“สว.สมชาย” ยกกฎหมายแพ่ง มัด “พิธา” เป็นเจ้าของหุ้น ITV สมบูรณ์แล้ว
“สมชาย แสวงการ” ยกกม.แพ่ง ชี้ เจ้าของมรดกเสียชีวิต”พิธา” คือหนึ่งในทายาทโดยธรรม หุ้นนั้นตกเป็นของพิธาด้วยทันทีที่บิดาเสียชีวิต จี้ กกต.ส่งศาลรธน.วินิจฉัย ขณะ รองผอ.ส.ส.ท. ชี้ ไอทีวี เลิกกิจการแล้ว ตอนนี้รักษาสถานะเพื่อฟ้องสปน.
วันที่ 10 พ.ค.2566 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสถา โพสต์เฟซบุ๊กกรณีมีการตรวจสอบพบข้อมูลว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้น บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ว่า คดีพิธา ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ
คดีพิธา ถือหุ้นสื่อ itv 42,000หุ้น จะอ้างเรื่องการเป็นผู้จัดการมรดกตั้งแต่บิดาเสีย เมื่อ2549 ผ่านมา 17 ปียังไม่ได้แบ่งมรดก ก็ยังปฏิเสธการเป็นผู้ถือหุ้นitv ไม่ได้ เพราะ
1)การเป็นเจ้าของหุ้น เริ่มตั้งแต่เจ้ามรดกเสียขีวิต หุ้นนั้นตกเป็นของทายาททันทีที่เจ้ามรดกเสียชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ดังนั้น การที่นายพิธา อ้างว่า “ไม่ใช่หุ้นของตน เป็นกองมรดก ตนเพียงมีฐานะผู้จัดการมรดก” นั้นจึงไม่ถูกต้อง….เพราะ
(1)นายพิธา คือหนึ่งในทายาทโดยธรรม หุ้นนั้นตกเป็นของนายพิธาและทายาทอื่นด้วยทันทีที่บิดาเสียชีวิต
(2)นายพิธา แสดงตนรับโอนหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก และ ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกแล้ว การเป็นเจ้าของหุ้นในส่วนของนายพิธา จึงสมบูรณ์แล้ว*
2)บริษัท ITV แจ้งว่า ยังประกอบกิจการอยู่ และ มีรายงานแสดงผลของกิจการไม่ว่า จะขาดทุนหรือกำไรก็ตาม ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยเป็นอื่นได้ ว่า นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นitv ที่เป็นสื่อมวลชน อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีธนาธร ถือหุ้นสื่อมวลชนมวีลักซ์มีเดีย ทำให้ขาดคุณสมบัติและถูกตัดสิทธิทางการเมือง
การอ้างว่า ถือหุ้นข้างน้อยไม่อาจครอบงำกิจการได้ และจะต่อสู้ในเรื่องการขัดกันระหว่างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในอดีตกับคำวินิจฉัยศาลฎีกาปัจจุบัน ในคดีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต่อสู้ได้ ส่วนที่ศาลจะเห็นชอบด้วยและวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ด้วยหรือไม่ เป็นกรณีที่ต้องไปต่อสู้กัน
ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเท่านั้นครับ ไม่มีทางเป็นอื่น
ทางด้าน นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผอ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ส.ส.ท.) โพสต์ข้อความเกี่ยวกับไอทีวีว่า สรุปสาระสำคัญของบริษัท ไอทีวี จากรายงานประจำปี 2565
1.หยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ตั้งแต่ 24.00 น.วันที่ 7 มีนาคม 2550 สืบเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
2.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย delist ถอดหุ้นไอทีวีจากการซื้อขาย ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.2557
3.ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการฟ้องร้องพิพาททางกฏหมายกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากกรณีที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า
-การบอกเลิกสัญญาของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฏหมาย
-ให้ สปน.ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,890 ล้านบาท
3.1 ต่อมา สปน.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอาุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของ สปน.
3.2 มกราคม 2564 สปน.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
4.ปีบัญชี 2565 ไอทีวี มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ 20.5 ล้านบาท (ผลตอบแทนจากตราสารหนี้และตราสารทุน) กำไรสุทธิ 8.5 ล้านบาท
5.ไอทีวี มีบริษัทย่อย 1 บริษัท คือ บ.อาร์ตแวร์มีเดีย ให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนต์และรายการโทรทัศน์ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ สถานะปัจจุบันของบริษัท คือ หยุดประกอบกิจการ
6.กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่โดยพฤติการณ์มีอิทธิพบต่อการกำหนดนโยบายและการดำเนนิงานบ.ไอทีวีในปัจจุบัน คือ บ.อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
7.การรักษาสถานะความเป็นนิติบุคคลของ บ.ไอทีวี เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับสปน.