ยุทธศาสตร์แห่งโอกาส : “ยืนเหนือ!” เมื่อเห็นโอกาสก่อนคนอื่น
พลิกขั้ว…เปลี่ยนข้าง! ทุกอย่างล้วนมีต้นทุน? แต่หากมองเห็นโอกาสที่คุ้มค่ายิ่งกว่า เพราะยืนในจุดที่เหนือกว่าคนอื่น ก็ไม่น่าแปลกใจ หากต้องสลับฝั่ง ย้ายแนวคิด…แนวทาง สร้างโอกาสใหม่ แบบเหนือๆ
ลึกๆ ใคร? จะอยู่เบื้องหลังเบื้องลึก! สร้างความสำเร็จ…ผุด “ดีลระดับโลก” ฟื้นคืนความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ระหว่าง 2 ราชอาณาจักร “ไทย-ซาอุดิอาระเบีย” รอบใหม่ กลับคืนมาอีกครั้ง…
นั่นเรื่องนึง…
แต่เบื้องหลังความสัมพันธ์ครั้งใหม่ จากที่เคยร้างลามายาวนานกว่า 30 ปี (นับจากกรณี “ปล้นเพชรซาอุฯ” (บลูไดมอนด์) รวมถึงการฆาตกรรมนักการทูตและอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ที่เคยเกิดขึ้นในไทยช่วงปี 2532-2533) นั้น…
เกิดขึ้นในสมัยของ รัฐบาล’พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
25 มกราคม 2565 คือ…วันแรกของการฟื้นคืนความสัมพันธ์ระดับ “เอกอัครราชทูต” ระหว่าง 2 ประเทศ ครั้งใหม่อย่างเป็นทางการ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย มีโอกาสได้เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นครั้งแรก และได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร, รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย
ความสัมพันธ์ครั้งใหม่นี้ อาจนำไปสู่ความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศใน 9 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้าน…ความมั่นคง, การศึกษาและศาสนา, การค้าและการลงทุน, การท่องเที่ยว, พลังงาน, แรงงาน, อาหาร, สุขภาพ, และการกีฬา
ซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศพี่ใหญ่ของกลุ่ประเทศรอบอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ มีประชากรมากกว่า 500 ล้านคน มีกำลังซื้อรวมกันอีกหลายล้านล้านบาท
นอกจาก ซาอุดิอาระเบีย แล้ว ยังมี ยูเออี, การ์ตา, คูเวต, บาเรน และโอมาน ที่ประชากร (ส่วนใหญ่) มีเชื้อชาติและศาสนาเดียวกัน มีความสัมพันธ์ฉันญาติมิตร มีความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติและค่านิยมคล้ายๆ กัน
กล่าวกันว่า…หากใครสามารถเจาะตลาดสินค้าของซาอุดีอาระเบียได้ นั่นก็หมายความว่า…พวกเขามีโอกาสสูงที่จะเจาะตลาดของคนในกลุ่มประเทศรอบอ่าวที่เหลือได้เช่นกัน
น่าสนใจอย่างมากกับ นโยบายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ผ่าน “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะในด้าน…พลังงาน นวัตกรรม โทรคมนาคม อวกาศ เทคโนโลยีสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ
ทั้งหมดนี้…ต้องยอมรับว่า ไทยมีความพร้อมรองรับนโยบายข้างต้นอย่างมาก เนื่องจากเรามีทรัพยากรมนุษย์ มีองค์ความรู้ มีสถานศึกษา รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ รองรับ เช่น…โครงการ EEC (โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ในภาคตะวันออก
พักเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ทิ้งไว้ก่อน…
อีกด้านหนึ่ง… รัฐบาลไทย ในยุคของ พลเอกประยุทธ์ เอง ก็มี แผนจะสานฝันครั้งยิ่งใหญ่? สานต่อ “โครงการที่ไปต่อไม่ได้” อย่าง โครงการขุดคลองกระ เชื่อม 2 ฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย กับอีกฝั่งด้านทะเลอันดามัน
โครงการใหม่ที่อาจผุดขึ้นมาแทนที่ คือ “แลนด์บริดจ์” (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย) ที่มีมูลค่าการลงทุนนับล้านล้านบาท
โครงการนี้แตกต่างจาก โครงการขุดคลองกระ ที่แม้ฝ่ายผู้สนับสนุน…จะเปลี่ยนชื่อเป็น “คลองไทย” หรือ “คลองภูมิพล” เพื่อถวายเป็น…พระนามเกียรติยศแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วก็ตาม แต่เพราะ…ความสุ่มเสี่ยงทั้งในด้านความมั่งคง รวมถึง ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดทางธรรมชาติ ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเป็นจำนวนมากในพื้นรายรอบโครงการ
โครงการขุดคลองกระ จึงไปต่อไม่ได้…
ชัดเจน!
