ยุทธศาสตร์แห่งโอกาส : ‘รบ.เศรษฐา 1’ พลิกวิกฤติสู่โอกาส! ลดแรงเสียดทาน 27 ล. ‘โหวตเตอร์ ปชต.’
ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกราก! บนความไม่พอใจของเหล่า “โหวตเตอร์-ประชาธิปไตย” 27 ล้านเสียง ที่กึ่งหนึ่ง…เลือกพรรคแกนนำ “รัฐบาลเศรษฐา 1” มาเพื่อขับไล่ระบบเก่า จำเป็นที่หัวหน้ารัฐบาล “นายกฯนิด” จำต้องวางกลยุทธ์ผ่านโครงการสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ลดกระแสแรงบีบเหล่านั้น และนี่ คือข้อเสนอ…กับการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส!
การถือกำเนิดของ “รัฐบาลเศรษฐา 1” ที่มี นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” หรือ “นิด” ชายที่มีส่วนสูงมากถึง 192 ซ.ม. ในวัย 60 ปีเศษ และมี พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำร่วมกับอีกหลายพรรคร่วมรัฐบาล ที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นชุดรัฐบาลก่อนหน้านี้
เปลี่ยนหัว! แต่ลำตัว แขน และขา แม้กระทั่งบางส่วนของความคิด…สติปัญญา ยังคงใกล้เคียงสิ่งมีชีวิตเดิม
สร้างความผิดหวังกับประชาชน…ผู้เป็น “โหวตเตอร์ – ประชาธิปไตย” ของ 2 พรรคใหญ่รวมกัน 27 ล้านเสียง ที่วาดฝันจะเห็น…รัฐบาลประชาธิปไตย “ไม่มีลุงและหลาน” มาอยู่ร่วม “รัฐนาวาลำใหม่”
เมื่อเกิด วิกฤติรัฐสภา? ผลพวงจาก รัฐธรรมนูญ 2560 และเครือข่าย ส.ว. ที่ไร้ฐานรากจากประชาชน จึงนำสู่ ข้ออ้างสุดพิศดารจากพรรคเพื่อไทย ที่ “โหวตเตอร์” ส่วนใหญ่…คงอยากจะเข้าใจและทำใจยอมรับได้
ท่ามกลางกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก! ทั้งจาก “ปัจจัยลบ” ภายนอกและในประเทศ จำเป็นที่ “หัวหน้ารัฐบาล”…จำต้องทำทุก กุศโลบาย…เพื่อลดทอนกระแสความไม่พอใจจากคนในประเทศ ที่รู้สึกผิดหวังอย่างแรง กับการถือกำเนิดขึ้นมาของ “รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว” ชุดนี้
นโยบายการเมืองที่จะถูกแปรเปลี่ยนเป็น “นโยบายรัฐบาล” อาจต้องแยกระดับความเร่งด่วนที่แตกต่างกัน
ของด่วนๆ ที่ “รัฐบาลเศรษฐา-1” และ “นายกฯนิด” อาจต้องเร่งดำเนินการ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ คงไม่พ้น…นโยบายดิจิตอลวอลเล็ต หรือ “แจกเงินดิจิทัล” 10,000 บาท ให้กับคนไทย วัย 16 ปีเต็มขึ้นไป รวมไม่ต่ำกว่า 50 ล้านคน หมายความว่า…รัฐบาลฯจะต้องหาเงินมาใช้ในส่วนนี้มากกว่า 5 แสนล้านบาท
“สติธร ธนานิธิโชติ” ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ว่า…นโยบายดิจิตอลวอลเล็ต ผลักดันไม่ยากเนื่องจากเป็นโครงการเฉพาะหน้า ที่ใช้งบกลางและงบประมาณที่เหลือบางส่วนมาผสมกัน น่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และการเป็นนโยบายเฉพาะหน้า เฉพาะกิจ จะทำให้คนรู้สึกว่ารัฐบาลเข้ามาก็สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้เลย แต่โจทย์ต่อไปคือหลังจากนั้นจะทำอย่างไร เพราะนโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมากเต็มที่แค่ 6 เดือน
