นายกฯ แถลง “แก้หนี้ในระบบ” 16 ล้านล้าน แบ่ง 4กลุ่ม ขอทุกฝ่ายร่วมมือ
“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี แถลงแก้หนี้ในระบบ 16 ล้านล้านบาท แบ่ง “ลูกหนี้” เป็น 4 กลุ่ม คลังเตรียมทำมาตรการเฉพาะกลุ่ม เสนอ ครม.อนุมัติ พร้อมขอความร่วมมือทุกฝ่ายเร่งเดินหน้าให้สำเร็จ ภายในรัฐบาลชุดนี้
วันที่ 12 ธ.ค.2566 เวลา 14.05 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เรื่องการจัดการหนี้ทั้งระบบ โดยสรุปมีการแบ่งลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 2. กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก จนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ 3.กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง 4.กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นระยะเวลานาน
โดยกำหนดมาตรการแก้หนี้แต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1. ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มนี้โดยปกติจะมีประวัติการชำระหนี้มาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ อีกส่วนนึง บางรายเป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงโควิด เพราะต้องการเงินทุนไปหมุนเวียน แต่สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสียจนไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้
กลุ่มนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว สำหรับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. รัฐบาลจึงกำหนดให้ธนาคารทั้ง 2 แห่งติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียอีกต่อไป โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย
ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงค์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้ ได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 99 ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ นับเป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย
สำหรับกลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ โดยอาจจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยได้แก่
- กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน
– ลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ
– โอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้
– บังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี
ซึ่งทั้ง 3 แนวทางนี้ จะต้องทำพร้อมกันทั้งหมด
- กลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต
– หากเป็นหนี้เสียสามารถเข้าคลินิกแก้หนี้
– ปรับโครงสร้างหนี้ ผ่อนได้ยาวถึง 10 ปี
– ลดดอกเบี้ยจาก 16-25% เหลือ 3-5%
สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากรายได้ของพวกเค้า ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณผลผลิต/เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ รัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย เป็นต้น
สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐ มาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย
นายเศรษฐา กล่าวว่า ครั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้หลากหลายกลุ่มด้วยกัน มีทั้งมาตรการ ที่ ครม. ได้เห็นชอบไปแล้ว เช่น การพักหนี้เกษตร มาตรการที่สามารถดำเนินการขยายผลได้ทันที เช่น เรื่องหนี้ครู หนี้ข้าราชการ หนี้บัตรเครดิต หนี้เช่าซื้อรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้เริ่มเปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ซึ่งหวังว่า จะมีการติดตามเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยต่อไป อย่าให้หายเงียบ ตามแนวทางที่ตนเองได้มอบไว้
“อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุในระยะเร่งด่วน เพื่อต่อลมหายใจให้ลูกหนี้ทุกกลุ่ม ในระยะยาวควรมีการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง โดยยกระดับการให้บริการสินเชื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำแนวทางเพื่อยกระดับการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ ให้สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ได้มากขึ้น เป็นธรรม มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และป้องกันปัญหาการก่อหนี้เกินศักยภาพ”
นายกฯ ย้ำว่า ท้ายที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้สำเร็จและมีผลอย่างยั่งยืนหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมกันเสริมความรู้ ยืนยันรัฐบาลห่วงใยลูกหนี้ทุกกลุ่มและได้มีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว การดำเนินมาตรการให้สำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากลูกหนี้ เจ้าหนี้ และหน่วยงานต่างๆ หลายภาคส่วน ขอมอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้มาร่วมกันแก้หนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้ ร่วมกันสำรวจและซ่อมแซมกลไกทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจเราทำงาน เติบโต และขยายตัวต่อไปได้
ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมในการตอบคำถามสื่อมวลชนว่า การชี้แจงเรื่องหนี้ทั้งระบบ ครอบคลุม หนี้ครัวเรือนทั้ง 16 ล้านล้านบาท หมายกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพี ส่วนบัตรเครดิต ยอดหนี้รวม 540,000 ล้านบาท เป็นหนี้ที่กำลังเป็นปัญหา 67,000 ล้านใบ จากผู้ถือบัตร 23.8 ล้านใบ เป็นส่วนที่กำลังน่าห่วงใย 1.1 ล้านใบ ตัวเลขที่นายกฯ พูดถึงครอบคลุมทุกประเภท หมายถึงหนี้เกษตรกร และ SMEs ด้วย โดยจำนวนประชาชนที่เป็นปัญหาแล้วครอบคลุม 5 ล้านคน 12 ล้านบัญชี เพราะบางคนอาจจะมีหลายบัญชี.