และที่แตกต่าง ก็เพราะ...โครงการ “แลนด์บริดจ์” มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงมากกว่า! และเป็น…หน่วยงานระดับชาติ อย่าง สนข. หรือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ที่พร้อมจะอาสารับบท “เป็นเจ้าภาพ” ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯนี้อย่างเป็นทางการ
“ปัญญา ชูพานิช” ผอ. สนข. เคยแถลงข่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ถึงความคืบหน้าโครงการ “แลนด์บริดจ์” ว่า “ขณะนี้ สนข.ได้ศึกษาจุดที่ตั้งของการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบริเวณฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทยแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีที่ตั้งฝั่งอันดามันอยู่แหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และฝั่งอ่าวไทยอยู่แหลมริ่ว จังหวัดชุมพร โดยโครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์นอกจากจะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับสายการเดินเรือขนส่งสินค้าจากทั่วโลกแล้ว ยังจะมีการพัฒนาโครงการโลจิสติกส์อื่นๆ เพื่อสนับสนุนการขนส่งตู้สินค้าจากท่าเรือทั่งสองแห่ง โดยทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร – ระนอง เช่นเดียวกับกรมทางหลวง(ทล.) จะพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร – ระนอง (MR8)”
สำหรับ การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน “แลนด์บริดจ์” นั้น สนข.ประเมินจะจัดใช้วงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) รวม 1.4 แสนล้านบาท และ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท
อีกทั้ง สนข.ยังมีแผนดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เบื้องต้น สนข.จะจัดตั้ง สำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) เช่นที่เคยทำ พ.ร.บ.EEC เพื่อใช้ขับเคลื่อนโครงการ EEC
โดยเตรียมจะเสนอร่าง พ.ร.บ.SEC พร้อมเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ ไปยังสภาผู้แทนราษฎร พ่วงไปกับการจัดทำเอกสารประกวดราคา (อาร์เอฟพี) เพื่อคัดเลือกผู้ลงทุน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2567 หากการจัดตั้งสำนักงานฯแล้วเสร็จ
หาก ร่าง พ.ร.บ. SEC มีผลบังคับใช้แล้ว สนข.จะมอบหมายให้ทางสำนักงาน SECเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ต่อไป
ย้อนกลับไปที่เรื่อง…การฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง โดยเฉพาะบางเรื่องใน 9 เรื่องที่ทั้ง 2 ประเทศจะได้รับประโยชน์สูงสุด
โฟกัสไปที่ปม…การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศผ่าน “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” โดยเฉพาะในด้านพลังงาน นวัตกรรม โทรคมนาคม อวกาศ เทคโนโลยีสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ
เรื่องนี้…หากนำมาผูกโยงกับ โครงการ “แลนด์ บริดจ์” และ SEC แล้ว ประเทศไทยมีโอกาสสูงมากที่จะรองรับแผนการขยายการลงทุนต่างประเทศของรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและไม่ใช่น้ำมัน
เช่นกัน! สิ่งนี้….ก็จะสร้างประโยชน์อย่างมหาศาล ทั้งต่อ…ระบบเศรษฐกิจไทย ต่อธุรกิจ อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนของไทย รวมถึงแรงงานไทยและชาวบ้านในพื้นที่อย่างมากมาย
ผมไม่รู้สึกแปลก! ที่เหตุใด? อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ถึงอยากจะได้ความเป็น “แกนนำ” ในการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ จนยอมหักทิ้งได้แม้กระทั่ง…ฐานเสียงฝ่ายประชาธิปไตย ที่มีรวมกันมากเกือบ 30 ล้านคน
นั่นเพราะพวกเขามองโอกาสอันดีเช่นนี้ ในขณะที่คนอื่นๆ ยังมองไม่เห็นและอ่านไม่ออกนั่นเอง
โดยเฉพาะ แผนการลงทุนด้วยงบประมาณแรกเริ่มหลายแสนล้านบาท ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างโรงกลั่นและเก็บน้ำมันขนาดยักษ์ในพื้นที่ SEC ภาคใต้ของไทย.
สุเมธ จันสุตะ
emai : schansuta@gmaill.com