“สรรพสามิต” ขานรับ มติครม. หนุนใช้ “เอทนาอล” ลดการปล่อยก๊าซ “เรือนกระจก”

“สรรพสามิต” ส่งเสริม “เอทานอล” นำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ลดการปล่อย “เรือนกระจก” ตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ตามที่ ครม. เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลัง และ มีมติ เมื่อ 13 มิ.ย. 2566 รับทราบ แนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น นอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อันจะเป็นการสร้างระบบนิเวศน์ เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน และ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสำหรับผู้ผลิตเอทานอลในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 กระทรวงการคลัง จึงกำหนดแนวทางการส่งเสริม การนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการผลิตเม็ดพลาสติก ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ในชั้นบรรยากาศ รวมถึงลดการใช้ปิโตรเคมีจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตเม็ดพลาสติก

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิต และ กรมศุลกากร พร้อมดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง โดยจะสนับสนุนให้นำเอทานอลไปผลิตพลาสติกชีวภาพได้ โดยกำหนดให้ผู้ใช้เอทานอลจะต้องใช้เอทานอลที่ผลิตในประเทศก่อนเป็นลำดับแรก สำหรับแนวทางในการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ สามารถสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1.จัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลภายในประเทศ ซึ่งมีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิคและการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานที่กำหนด

2.กระทรวงการคลังจะแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาปริมาณการผลิตเอทานอลที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอลจากผู้ผลิตในประเทศล่วงหน้าในแต่ละปี ในกรณีที่ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถผลิตเอทานอลได้ตรงตามมาตรฐานและไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้เอทานอล จะกำหนดปริมาณการนำเข้าเอทานอลที่จะได้รับสิทธิอากรขาเข้าในอัตราพิเศษเพื่อนำมาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ

3.ภาครัฐให้การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในประเทศให้สามารถจำหน่าย เอทานอลในราคาที่สามารถแข่งขันกับเอทานอลนำเข้าได้อย่างยั่งยืน

4.กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจะพิจารณาดำเนินการออกมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเอทานอลไปใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ

โดยคาดว่าในเบื้องต้นจะมีความต้องการใช้เอทานอลประมาณ 450 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งแนวทางการส่งเสริมเอทานอลชีวภาพในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพของเอทานอลในประเทศไทย รวมถึงเป็นการเพิ่มตลาดใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการใช้เอทานอลในภาคการขนส่งจากนโยบายการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทย มีการผลิตพลาสติกจากวัตถุดิบปิโตรเลียม ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ซึ่งหากเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นเอทานอลที่มาจากพืช เช่น อ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบชีวภาพ (Bio-based) จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จำนวนมาก โดยกระบวนการปลูกพืช เพื่อนำมาผลิตเอทานอลและนำไปใช้ในการผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพเป็นกระบวนการผลิตที่มี Carbon Footprint ต่ำ สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 15 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร จึงเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก และหากประเทศไทยสามารถปรับกระบวนการผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพได้ทั้งหมด 5 ล้านตัน จะช่วยสนับสนุนความต้องการเอทานอลมากกว่า 10,000 ล้านลิตรต่อปี ทำให้เกษตรกรและผู้ผลิตมีความมั่นใจในการลงทุนพัฒนาคุณภาพเอทานอลในประเทศให้มีมาตรฐานระดับสากล ส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งส่งผลดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากโอกาสดังกล่าว ที่สำคัญยังเป็นการตอบสนองต่อฉันทามติสากลในการลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างแท้จริง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password