ไร้เงินทอน-อดขายข้าวคนคุก ชี้! 12 ล.เสียง เปลี่ยนสหกรณ์สู่ความหวังได้

3 กูรู “ระบบสหกรณ์” แนะเลือกตั้งรอบหน้า เน้นสร้างเครือข่ายตัวแทนสหกรณ์ หนุนพรรคการเมืองที่ยืนข้างเดียวกัน ย้ำ! อย่าเลือกนักการเมืองที่หวังแค่คะแนนเสียง ด้าน “อัยการฯปรเมศวร์” เผย! เพราะขาดเงินทอน สหกรณ์เลยขายข้าวให้คนคุกไม่ได้ ขณะที่ “กิตติรันต์” ระบุ “นักรบห้องแอร์” คอยออกกติกา กลับไม่รู้จริง กลายเป็นต้นเหตุการคุมเข้ม ทำสหกรณ์อ่อนแอลง ส่วน “อดีต ผอ.กองทุนหมู่บ้าน” ชี้เป้า! 12 ล.เสียงชาวสหกรณ์ ชี้เป็นชี้ตายได้ในทางการเมือง

“เศรษฐกิจจะฟื้นหรือทรุด สหกรณ์จะหยุดวิกฤติเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร?” หัวข้อที่ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) ได้จัดเสวนาขึ้น เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติปี 2565 และครบวาระที่สหกรณ์ไทยมีอายุ 106 ปี

โดยมีวิทยาเข้างานฯ ได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะ ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และ นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย โดยมี  น.ส.จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เขตดุสิต กทม.

นายปรเมศวร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนระบบสกกรณ์จะถูกกดทับและควบคุมจากภาครัฐมากจนเกินไป ทำให้ระบบสหกรณ์ที่มีปัญหาอยู่แล้ว ยิ่งมีปัญหาเพิ่มขึ้นและถูกจำกัดการเติบโต โดยหลายๆ สหกรณ์ต่างก็ประสบปัญหาจากความเข้มข้นของกติกาและหน่วยงานที่กำกับดูแล อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ การรุกคืบของธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อที่ไม่มีการจำกัดและควบคุมทำให้ระบบสหกรณ์ต่างประสบปัญหาเรื่องการดำเนินงานมาจนถึงทุกวันนี้

ขณะเดียวกัน การที่ระบบสหกรณ์ไม่สามารถจะดำเนินการบางอย่างให้กับหน่วยงานของรัฐ จึงทำให้สูญเสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจ พร้อมกับยกตัวอย่าง กรณีของผู้ต้องขังทั่วประเทศราว 3.8 แสนคน แต่ละคนกินข้าวเฉลี่ยปีละ 100 ก.ก. ยอดสั่งซื้อข้าวสารมากขนาดนี้ หากกรมราชทัณฑ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสั่งซื้อข้าวสารจากระบบสหกรณ์เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย แต่เพราะไม่มีเงินทอน แนวคิดนี้จึงไม่ได้รับการขานรับ

“ปี 2562 สหกรณ์ทั้งประเทศ มีกำไรประมาณ 6 หมื่นล้านบาท แต่ในปี 2563 สหกรณ์ถูกบีบให้เล็กลง ถามว่ากำไรดังกล่าว ส่วนแบ่งจะไปอยู่ที่ใคร ทำให้เกิดปัญหาติดขัด ไม่ได้รับการดูแล เราจะปลดโซ่ตรวนที่มันคล้องเราได้อย่างไร นอกจากนี้คนที่มาเป็นสหกรณ์ไม่ได้มองภาพของสมาชิกแต่มองตัวเองเป็นหลัก ที่มีปัญหาการโกงเงินสหกรณ์กัน ไม่ได้เกิดจากระบบ แต่เกิดจากตัวบุคคลที่มีปัญหา” นายปรเมศร์ ระบุ และว่า การที่ระบบสหกรณ์ถูกอำนาจรัฐเข้ามากำกับดูแลและบีบบังคับอย่างมาก ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งประเทศถูกสถาบันทางการเงินแทรกแซง และทำให้สมาชิกสหกรณ์เกิดหนี้สิน ขณะที่สหกรณ์ร้านค้า พวกร้านโชว์ห่วยก็ช่วยเหลือกันไม่ได้ เพราะมีข้อกฎหมายตีกรอบไว้ 

ด้าน นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เท่าที่ได้ติดตามการดำเนินการของสหกรณ์ รู้สึกเป็นกับการกำกับดูแลที่ดูเข้ม เกินความพอดี ขณะที่ผู้กำกับธุรกิจสหกรณ์ ที่ไม่ต่างจาก “นักรบห้องแอร์” ไม่รู้จริงเรื่องสหกรณ์ แต่มาออกกฎกติ จึงทำให้ศักยภาพของสหกรณ์ลดลง ปัจจุบัน มีสหกรณ์ที่ยังดำเนินการอยู่ราว 7,000 แห่ง ดังนั้น การจะแก้ไขได้ ต้องนึกถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เลือกคนจากพรรคการเมืองที่มีนโยบายเรื่องสหกรณ์ที่จับต้องได้และไม่ทิ้งเหมือนได้คะแนนเสียงไปแล้ว จึงอยากวอนให้สมาชิกสหกรณ์อย่าเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ไม่คิดจะดูแลสหกรณ์

