ธนารักษ์เปิดจำหน่าย ‘เหรียญกษาปณ์-เหรียญที่ระลึก’ พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุ ‘ร.๑๐ เท่า ร.๑’

ปลัดคลังนำเปิดแถลงข่าว เปิดจำหน่าย จ่ายแลก เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 14 มกราคม 2568 จัดทำโดยกรมธนารักษ์

วันนี้ (22 พ.ค.2568) เมื่อเวลา 10.30 น. ณ พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ กรุงเทพฯ, นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกรมธนารักษ์ ร่วมแถลงข่าวการจัดทำและจำหน่ายเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 14 มกราคม 2568 ว่า ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ทรงเจริญพระชนมายุครบ 26,469 วัน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 เป็นสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ นับเป็นมหามงคลสมัยยิ่ง

กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ จึงได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกในโอกาสสำคัญอันเป็นมหามงคลในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญชนมายุ 26,469 วัน ในวันที่ 14 มกราคม 2568 ที่ทรงเจริญพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยมี เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก จำนวน 6 ชนิด และเหรียญที่ระลึก จำนวน 2 ชนิด โดยมีกำหนดเปิดจำหน่าย จ่ายแลก ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ รายได้จากการจำหน่ายเหรียญที่ระลึก หลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย

ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์ได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก จำนวน 6 ชนิด ประกอบด้วย…
1. เหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา
ทองคำความบริสุทธิ์ 99% ชนิดราคา 30,000 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 26 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญละ 70,000 บาท (ผลิตไม่เกิน 2,500 เหรียญ)
2. เหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทธรรมดา
ทองคำความบริสุทธิ์ 99% ชนิดราคา 30,000 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 26 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญละ 60,000 บาท (ผลิตไม่เกิน 2,500 เหรียญ)
3. เหรียญกษาปณ์เงิน ประเภทขัดเงา
เงินความบริสุทธิ์ 92.5% ชนิดราคา 1,000 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 มิลลิเมตร น้ำหนัก 22 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญละ 3,000 บาท (ผลิตไม่เกิน 10,000 เหรียญ)

4. เหรียญกษาปณ์เงิน ประเภทธรรมดา
เงินความบริสุทธิ์ 92.5% ชนิดราคา 1,000 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 มิลลิเมตร น้ำหนัก 22 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญละ 1,500 บาท (ผลิตไม่เกิน 10,000 เหรียญ)
5. เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ประเภทขัดเงา
ชนิดราคา 20 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญละ 300 บาท (ผลิตไม่เกิน 50,000 เหรียญ)
6. เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ประเภทธรรมดา
ชนิดราคา 20 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม จ่ายแลกราคาเหรียญละ 20 บาท (ผลิตไม่เกิน 2,000,000 เหรียญ)

สำหรับการออกแบบเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรตินั้น จะมีลวดลาย ดังนี้
เหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา
ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุย เบื้องบนระหว่างสองพระองค์มีเครื่องหมายจักรีบรมราชวงศ์อยู่ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร
ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปปทุมอุณาโลม อันเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และรูปเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 มีอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. อยู่ในขอบวงกลมซึ่งมีรัศมี เหนือรัศมีมีเลข ๑๐ ภายใต้อุณาโลมใต้รูปพระราชลัญจกรและเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 มีข้อความบอกราคาว่า “๓๐๐๐๐ บาท” ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “๑๔ มกราคม ๒๕๖๘ ประเทศไทย” และ “พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ตามลำดับ

เหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทธรรมดา
มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา
เหรียญกษาปณ์เงิน ประเภทขัดเงา
มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา เว้นแต่มีข้อความบอกราคาว่า “๑๐๐๐ บาท”

เหรียญกษาปณ์เงิน ประเภทธรรมดา
มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา เว้นแต่มีข้อความบอกราคาว่า “๑๐๐๐ บาท”
เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ประเภทขัดเงา
มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา เว้นแต่มีข้อความบอกราคาว่า “๒๐ บาท”
เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ประเภทธรรมดา
มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา เว้นแต่มีข้อความบอกราคาว่า “๒๐ บาท”
และได้จัดทำเหรียญที่ระลึก 2 ชนิด ประกอบด้วย

1. เหรียญทองแดงรมดำพ่นทรายพิเศษ
ทองแดงความบริสุทธิ์ 95% ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 70 มิลลิเมตร น้ำหนัก 150 กรัม ราคาเหรียญละ 3,000 บาท (ผลิตไม่เกิน 10,000 เหรียญ)
2. เหรียญทองแดงรมดำพ่นทรายพิเศษ
ทองแดงความบริสุทธิ์ 95% ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 มิลลิเมตร น้ำหนัก 13 กรัม ราคาเหรียญละ 200 บาท (ผลิตไม่เกิน 50,000 เหรียญ)โดยเหรียญที่ระลึกทั้ง 2 ประเภท มีลวดลายดังนี้
ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ฉลองพระองค์ครุย ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ และพระมหาสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยมีลายไทยประดิษฐ์คั่นระหว่างพระปรมาภิไธยของทั้งสองพระองค์

ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราจักรีบรมราชวงศ์ ใต้รูปตราจักรีบรมราชวงศ์มีข้อความว่า “๑๔ มกราคม ๒๕๖๘ ประเทศไทย” ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช”
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์กำหนดเปิดจำหน่าย จ่ายแลก เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ณ สถานที่ดังต่อไปนี้
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก
- กรมธนารักษ์ ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร โทร. 02 618 6340
- กองบริหารเงินตรา ถนนพหลโยธิน จังหวัดปทุมธานี โทร. 02 565 7944
- พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร โทร. 02 282 0820
- สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ 76 พื้นที่ทั่วประเทศ
- Online : www.treasury.go.th
เหรียญที่ระลึก
- กรมธนารักษ์ ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร โทร. 02 618 6340
- พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร โทร. 02 282 0820
- พิพิธบางลำพู ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพมหานคร โทร. 02 281 9812
- พิพิธตลาดน้อย ซอยภาณุรังษี เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โทร. 02 233 7390
- พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 053 224 237 – 8
- พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น โทร. 043 306 167
- พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดสงขลา โทร. 074 307 071
- สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ 76 พื้นที่ทั่วประเทศ
- Online : www.treasury.go.th
“สำหรับการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้สั่งซื้อเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารเงินตรา โทร. 02 565 7944 และ Call Center กรมธนารักษ์ โทร. 02 059 4999” นายเอกนิติ กล่าวในที่สุด.
