‘พิธา’ ปฐมนิเทศ นศ.ใหม่มธ. ปลุกถึงเวลาต้องคิดใหญ่ ‘กล้าคิด-กล้าฝัน-กล้าออกนอกกรอบ’
‘พิธา’ร่วมปฐมนิเทศเพื่อนใหม่ “ธรรมศาสตร์”หายป่วยเต้นแจวเรือไปสภา แซวอาจารย์ถือเป็น’จังหวะนรก’เป็นถึงแคนดิเดตนายกฯ ชนะเลือกตั้ง แต่แทนที่จะได้เข้าไปทำงานในทำเนียบ กลับต้องมาบรรยายประชาธิปไตย ปลุกรุ่นน้องถึงเวลาต้องคิดใหญ่ กล้าคิด-กล้าฝัน-กล้าออกนอกกรอบ พร้อมชู 3 หลักการ ประชาธิปไตย-เสรีภาพ-ความยุติธรรม ย้ำจิตวิญญาณที่ธรรมศาสตร์ปลูกฝังกลายเป็นวิถีก้าวไกลในวันนี้ ชี้ตาชั่งต้องหยุดแกว่ง หลักการต้องแม่น
วันที่ 4 ส.ค.66 ที่หอประชุมใหญ่ อาคารกิตติยาคาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เชิญ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ ที่อยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ชั่วคราว เข้าร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศและเป็นวิทยากรนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประจำปีการศึกษา 2566 รวมถึงพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆกับนักศึกษาในฐานะศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
ก่อนการขึ้นบรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาใหม่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ร่วมเต้นแจวเรือในช่วงกิจกรรมสันทนาการ อย่างสนุกสนาน หัวเราะมีความสุขร่วมกับกิจกรรมของน้องๆนักศึกษาซึ่งทางกองสันทนาการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ใช้คำว่า “แจวเรือจะไปสภา ขอเชิญพิธาลุกขึ้นมาแจว” จากนั้นนายพิธา ขึ้นเวทีกล่าวว่า “ไหนขอเสียงลูกแม่โดมหน่อย”ขอบคุณทุกคนที่เชิญตนมาในวันนี้ สำหรับตนแล้ว รู้สึกว่าบรรยากาศแบบนี้ไม่ได้นานเท่าไหร่ ที่ผมเคยนั่งง่วงอยู่ข้างหลัง ห้ามถามว่านานเท่าไหร่แล้ว ห้ามถามว่ารหัสอะไรด้วย บอกได้อย่างเดียวว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ BBA7” เวลาไปหาเสียงคนก็เข้ามาถาม มาบอกตลอดว่าเป็นรุ่นน้องของพี่ BBA30-40กว่า ก็ต้องขอบคุณมากที่บอกว่าตนเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว
นายพิธา กล่าวต่อว่า สำหรับวันนี้มาด้วยความรู้สึกยินดีและอิจฉาไปในตัว ยินดีที่ได้กลับมาสู่บรรยากาศ และพลังงานแบบเหลืองแดง ชาวลูกแม่โดมแบบธรรมศาสตร์ ขณะเดียวกันก็รู้สึกอิจฉาที่ไม่มีโอกาสที่จะได้มาอยู่ในลักษณะแบบนี้ทุกวันต่อไปในอีกสี่ปีที่จะถึง “4 ปีของผมกับ 4 ปีของคุณไม่เท่ากันเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังเพราะอะไร”
ทั้งนี้ ด้วยความคิดถึง และด้วยความทะนุถนอม ที่ตนเคยมีสมัยเป็นนักเรียน ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าผู้บริหารหรืออาจารย์จะรู้สึกรักและทะนุถนอมตนเหมือนอย่างที่ตนรักธรรมศาสตร์หรือไม่ เพราะหัวข้อที่ได้มาพูดในวันนี้คือเรื่องประชาธิปไตยเสรีภาพและความยุติธรรม
“ใจคออาจารย์ จะให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. รวบรวมเสียงได้ 312เสียง แต่รัฐสภาปัดตกไป ทำให้เข้าบ้านใหม่ที่ชื่อทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ มาพูดเรื่องนี้จริงๆเหรอครับอาจารย์ ถ้าเป็นภาษาผม และอาจารย์จะเรียกว่า บัดเหมาะเคราะห์ดี ที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แทนที่วันนี้จะอภิปรายอยู่ในสภา กลับได้มีโอกาสมาเจอกับเพื่อนใหม่ที่ธรรมศาสตร์แห่งนี้ แต่ถ้าเป็นภาษาของเพื่อนใหม่จะใช้คำว่าจังหวะนรก จังหวะโบ๊ะบ๊ะ ที่เลือกหัวข้อให้ผมมาพูดประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนอยากจะพูดเกี่ยวกับ 3 หลักสำคัญนี้ ที่กลายมาเป็นวิถีก้าวไกล ตั้งแต่เขายุบอดีตอนาคตใหม่ แทบจะไม่ต่างกันเลยในวิธีการทำงานทางการเมือง กับ สิ่งที่ธรรมศาสตร์ได้สอนตนมา และไม่ใช่แค่คนคนเดียว แต่คือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ,ปิยบุตร แสงกนกกุล , เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร , ศิริกัญญา ตันสกุล , รังสิมันต์ โรม ที่รวมการตั้งพรรคการเมืองเพื่อให้ 3 คำที่ธรรมศาสตร์ปลูกฝังออกมา เหมือนเป็นธาตุธาตุหนึ่ง เป็น DNA ของพรรคก้าวไกล ซึ่งมีความใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าที่ ตนได้เรียนรู้หลังจากออกจากธรรมศาสตร์ในช่วงเวลาที่เรียนหนังสือ 4 ปี และไปอยู่ในรัฐสภาไทยเป็นเวลา 4 ปี เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสำคัญที่ทำให้มาพบกันในวันนี้
“วันที่ผมนั่งอยู่ในที่ที่พวกคุณนั่งอยู่ ทั่วโลกประชาธิปไตยตอนนั้น เป็นประชาธิปไตยมากกว่า 50% แต่วันนี้ตัวเลขเดิม ความเป็นประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นโลกไหน ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ไม่ว่าจะเป็นประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วถอยหลังหมด ตอนนี้ทั่วโลกเป็นประชาธิปไตยเต็มใบได้แค่ 20%” นายพิธา กล่าว และว่า ในขณะเดียวกัน เรื่องของความยุติธรรม เรื่องความเหลื่อมล้ำ สมัยตนที่นั่งอยู่ที่นักศึกษานั่งอยู่ ความเหลื่อมล้ำ หรือความยุติธรรมในการเข้าถึงทรัพยากร ความเข้าถึงรายได้ต่างกัน 8 เท่า ตอนนี้ตัวเลขนั้นคือ 16 เท่า
“ 1% ของคนที่รวยที่สุดในโลกใบนี้เป็นเจ้าของ ทรัพย์สิน 50% ของโลกใบนี้ คน 50% ของโลกใบนี้ มีสัดส่วนการถือครองทรัพย์สินเพียงแค่ 2% เท่านั้น อันนี้คือความแตกต่างระหว่างที่ที่ผมนั่งอยู่และพวกคุณนั่งอยู่ ห่างกันเพียงแค่ 20 กว่าปี” นายพิธา กล่าว ก่อนกล่าวติดตลกว่า ในที่สุดก็กล่าวมาแล้วว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รหัส 41 เป็นตัวเลขที่น่ากลัวกว่าความเหลื่อมล้ำ” ทำให้นักศึกษาที่นั่งอยู่หัวเราะฮือฮา
นายพิธา ระบุว่า ความสำคัญที่เรามาพบกันในวันนี้คือสิ่งเก่าที่เกิดขึ้น ประชาธิปไตยที่ผมรู้จัก ระบบทุนนิยมที่ผมรู้จัก เสรีภาพที่ผมรู้จัก กำลังถูกทำลายลง ในขณะที่สิ่งใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นยังไม่สำเร็จ ตอนนี้เราไม่มีฉันทามติ ในขณะที่โลกเป็นโลกใบใหม่ เป็นโลกที่เรียกว่า New Notmal เป็นโลกที่มีแต่ความปกติ ถ้าเราไม่มีฉันทามติสำหรับความปกติใหม่นั้น ว่าประชาธิปไตยที่จริงแล้วคืออะไร สิทธิเสรีภาพคืออะไร และความยุติธรรมคืออะไร ง่ายๆ ประชาธิปไตยคือระบบที่ทำให้ความแตกต่าง ที่ทำให้ความสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยคิดถึง 1 Man 1 Vote ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน ยึดโยงกัน ประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในประเทศนี้
แต่การที่จะเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเขาแค่ไม่มีเป็นองค์ประชุม คนที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่คนเลือกมากที่สุด สามารถจัดตั้งรัฐบาล เป็นตัวแทนกว่า 27 ล้านเสียง เพียงแค่วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่สิ ลากตั้ง แค่ไม่มาประชุม เขาสัญญากับผมว่าเขาเห็นด้วยเสียงข้างมาก และจะโหวตตาม แต่วันที่มีการโหวตจริง กลับอยู่ประเทศญี่ปุ่น อยู่ยุโรป แค่ไม่มาเป็นองค์ประชุมสามารถล้มแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มาจากพี่น้องประชาชนได้ แล้วเราอยู่ในระบบประชาธิปไตยที่บอกว่าคนเท่ากัน” นายพิธา กล่าว