ส่วนตัว...ไม่รู้สึกเป็นห่วงกับการใช้เงินงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว เนื่องจากส่วนใหญ่จะใช้จากงบกลาง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อกระทรวงอื่นๆ ในโควต้าของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งนโยบายดิจิตอลวอลเล็ต น่าจะส่งผลดีต่อพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลในระยะสั้น เพราะการเกิดขึ้นของรัฐบาลชุดนี้ ถูกตั้งบนสถานการณ์ที่คนไม่พอใจเยอะ เนื่องจากมีการข้ามขั้วมาจับมือกัน ดังนั้น การที่จะผลักนโยบายอะไรออกไป ที่จะสามารถเห็นผลได้ทันทีโดยเร็วก็จะสามารถลดกระแสต่อต้านเหล่านี้ได้ซึ่งก็เป็นผลดี
“ในระยะสั้นอาจจะเป็นผลดีแต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไปก็คือนอกจากนโยบายดิจิตอลวอลเล็ตแล้ว ยังมีนโยบายอื่นที่พรรคเพื่อไทยต้องพิสูจน์ตัวเองกับการเดิมพันตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ซึ่งน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่” นั่นคือ…คำเตือนจากนักวิชาการนี้
หันดูทาง ฟากฝั่งเอกชน “เบอร์ใหญ่” อย่าง…“สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ส่งสัญญาณถึง รัฐบาลชุดใหม่ ให้ใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของชาวบ้าน
หลายเรื่องที่เขาเสนอไว้…เพิ่มโอกาสในชีวิตกับประชาชน และลดต้นทุนการผลิตของภาคเอกชน ผ่านมาตรการและโครงการรัฐ เช่น…เพิ่มอำนาจการซื้อให้ประชาชน (อันนี้ “ดิจิทัล วอลเลต” น่าจะตอบโจทย์ได้ดี) ลดราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ฯลฯ ควบคู่ไปกับ ลดต้นทุนการผลิตของภาคเอกชน สร้างโอกาสในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก
ผมเห็นด้วย…กับ “สติธร ธนานิธิโชติ” และ “สนั่น อังอุบลกุล” แต่มากกว่าไปกว่านั้น…“นายกฯนิด” และ “รัฐบาลเศรษฐา 1” จำเป็นจะต้อง…วางยุทธศาสตร์ระยะกลางและยาวไปพร้อมๆ กัน
หลายโครงการที่ “รัฐบาลเพื่อไทย” ในอดีต ย้อนหลังไปไกลได้ถึง “รัฐบาลไทยรักไทย” ที่เคยทำไว้ดีแล้ว…ก็ควรจะนำกลับมาปัดฝุ่น…ปรับใช้กันใหม่
กาศประกาศสงครามกับความยากจน, ประกาศสงครามยาเสพติด, โครงการโอทอป, กองทุนหมู่บ้านฯ ที่วันนี้ (ก็) มี แต่ดูเหมือนไม่มี! และอื่นๆ ในสมัย “รัฐบาลทักษิณ”
หรือ ปัดฝุ่นกับโครงการต่างๆ ในยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ไม่ว่าจะเป็น…การเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายต่างๆ ที่วันนี้…อืดอาดเป็น “เต่าคลาน”
โครงการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร (10 โมดูล) ที่วันนี้…ต้นทุนก่อสร้างในโครงการฯที่เคยตั้งไว้เมื่อ 10 ปีก่อน ราว 3.5 แสนล้านบาท คงพุ่งสูงขึ้นไปเยอะ! แต่ก็ยังจำเป็นสำหรับประเทศที่ต้อง “ตั้งงบประมาณ” ในการแก้ไข “ปัญหาภัยแล้ง” ต่อด้วย “ปัญหาน้ำท่วม” ในเวลาใกล้เคียงกัน
และ อีกหนึ่งโครงการที่จะหลงลืมไม่ได้เลย นั่นคือ…โครงการรับจำนำข้าว
หากไม่มี การทำรัฐประหาร…ยึดอำนาจ เมื่อ 22 พ.ค.2557 แล้ว ไม่เพียงโครงการนี้…จะไม่เกิดความเสียหายมากมาย! เช่นที่ฝ่ายยึดอำนาจฯ อ้างว่า…มีสูงนับหลายแสนล้านบาท เพราะถ้าเดินหน้าจนสิ้นสุดโครงการฯ ไม่เพียง…เกษตรกรชาวนาจะลืมตาอ้าปากได้ หากแต่ระบบและกลไกลเศรษฐกิจของประเทศ ยังจะเติบโตกล้าแกร่ง