พร้อมกันนี้ เขาได้เสนอมุมมองในการบริหารจัดการสหกรณ์จากนี้ไปว่า อะไรที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกสหกรณ์ สามารถบริหารจัดการได้ หมายความว่าสหกรณ์นั้นๆ จะยังเข้มแข็งอยู่ และหากสหกรณ์สามารถเป็นตัวแทนเชื่อมโยงสินค้าที่สมาชิกต้องใช้ หรือจัดหาในแบบที่ราคาถูกลง คุณภาพดีขึ้น มีเงื่อนไขที่เหมาะสม ก็ควรจะส่งเสริมและผลักดันให้สิ่งนี้ได้เกิดขึ้น

รวมถึงสหกรณ์จะต้องช่วยกันขายผลผลิตและสินค้าที่ไม่ว่าจะแบรนด์หรือไม่ โดยรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ตลอดจนเสริมการตลาดจากแบรนด์อื่นมาร่วมจำหน่ายเพื่อให้ขยายไปถึงผู้บริโภคมากขึ้น โดยขอรับส่วนแบ่งในฐานะคนกลาง

“แนวคิดหรือสโลแกนพรรคการเมืองที่ผมสังกัดอยู่ มีเรื่อง “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” ซึ่งวันนี้ยังคงมีความหมายอยู่ ถ้าสหกรณ์และสมาชิกทำตามนี้ได้จริงๆ จะสามารถช่วยเข็นประเทศไทยไปข้างหน้าได้” นายกิตติรัตน์ ย้ำ

ส่วน นายรักษ์พงษ์ เสริมว่า สมาชิกสหกรณ์ราว 12 ล้านคน จะต้องเลิกฝากความหวังให้ใครมาทำตามสัญญา หรือเข้ามาเสนอความช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว พวกเราได้หวังกันมาหลายปีแล้วน่าจะทราบดีว่า หากมัวแต่รอคอยความหวังจะปีหน้าหรือปีไหนเราก็จะทำได้แค่บ่นถึงเรื่องปัญหาเดิม ๆ เหมือนเช่นวันนี้อีก จึงอยากฝากให้ชาวสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศ ได้พิจารณาถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ควรเริ่มรวมตัวกันหารือและพูดคุยค้นหาผู้แทนของตนเอง ให้เข้ามาทำเพื่อสหกรณ์อย่างแท้จริง มีแต่สมาชิกชาวสหกรณ์เท่านั้นถึงจะสามารถเข้าใจปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง อย่าปล่อยให้ใครมาครอบงำและควบคุมตนเองอีก โดยตนเองจะขอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกชาวสหกรณ์ด้วย

ถ้าสมาชิกสหกรณ์รวมตัวกันทำอะไรซักอย่าง เช่น เลือกผู้นำ ตั้งรัฐมนตรี เชื่อว่าทำได้ และสามารถแก้ปัญหาได้ นี่คือศักยภาพในแง่จำนวนคน ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องรอให้คนจำนวนน้อยมาช่วยเรา เพื่อมาดูว่าใครจะมากำกับเรา รอว่าจะแก้ไขกฎหมายเมื่อใด ใครจะสงสารเราบ้าง ใครจะทำเงินให้เราบ้าง มันไม่ถูก โดยเฉพาะสันนิบาตสหกรณ์ฯ ถือว่าเป็นผู้รวบรวมสหกรณ์ไว้ด้วยกันทั้งหมดต้องนำปลุกใจสหกรณ์ให้มารวมตัวกันทุกมิติ ลุกขึ้นมาสร้างคะแนนเสียงเพื่อเปลี่ยนแปลงกติกาเราเอง สิ่งใดที่ติดขัดก็จะสามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้ เราอย่าฝากความหวังกับคนภายนอก” นายรักษ์พงษ์ ย้ำ

ถึงตรงนี้ ดูเหมือนว่า สหกรณ์ทั่วประเทศกว่า 7 พันแห่ง และสมาชิกอีกราว 12 ล้านคน จะกลายเป็นอีกหนึ่งกลุ่มก้อนที่อยู่ในความสนใจของพรรคและนักการเมือง ในวันที่การเมืองไทยใกล้จะเข้าสู่โหมดของการเปลี่ยนแปลง และทำไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในเร็ววันนี้

รักใคร…เลือกใคร โปรดใช้ความรู้และสติปัญญา รวมถึงประสบการณ์ตรงที่เคยได้รับ มาเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจทางการเมือง ส่วนพรรคไหนที่เคยให้คำมั่นสัญญาว่า…จะอยู่คอยดูแลระบบสหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์ แต่เมื่อถึงเวลาและมีอำนาจรัฐในมือแล้ว กลับไม่คิดจะทำตามคำมั่นสัญญา ได้โปรด “กาหัว” ไว้ได้เลย

“รับเงินหมา กาเบอร์คน” ยังคงเป็นพลังประชาธิปไตยที่สำคัญ…และที่ต้องเตือนกันไว้ ณ นาทีนี้ ถึงวันที่สมาชิกสหกรณ์ทั้ง 12 ล้านคนทั่วประเทศ จำต้องพึงระลึกและจดจำไว้ นั่นคือ…เลือกคนและพรรคการเมืองที่ต่อสู้ คอยแก้ไขปัญหาให้กับระบบสหกรณ์ และยืนเคียงข้างชาวสหกรณ์ มาก่อน…เท่านั้น!!!.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password