นักกลยุทธ์ ‘เอกนิติ’ กับแผนยุทธศาสตร์ ‘อัพธนารักษ์’ สู่ ‘กรมเพิ่มมูลค่า – คุณค่าทรัพย์สินแผ่นดิน!’

จัดเป็น “นักกลยุทธ์” ระดับชั้นแนวหน้าของประเทศ โดยเฉพาะในเชิง การบริหารจัดการและการวางแผนงานเชิงกลยุทธ์ในส่วนของภาครัฐ ชนิดหาตัวจับได้ยากยิ่ง! สำหรับ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ คนปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้…หลายหน่วยงานภาครัฐที่ตัวเขาเคย “นั่งหัวโต๊ะ” ในฐานะ หัวหน้าส่วนราชการ โดยเฉพาะกับตำแหน่ง อธิบดีกรมสรรพากร และ อธิบดีกรมสรรพสามิต ก่อนหน้าจะเข้ารับหน้าที่ อธิบดีกรมธนารักษ์ เมื่อ 1 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ล้วนได้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ไว้อย่างมากมาย!!!

กรมสรรพากร (16 พ.ค.2561 – 30 ก.ย.2565) กับผลงานของ กรมจัดเก็บภาษีที่มีสัดส่วนรายได้นำส่งให้รัฐในแต่ละปี มากที่สุดราวร้อยละ 80 ของรายได้แผ่นดิน หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท ด้วยการ ปรับเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางการดำเนินงาน รวมถึง การปรับวางเป้าหมายใหม่ ไปสู่การดำเนินงานเพื่อการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้าน (ระหว่างนั้น…ได้เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก ในช่วงปี 2563 – 2565) เพื่อที่ข้าราชการในสังกัดราว 25,000 คน จะได้เข้าใจใน เป้าหมายและหน้าที่ตรงกัน

นั่นคือ…การทำงานที่ยึดโยงกับหลักคิด “ตรงเป้า” “ตรงกลุ่ม” และ “ตรงใจ”

กรมสรรพสามิต (1 ต.ค.2565 – 30 ก.ย.2567) ดร. เอกนิติ ได้ฝากผลงานการนำพาองค์กรไปสู่วิถีความเป็น “สรรพสามิต…กรม ESG เดินหน้าสู่ NET ZERO” โดยมุ่งหวังจะใช้แนวทางการดำเนินงานที่อิงกับ กระแสโลก มุ่งเน้นไปที่การสร้างการมีส่วนในการทำงานของข้าราชการในสังกัดฯ เข้ากับ…สิ่งแวดล้อม (E) สังคม (S) และ หลักธรรมาภิบาล (G) อีกทั้ง ยังได้นำเอา “วัตกรรมไอที” หลายอย่างมาช่วยในการดำเนินงาน

ข้างต้น…เป็นแค่ผลงานเพียงบางส่วนเท่านั้น และยังไม่นับรวมแนวคิด/ผลงานก่อนหน้านี้ ที่ ดร.เอกนิตนิ ได้เคยสร้างชื่อเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น…ผู้นำแนวคิด PPP Fast Track มาขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งสามารถลดเวลาการอนุมัติโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ จากปกติใช้เวลา 2 ปี ลงมาเหลือเพียง 9 เดือน อีกทั้งยังเป็น ผู้ริเริ่มจัดตั้ง “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย” (Thailand Future Fund : TFF) เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ช่วยลดภาระรัฐบาลในการกู้เงินและลดภาระหนี้สาธารณะ เป็นต้น

ล่าสุด ภารกิจหลักสำคัญกับกรมธนารักษ์ ที่เพิ่งนัดหมายบรรดา “ธนารักษ์จังหวัด” จากทั่วประเทศ มาเข้าร่วมประชุมฯ เพื่อพลิกบทบาทในการก้าวสู่“กรมเพิ่มมูลค่าและคุณค่าทรัพย์สินของแผ่นดิน” ผ่านกลยุทธ์ VALUE ด้วยหวังจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม พร้อมเดินหน้าประเทศสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อช่วงสายของวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา

ในเวลาต่อมา…ดร. เอกนิติ พร้อมผู้บริหารกรมธนารักษ์ ได้แนะนำพร้อมกับเปิดตัว “ทีมคณะโฆษกกรมธนารักษ์” ก่อนจะนำแถลงข่าว โดยย้ำว่า…แม้ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ได้มีการพัฒนาและยกระดับการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยบริบทโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม กรมธนารักษ์จึงได้นำมิติต่างๆ มาพิจารณา เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น  โดยใช้ กลยุทธ์ ‘VALUE’ ประกอบด้วย 5 เสาหลัก ดังนี้

เสาที่ 1 V : Value กลยุทธ์เพิ่มมูลค่าและคุณค่าที่ราชพัสดุ โดยจัดทำ Master Plan เพื่อพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม เพื่อให้การจัดประโยชน์ใช้ที่ราชพัสดุเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม   และวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ โดยในปี 2568 นี้ จะมีการทำ พื้นที่ทดลอง Sandbox ในจังหวัดนครนายก หรือ นครนายกโมเดล เพื่อเป็น “พื้นที่ต้นแบบ” นอกจากนั้น จะมีการประสานงานกับ หน่วยงานที่ครอบครองที่ราชพัสดุ ด้วยการเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้ตั้งเป้าเพิ่มรายได้และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset) ในส่วนของที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ให้สูงขึ้น 20% ภายในปี 2569

เสาที่ 2 A : Appraise กลยุทธ์เพิ่มความแม่นยําในการประเมินราคาที่ดินด้วยการพัฒนาฐานข้อมูลการประเมินราคาให้สอดคล้องกับราคาตลาดและเป็นธรรม โดยมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการประเมินราคาที่ดินเพื่อเพิ่มความถูกต้อง ทั้งนี้ กรมฯ ตั้งเป้าที่จะลดความต่างระหว่างราคาประเมินและราคาตลาดให้เหลือไม่เกิน 15% ภายในปี 2569 (ปัจจุบัน ความต่างของราคาประเมินและราคาตลาดมีสูงถึง 30-40%) นอกจากนี้ กรมฯ จะพัฒนาระบบสืบค้นราคาประเมินที่ดินออนไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลราคาประเมินได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว

“ผมได้ประสานกับทาง GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)) เพื่อให้เข้ามาช่วยในการนำภาพถ่ายและแผนที่ทางอากาศ รวมถึงนำบริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ มาช่วยในการสำรวจ และการทำรังวัดที่ดิน เพื่อการประเมินราคาที่ดินใหม่ของกรมฯ ซึ่งที่ราชพัสดุทั่วประเทศ มีรวมกันราว 12.6 ล้านไร่ แต่อยู่ในความดูแลของกรมฯจริงๆ เพียงแค่ 1 ล้านไร่เท่านั้น” อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุ

สำหรับ เสาที่ 3 L : Legacy กลยุทธ์เพิ่มคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้เหรียญกษาปณ์และพิพิธภัณฑ์ของกรมธนารักษ์ โดยจะมีการ ยกระดับการผลิตและจำหน่ายเหรียญกษาปณ์ให้เป็นมาตรฐานสากลและพัฒนาตลาดรองเพื่อเพิ่มมูลค่าเหรียญกษาปณ์ให้ตรงตามความต้องการของนักสะสมเหรียญ และนำแนวคิด ESG มาใช้ในกระบวนการผลิตเหรียญกษาปณ์เพื่อตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล นอกจากนี้ จะมีการ บูรณาการร่วมกับชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์และอนุรักษ์วัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์ของกรมฯ สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนในพื้นที่และละแวกใกล้เคียง

เสาที่ 4 U : Unity กลยุทธ์ความเป็นหนึ่งเดียวของบุคลากร ส่งเสริมบุคลากรของกรมธนารักษ์ ให้ เก่ง ดี และมีความสุข ด้วยการเพิ่มเติมทักษะที่จำเป็นทั้งในเรื่องงาน Current Skill และ Future Skill จัดตั้งโรงเรียนธนารักษ์ออนไลน์ ส่งเสริมให้บุคลากรของกรมธนารักษ์เป็นคนดี ผ่านการนําองค์กรคุณธรรมมาใช้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้ และยังส่งเสริมบุคลากรของกรมธนารักษ์ให้มีความสุข มีการสร้างองค์กรรมนียสถานที่เอื้อต่อการทํางาน และสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