“รัฐบาลเศรษฐา 1” ต้องคิดการณ์ใหญ่! และให้น้ำหนักกับ “คนส่วนใหญ่” ของประเทศ มากกว่า…กลุ่มนายทุนและพ่อค้าคนกลาง ที่คอยเอาเปรียบ จากการ “ทำนาบนหลังคน” มายาวนานหลายสิบปี
หากยังจำกรณี อดีตพนักงานสาว ธ.ก.ส. “ชญาดา ตระกูลรุ่งเรือง” คนที่อดรนทนไม่ได้กับ ความอยุติธรรม และออกมาแฉ “ข้อเท็จจริง” ในโครงการรับจำนำข้าว กระทั่ง ถูกต้นสังกัด ธ.ก.ส. บีบจนต้องลาออก ตามหลังมาด้วยคดีความต่างๆ อีกมากมาย
แม้ในเวลาต่อมา เธอจะชนะคดี! แต่ปมที่ถูก ต้นสังกัดฯเดิม กระทำย่ำยี…ใส่สี ป้ายความผิดต่างๆ นานา ก็ไม่ควรที่ รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และเป็น ต้นสังกัดใหม่ ของ “ชญาดา” (สมาชิกพรรคฯ) จะหลีกเลี่ยง
แล้วยังต้อง…เร่งทำภาพความจริงให้ปรากฏ พร้อมกับเรียกคืนความชอบธรรม! ทั้งของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” และ “อดีตพนักงานสาวฯ” กลับมา…โดยเร็ว!
ความดำมืด! ภายในธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแห่งนี้ มีอะไรให้ “รัฐบาลเศรษฐา 1” และ “นายกฯนิด” ที่อาจต้องนั่งควบเก้าอี้ “ขุนคลัง” รับบทเป็น “ประธานบอร์ ธ.ก.ส.” โดยตำแหน่ง จะต้องเร่ง…สร้างแสงสว่างไล่ความดำมืดโดยพลัน!
นอกจาก…โครงการเก่าของพรรคเพื่อไทย (รวมถึง…พรรคไทยรักไทย) แล้ว โครงการดีๆ ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ ได้จัดทำเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น…
โครงการ EEC ภาคตะวันออก, โครงการแลนด์บริดจ์ ภาคใต้, โครงการรถไฟความเร็วสูง สายอีสาน สายเหนือ รวมถึงสายตะวันออก เชื่อม 3 สนามบิน และโครงการอื่นๆ ที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์…สั้น กลาง และยาว นั้น
ก็ไม่ควรจะปล่อยปละละเลยกันไป! เนื่องจาก…ทุกโครงการที่รัฐบาลในอดีต เคยทำและลงทุนเอาไว้ คิดเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล จำต้องสานต่อให้จบ และจบแบบมีกลยุทธ์ กล่าวคือ…มาใช้และสร้างโอกาสให้กับทุกภาคส่วนของสังคมไทย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคม ได้อย่างแท้จริง!!!
แม้กระทั่ง ในชั้น…ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การดึงดูเงินลงทุนจากต่างประเทศ หรือการนำเข้า แรงงานระดับ “มันสมอง” และ แรงงานทั้งที่ “มีฝีมือและไร้ฝีมือ” เพื่อมาทำงานในส่วนที่คนไทย…ทำไม่ได้ หรือไม่คิดจะทำ
ทั้งหลายทั้งปวง หาก “นายกฯนิด” และ “รัฐบาลเศรษฐา 1” ที่มี พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำฯ ค่อยๆ ดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีแบบแผน
อะไรถูกคือถูก! อะไรผิดคือผิด! ส่วนตัวผมยังเชื่อว่า…เหล่านี้จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนไทยและธุรกิจไทย รวมถึงเติมเต็มความเข็มแข็งของระบบเศรษฐกิจไทย
ที่สำคัญ…ใดๆ ที่เคยเป็นความขุ่นข้องหมองใจกับพฤติการณ์ในทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
เมื่อโอกาสและความสำเร็จเกิดขึ้น! สิ่งนี้…อาจลดทอนกระแสความเดือดพล่าน! ของ “โหวตเตอร์-ประชาธิปไตย” ลงได้บ้าง
มากไปกว่านั้น…นี่อาจแปรเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสในวันข้างหน้า…ก็เป็นได้!!!
สุเมธ จันสุตะ
Email : schansuta@gmail.com