมถึงผลักดันกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาจีนในประเทศไทย ผลักดันให้เกิดความร่วมมือในเชิงลึกในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการแบ่งปันโอกาสในรูปแบบจีนสมัยใหม่ ส่งเสริมการสร้างโอกาสเข้าสู่ตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่ // และสนับสนุนการสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ บนเส้นทางสายมิตรภาพไทย-จีน สืบต่อไป    

ด้านการค้าระหว่างประเทศไทยและจีน ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2567) ขยายตัว 7.15% มีมูลค่า 17,035 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของไทยไปจีน มีมูลค่า 4,555  ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 2.01% ส่วนการนำเข้าจากจีน ขยายตัว 10.94% มีมูลค่า 12,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศไทยจึงเป็นฝ่าย  ขาดดุลการค้ากับประเทศจีน 7,925 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้านำเข้าจากจีนที่สำคัญ ๆ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์  เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์  เป็นต้น

ส่วนสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดจีน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ยางพารา เป็นต้น

“สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรของไทย ยังเป็นสินค้าหลักในการนำเข้าไปขายในประเทศจีน ในส่วนของหอการค้าไทย-จีน ก็จะส่งเสริมสนับสนุนสมาชิกฯ เข้าไปร่วมงาน CCIE ครั้งที่ 7 ในปีนี้ โดยจะเพิ่มจากปีก่อนที่จัดส่งไปเพียง 20 กว่ารายเป็นประมาณ 50 รายในปีนี้ ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์เอง ก็ได้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย โดยที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เจอ ท่านภูมิธรรม เวชชยชัย (รองนายกฯและรมว.พาณิชย์) ในหลายๆ เวที ก็ได้หารือในเรื่องเกี่ยวกับการค้าไทย-จีนมาโดยตลอด ทั้งนี้ เพื่อหวังกระตุ้นและส่งเสริมให้สินค้าไทยเข้าไปวางขายในประเทศจีนนายณรงค์ศักดิ์ ย้ำ

ส่วนประเด็นที่ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง มีแนวทางจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%) สำหรับสินค้าออนไลน์ราคาไม่เกิน 1,500 บาทนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะเป็นประเด็นปัญหาและเป็นความชอบธรรมที่ต้องดำเนินการเพื่อความชอบธรรมทางการค้า เชื่อผู้ซื้อในไทยและผู้ขายจากจีนยอมรับเงื่อนไขทางภาษีนี้ได้ แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ ทางการจีนเองก็คงจะพิจารณาจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้เช่นกัน

ขณะที่ ประเด็นการขาดดุลการกับจีน เป็นมูลค่ามากนั้น นายณรงค์ศักดิ์  ย้ำว่า สินค้าส่วนใหญ่ที่ไทยนำเข้ามา จะเป็นกลุ่มเครื่องจักรกล และสินค้าวัตถุดิบ รวมถึงสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ที่ผู้ผลิตไทยสั่งนำเข้ามาเพื่อผลิตและส่งออกไปขายในต่อยังกลุ่มประเทศอื่นๆ ซึ่งหากไม่นำเข้าจากจีน ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าทุนป้อนตลาดโลก ผู้นำเข้าไทยก็ต้องสั่งจากประเทศอื่นๆ ที่อาจมีต้นทุนสูงกว่านำเข้าจากจีนอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ตนและผู้เกี่ยวข้องต่างพยายามหาตัวเลขการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรกล สินค้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากจีน เพื่อนำมาพิจาณาประกอบข้อมูลการค้าระหว่าง 2 ประเทศว่า จริงๆ ประเทศไทยได้หรือเสียประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password