“แต่ในขณะเดียวกันมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คนสามารถบอกได้ สามารถโหวตสวนได้ สามารถตรวจสอบคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีได้แต่ขณะเดียวกันใครเป็นคนตรวจสอบของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แล้วเราจะเลือกตั้งไปทำไม” ายพิธา กล่าว และ ย้ำว่า อันนี้เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเจออยู่ประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เผด็จการสมัยใหม่เลือกใช้มีการเลือกตั้ง แต่ใช้เงื่อนไขทางกฏหมาย องค์กรอิสระที่ไม่รู้ว่าจะอิสระจริงหรือไม่ ยับยั้งประชาธิปไตย เสรีภาพหรือความสามารถในการแสดงออก ความสามารถในการกำหนดชีวิตตัวเอง ความสามารถในการกำหนดอนาคตของตัวเองโดยที่ไม่มีอุปสรรคใดมาขัดขวาง ตราบใดที่ไม่ไปกระทบกับเสรีภาพของประชาชนคนอื่นที่มีสิทธิมีเสียงเท่ากัน
สมัยนี้สิทธิเสรีภาพในการหายใจยังเป็นปัญหาอย่าว่าแต่สิทธิเสรีภาพในการที่จะรัก ไม่ว่าคุณจะมีเพศสภาพเป็นอย่างไร สิทธิเสรีภาพในการทำมาหากิน เปลี่ยนวัตถุดิบจากภูมิภาคทั่วประเทศ อย่างโภคภัณฑ์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ อย่างสุราก้าวหน้า ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีมูลค่าตลาดกว่า 4 แสนล้านบาทเท่ากับญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นมีผู้ผลิต 2 หมื่นล้านราย แต่ประเทศไทยมีผู้ผลิตอยู่ 7 ราย
“นี่คือสิ่งที่สมัยรุ่นของผมกับรุ่นของคุณต่างกันอย่างสิ้นเชิง เป็นคำถามใหม่ๆ ที่โลกใบใหม่ต้องการคนรุ่นใหม่อย่างพวกคุณ ต้องการพลังงานอย่างพวกคุณ ที่จะมานิยาม 3 สิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะสิ่งที่เป็นธาตุ สิ่งที่เป็น DNA ของธรรมศาสตร์ ก็คือเรียนรู้อดีต ศึกษาสิ่งที่เป็นปัจจุบัน และ Innovate สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต” นายพิธา กล่าว
“แล้วมันน่าเหลือเชื่อเหลือเกินว่าเป็นสิ่งที่น่าเจ็บใจเมื่อผมอายุ 18 เท่าพวกคุณ ผมมีความฝันอยากจะเห็นประชาธิปไตย มีความฝันที่ยิ่งใหญ่อยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่เต็มใบ แต่ขณะนั้นปัญหาเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง อยากเห็นว่าเกิดการกระจายตัวออกจากภาคการเงิน และผ่านไป 24-25 ปีผมต้องขึ้นมาพูดในเวทีนี้ ในนิยามที่มันลดลงในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม มันเกิดอะไรขึ้น” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต้องย้อนไปที่ความเบ่งบานของประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับทุนนิยมสมัยใหม่ ในขณะที่ประชาธิปไตยต้องการกระจายอำนาจออกให้มากที่สุด กระจายอำนาจ ให้อำนาจประชาธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ขณะเดียวกัน ทุนนิยมสมัยใหม่ทำให้เกิดการกระจุกตัว ความเป็นธรรมหายไป ไปกระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่คน แม้กระทั่งความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรมที่เข้าสู่อำนาจ ดังนั้นต้องพูดให้ชัดว่าความยุติธรรมคืออะไร ผิดจริงหรือไม่ และเป็นธรรมหรือไม่
