ปลัดคลังสั่ง สศค.เกาะติด “นโยบาย” หาเสียงพรรคการเมือง หลังชู “ประชานิยม”สนั่นเมือง
ปลัดกระทรวงการคลัง สั่ง สศค.เกาะติดนโยบายหาเสียงของทุกพรรคการเมือง เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของนโยบาย รวมถึง ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและฐานะการคลังของประเทศ หลังหลายพรรคการเมือง ชูนโยบาย ประชานิยม หาเสียงกระฉ่อน
นายกฤษฎา วิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ไปศึกษาแนวนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆที่ได้ทยอยออกมาในช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า นโยบายดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติหรือไม่และมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ รวมถึง ฐานะการคลังอย่างไรบ้าง
“ผมได้ให้สศค.เกาะติดนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆว่า ถ้าทำตามนโยบายดังกล่าวแล้วจะมีค่าใช้จ่ายต่องบประมาณเท่าไหร่ มีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างไร รวมถึง แนวปฏิบัติตามนโยบายนั้นๆว่า จะสามารถทำได้หรือไม่”
ทั้งนี้ ตนเห็นว่า แต่ละนโยบายการหาเสียงควรที่จะมีการชี้แจงได้ด้วยว่า เมื่อมีการใช้จ่ายเงินตามนโยบายแล้ว จะมีแนวทางการหารายได้เพื่อมาชดเชยรายจ่ายอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการคลังในอนาคต
สำหรับนโยบายของพรรคการเมือง ที่ระบุว่าจะให้ผลประโยชน์ต่อประชาชน อาทิ เช่น เพิ่มวงเงิน “บัตรประชารัฐ” 700 บาท เป็นนโยบายของ พรรคพลังประชารัฐ คิกออฟนโยบายแรก จาก 104 นโยบาย ด้วยการสานต่อ “บัตรประชารัฐ” เพิ่มวงเงิน 700 บาทต่อเดือน จำนวน 19.6 ล้านราย เกทับนโยบายค่าแรง 600 บาทต่อวันของพรรคเพื่อไทย โดย พรรคพลังประชารัฐ ประกาศหากได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล-พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เมื่อไหร่ พร้อมทำทันที ให้ “อยู่ดีกินดี มีเงินใช้ มีงานทำ”
นอกจากนี้ยังมี “เกี่ยวข้าวปั๊บ รับ 3 หมื่นบาท” ของ พรรคประชาธิปัตย์ ชูยุทธศาสตร์ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” หากได้เป็นรัฐบาล หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า เปิดตัวแคมเปญ ซีซั่น 1 ด้วยนโยบาย “สร้างเงิน” 8 นโยบาย พุ่งเป้าไปที่โหวตเตอร์ “ครึ่งประเทศ” ในภาคเกษตรกรรม ต่อยอดโครงการประกันรายได้ ชาวนา 4.8 ล้านครัวเรือน รับครัวเรือนละ 3,000 บาท รวมถึง เดินกลยุทธ์การตลาด “เกี่ยวปั๊บรับ 3 หมื่น” ตามรอย “ค่าแรงวันละ 600 บาท” ของพรรคเพื่อไทย โดยการเพิ่มเงินในส่วนของค่าเก็บเกี่ยว จากปัจจุบันชาวนาได้รับค่าเก็บเกี่ยวอยู่แล้ว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน เป็นจ่ายค่าเก็บเกี่ยว ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือน
ขณะที่ “ภูมิใจกรุงเทพ” ประกาศ ดูแล 24 ชั่วโมง 7 วัน ประกาศนโยบาย พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกเบี้ยคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท ออกพันธบัตรรัฐบาล ชื่อ พันธบัตร “Thai Power” หรือ “พันธบัตรคนไทยรวมพลัง” จำหน่ายให้กับประชาชนผู้มีเงินฝาก ดอกเบี้ย ร้อยละ 2.5-3 แล้วนำเงินที่ได้จากการขายพันธบัตรมาแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชน
นโยบายสาธารณสุข เครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง ฟรี ทุกจังหวัด ศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ ด้วยการติดตั้งเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งให้โรงพยาบาลทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 เครื่อง เป็นอย่างน้อย ภายใน 4 ปี รักษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย นโยบายลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านฟรี โครงการรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า คันละ 6,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 100 บาท 60 งวด
ด้านพรรคชาติพัฒนากล้า โดยนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค เปิดนโยบายชุดแรก “ยกเลิกแบล็กลิสต์ รื้อระบบสินเชื่อ” ใช้ระบบ Credit Scoring โดยมีคนติดแบล็กลิสต์ 5.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ 3.2 ล้านคน ติดแบล็กลิสต์ช่วงโควิด-19 ระบาด “วันนี้ชาติพัฒนากล้าจึงออกนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องใช้เงินภาษีแม้แต่บาทเดียว ด้วยการรื้อระบบเก็บข้อมูลของบริษัทเครดิตบูโร ยกเลิกระบบแบล็กลิสต์ ใช้ระบบ Credit Scoring หรือวิธีประเมินสินเชื่อตามจริงแทน” นายกรณ์ ระบุ