เสาที่ 5 E : Efficiency กลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการให้บริการประชาชน ด้วยการปรับกระบวนการทํางานให้คล่องตัวแบบ Agile และการนำเทคโนโลยีดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูล และเอไอ (Digital, Data, AI) มาใช้ในการทำงาน โดยในปี 2568 นี้จะมีการพัฒนา ‘น้องรักษ์’ ซึ่งเป็นระบบ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่และยกระดับการให้บริการประชาชน ให้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ รวมถึงลดขั้นตอนการทำงานต่างๆ ที่ไม่จำเป็น พร้อมทั้ง  จะมีการกระจายอำนาจให้ธนารักษ์ภาค เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

สำหรับการดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวในปีนี้ กรมธนารักษ์จะพัฒนาโครงการต้นแบบในรูปแบบต่างๆ อาทิ 1) โครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ต้นแบบ โดยมีชุมชนเป็นแกนกลางเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2) โครงการร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำที่ราชพัสดุมาใช้ประโยชน์ในการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชน 3) โครงการต้นแบบพัฒนาอาคารเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม เช่น โครงการพิพิธตลาดน้อยที่ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 4) โครงการต้นแบบพลังงานสะอาด อาทิ การทำฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์  ในที่ราชพัสดุ การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร เป็นต้น

“ด้วย ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่กรมธนารักษ์ตั้งใจจะขับเคลื่อนนี้ จะเป็นการวางรากฐานสำคัญในการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าทรัพย์สินของแผ่นดิน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชน ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม สร้างความยั่งยืนต่อไป” ดร.เอกนิติ กล่าว

สำหรับ การจัดเก็บรายได้ในปีนี้ (1 ต.ค.2567 ถึงปัจจุบัน) กรมฯสามารถจัดเก็บรายได้แล้วประมาณ 9,800 ล้านบาท จากประมาณการตามเป้าหมายทั้งปีที่ 11,000 ล้านบาท (แยกเป็นรายได้จากที่ราชพัสดุ 10,600 ล้านบาท และจากเหรียญกษาปณ์อีก 400 ล้านบาท) ซึ่งทำให้สัดส่วนการจัดเก็บรายได้เกิดขึ้นแล้วราว 90% คาดว่าตลอดทั้งปี กรมฯจะสามารถจัดเก็บรายได้เกินตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

ถึงตรงนี้ “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” ต้องขอชื่นชมในเจตนารมณ์และเป้าหมายที่หนักแน่น ของ ดร.เอกนิติ ในฐานะ “อธิบดีกรมธนารักษ์” ต่อการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้กรมธนารักษ์ก้าวสู่ความเป็น “กรมเพิ่มมูลค่าและคุณค่าทรัพย์สินของแผ่นดิน” รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน รวมถึงส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เพื่อเดินหน้าประเทศสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ เช่นที่วาดหวังเอาไว้ทุกประการ

เหตุที่ต้องโฟกัสเรื่องนี้ นั่นเพราะ…ปกติแล้ว! ผู้บริหารระดับสูงหลายคน ที่ต้องหมุนเวียน…เปลี่ยนผ่านมานั่ง “เก้าอี้อธิบดีกรมธนารักษ์” ตัวนี้! เสมือนมาเพื่อการพักฟื้น รอการ “สปริงตัวเอง” ไปยังเก้าอี้…ที่อาจจะดูมีศักดิ์ศรีเหนือกว่า โดยเฉพาะ “กรมจัดเก็บภาษี”

หรือไม่แค่…นั่งทำงานนับวันรอการเกษียณอายุราชการ กันไป

แต่ไม่ใช่กับ ดร.เอกนิติ “นักกลยุทธดีเด่น” สายงานภาคราชการ ในความคิดของ “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” คนนี้ อย่างแน่นอน!!!.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password