“ตาชั่งแกว่งต้องยุติ หยุดแกว่ง หลักการต้องแม่นทุกอย่างต้องชัด และเมื่อหยุดแล้วต้องเที่ยงธรรมไม่เอนไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ไม่ใช่ว่าคุกไว้เพื่อขังคนจน วงเล็บคนที่เห็นต่างกับผู้มีอำนาจ” นายพิธา กล่าว และย้ำว่า ทั้งหมดทั้งปวงนี้เป็นสิ่งที่ธรรมศาสตร์สอนตนมา ธรรมศาสตร์บอกตนว่าเป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ธรรมศาสตร์สอนตนว่าตนรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ตนรักประชาชน สีเหลืองคือธรรมที่อยู่ในใจ แดงคือเลือดเนื้อเชื้อไขที่อยู่ในตัวของเรามา
ทั้งนี้ นายพิธา ตั้งข้อสงสัยว่าจะมีศิษย์เก่าอยู่ในการเมืองน้อยเกินไปหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญ 5 ท่านก็เป็นศิษย์เก่าในธรรมศาสตร์ด้วยเช่นเดียวกัน ตนคิดว่าสิ่งเหล่านี้ที่พวกเราต้องช่วยกันที่จะต้องเป็นพลังงานของคนรุ่นใหม่ ถึงเวลาที่จะต้องคิดใหญ่ สิ่งที่ตนรู้สึกใช้คำว่าผิดหวังกับตัวเองก็คงไม่ถูก แต่สิ่งที่ย้อนกลับไปได้แล้วทำให้ดีกว่านี้คือคิดให้ใหญ่กว่านี้ ทำให้ดีกว่านี้ เพราะว่าสมัยที่ตนเรียน ตนก็นอนอย่างเดียวเหมือนกัน และรู้สึกว่าอยากจะเรียนให้มันจบๆ เพื่อรับปริญญา แต่สิ่งที่ขาดไปคือความสามารถที่จะคิดให้ใหญ่และคิดให้ลึก และใช้เวลา 4 ปี ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ไม่ว่าคุณจะเรียนวิศวะ คุณก็ต้องไปศึกษา ว่าจะต้องทำอย่างไรให้น้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ ถ้าคุณเรียนด้านธุรกิจ ก็ต้องศึกษาว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำขององค์การคมนาคมได้อย่างไร ถ้าคุณเรียนแพทย์ คุณก็ต้องศึกษาว่า จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้านสาธารณสุขได้อย่างไร
และคุณจะต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้สิทธิการแสดงออกเกิดขึ้นอย่างเสรีภาพให้ได้ ทำให้เกิดนวัตกรรมซอร์ฟเพาเวอร์ อันนี้เป็นสิ่งที่โลกกำลังต้องการอย่างยิ่ง และโลกใบนี้ต้องการคนรุ่นใหม่ เพื่อผลักให้สิ่งเก่าๆออกไป แล้วเปิดโอกาสให้สิ่งใหม่ๆขึ้นมา เพื่อให้รู้ว่าประชาธิปไตยและเสรีภาพคืออะไร การยุติความขัดแย้ง อย่างเป็นธรรม เขาทำกันอย่างไร ทำให้คนมีความเสมอภาค ทางด้านกฏหมาย
สุดท้ายนี้อยากจะขอเชิญชวนทุกคน อยากให้เรียนรู้ประสบการณ์จากนอกห้อง ฟังได้แต่อย่าเพิ่งเชื่อ และอย่าให้ใครมาบอก ว่าความสามารถของคุณ มีอยู่แค่นี้ และอย่าให้ใครมาบอกว่าคุณ จะเป็นในสิ่งที่คุณอยากเป็นไม่ได้ เพราะว่านี่คือโลกใบใหม่ ที่คุณต้องเชื่อ อยู่ตลอดเวลา ว่าคุณสามารถเป็นไปตามเส้นทาง ที่คุณอยากจะเป็น และสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้กับโลกใบนี้ได้
“และประสบการณ์ที่ผมได้เรียนรู้ จากการเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากประสบการณ์ความรู้แล้ว ผมยังได้รับจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ มันคือธาตุอะไรบางอย่าง ที่มีความเป็นภารดรภาพ เสรีภาพ และพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อประชาชน และสร้างนิยาม ของคำว่าประชาธิปไตยเต็มใบ ให้ความยุติธรรมเสมอภาค ทางด้านกฏหมายได้เกิดขึ้น และเสรีภาพในการกำหนดอนาคตของตนเองและเพื่อนๆ” นายพิธา กล่าว
สุดท้ายนายพิธา ได้ขออวยพรให้เฟรชชี่ทุกคนภายในงาน ได้ประสบความสำเร็จ ขอให้ทุกคนกล้าคิด กล้าฝัน กล้าที่จะทำอะไรให้ออกนอกกรอบ และคุณต้องอยู่ไม่เป็น เพราะถ้าทุกคนอยู่เป็น โลกไม่มีวันเปลี่ยน ทั้งนี้ หลังจากบรรยาย นายพิธาได้ร่วมภ่ายภาพเซลฟี่กับคณาจารย์ และน้องๆนักศึกษา โดยได้รับเสียงกรี๊ด ให้กำลังใจ และยกกระบองลมสีส้มให้กำลังใจ.