‘ขุนคลัง’ ย้ำนโยบายขึ้น VAT ต้องกลับไปศึกษา ยันตัดสินใจบนประโยชน์ส่วนรวม
“พิชัย ชุณหวิชร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอบเรื่องการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มต้องกลับไปศึกษาก่อน ชี้ต้องการสื่อสารว่าทั่วโลกเก็บอย่างไร ชี้ต้องตัดสินใจบนประโยชน์ส่วนรวม
วันที่ 4 ธ.ค. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงแนววคิดของรัฐบาลในการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาลจากที่ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 7% ว่าแนวคิดดังกล่าวอยู่ในระหว่างการศึกษา และตอนนี้สื่อสารให้ประชาชนรู้ว่าแนวโน้มโลกทำอย่างไรก็ต้องขอเวลากลับไปศึกษาก่อน
เมื่อถามว่าระยะเวลาการศึกษานานขนาดไหน นายพิชัย ระบุว่า ก็ต้องดูทั้งหมดในภาพรวมว่าจะมีผลอย่างไร เมื่อถามว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะขึ้น VATจาก 7% ไป 10% ยังทำไม่ได้ นายพิชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ขอดูการศึกษา ต้องดูข้อดีข้อเสีย แต่จะตัดสินใจอย่างไร ต้องดูผลประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมด้วย
ก่อนหน้านี้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน Sustainabillity Forum 2025 : Synergizing for Driving Business ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยได้สั่งการว่าจะต้องดำเนินการเป็นแพ็คเกจ อาทิ ภาษีนิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกจัดเก็บกันที่ราว 15% จากของไทยอยู่ที่ 20% ดังนั้นรัฐบาลต้องคิดว่าจะทำอย่างเพื่อให้ภาษีดังกล่าวปรับลดลงมา เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
ขณะเดียวกัน ก็ต้องมาพิจารณาว่าหากมีการลดภาษีในส่วนดังกล่าวลงแล้ว จะต้องไปปรับเพิ่มภาษีในส่วนไหนเพื่อช่วยสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งภาษีที่มีส่วนสำคัญคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่จัดเก็บจากการบริโภคของไทย ซึ่งปัจจุบันเก็บที่ 7% ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ทั่วโลกจัดเก็บที่ 15-25% ส่วนจะเพิ่มเป็นเท่าไหร่ก็ต้องมาพิจารณาอย่างรอบคอบ ต้องเป็นระดับที่อยู่รอดกันได้ เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอยู่ และการดำเนินการต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ช้า
“ภาษีแวตเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ผมคิดทุกคนว่าจะทำอย่างไร สิ่งแรกคือต้องทำให้คนเข้าใจก่อน ซึ่งผมอยากบอกว่าหากจัดเก็บภาษีแวตในอัตราที่สูงขึ้น และเหมาะสม ตรงนี้จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดข่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนลงได้ จากการจัดเก็บภาษีบริโภคที่สูงขึ้น โดยพิจารณาจากสมการง่าย ๆ คือ ภาษีแวตเป็นภาษีที่เก็บจากทุกคน คนรวยมาก คนรวยปานกลาง คนจน ซึ่งการบริโภคจะเป็นไปตามฐานะ ดังนั้นถ้าเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ แปลว่าทุกคนก็จ่ายภาษีต่ำ เงินที่เป็นกองกลางก็จะมียอดต่ำ การส่งกลับมาที่รัฐเพื่อนำไปใช้ประโยชน์จึงมีข้อจำกัด แต่ถ้าเก็บภาษีแวตสูงขึ้น คนรวยจะต้องจ่ายภาษีมากขึ้นตามยอดการใช้จ่าย เงินกองกลางก็จะใหญ่ขึ้น ก็จะทำให้รัฐสามารถส่งผ่านงบประมาณส่วนนี้ไปยังคนรายได้น้อย ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการด้านสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย และการศึกษา อีกทั้งยังช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้มากขึ้น ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้ด้วย นี่คือวิธีที่หลายประเทศทำกัน การเก็บภาษีสูงหรือต่ำจะต้องคิดให้ดี” นายพิชัย กล่าว.