คลังนำทุกฝ่ายหนุนธุรกิจไทยสู่ ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ – งัด ‘ม.เงิน/คลัง’ ผ่านพิมพ์เขียวฯอัพศักยภาพแข่งขันเวทีโลก

กระทรวงการคลังกางพิมพ์เขียวนโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว ผ่านวงสัมมนา FPO Symposium 2024 “Fiscal Green Print 2024” งัดมาตรการการเงิน-การคลัง หนุนผู้ประกอบการไทย เปลี่ยนวิธีผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เผย! ไทยติด Top 10 จาก 180 ชาติทั่วโลกที่มีความเสี่ยงทางภูมิอากาศของโลก ย้ำ! จำเป็นที่ภาครัฐต้องประสานทุกฝ่ายหนุนธุรกิจไทยสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว อัพศักยภาพแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อช่วงสายวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ณ ห้องอินฟินิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน สัมมนา FPO Symposium 2024 “Fiscal Green Print 2024 พิมพ์เขียวนโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว” โดยมี นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวรายงาน ท่ามกลางผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเจข้าร่วมงานฯ

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า “พิมพ์เขียวนโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว” เป็นการวางกรอบเชิงนโยบายที่จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมค่อนข้างสูง และจะขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นกระแสที่ทั่วโลกต่างนำมาใช้เพื่อสร้างมาตรการดูแลปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าที่จะต้องคำนึงถึงความเป็นมิตรและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถานะของประเทศไทยในอาเซียนถือว่าอยู่ในระดับที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดทั้งในส่วนของชีวิตและสุขภาพของประชาชน และความอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลทางตรงต่อความอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจของประเทศตามมา

“หลายประเทศตื่นตัวกับระบบเศรษฐกิจสีเขียว มีการสร้างมาตรการกีดกันทางการค้ากับประเทศ หรือธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวพยายามจะกระตุ้นและส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อศักยภาพในการแข่งขันทางด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา EXIM BANK (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า) เป็นตัวอย่างที่ดีของการดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะท้อนได้จากพอร์ตวงเงินปล่อยสินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อม ที่ได้จากการระดมทุนผ่านกรีนบอนด์ (บนบก) และบลูบอนด์ (ในทะเล) กระทั่งมสร้างสินรวมมากถึงราว 70,000 ล้านบาท มากที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ” รมช.คลัง ระบุ

ทั้งนี้ จำเป็นที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้าถึงเศรษฐกิจสีเขียว ด้วยการสนับสนุนในการเข้าถึงแหล่งทุน และรับสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูง นอกจากมาตรการทางการเงินแล้ว จำเป็นจะต้องใช้มาตรการทางการคลังเข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการกองทุน THAIESG ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ขณะเดียวกัน กรมสรรพสามิตเอง ก็มีนโยบายจัดเก็บภาษีที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดีในทุกการดำเนินงาน เพื่อผลักดันการเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

รัฐบาลจะเร่งสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียวให้มากและเร็วที่สุด ซึ่งวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ภาครัฐจะได้หารือแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับภาคเอกชน ภาคสถาบันการเงิน รวมถึงภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภค เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการกำหนดนโยบายและออกมาตรการทางการเงินและการ เพื่อการขับเคลื่อนประเทศ ให้เป็นประเทศที่อยู่รอด ทั้งในมิติความอยู่รอดของชีวิตและสุขภาพของประชาชน และมิติความอยู่รอดของภาคธุรกิจ” นายเผ่าภูมิ กล่าว

ด้าน นายพรชัย กล่าวรายงานก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม (Climate Change) ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้ เรากำลังประสบปัญหาน้ำท่วม ก่อนหน้านี้ ก็มีปัญหาคลื่นความร้อน ไฟป่า และปัญหาฝุ่น PM 2.5 นอกจากนี้ ดัชนีชีวัดด้านความเสี่ยงทางภูมิอากาศของโลก ระบุว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงเป็นอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ปัญหาเหล่านี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาคการคลังและระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นจะต้องนำเงินงบประมาณมาใข้จ่ายเพื่อการป้องกันและฟื้นฟูจากผลกระทบที่มีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเชื่อมโยงกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีนโยบายผลักดันให้ภาคธุรกิจได้ปรับเปลี่ยนภาคการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้กลายเป็นเศรษฐกิจสีเขียว โดยหลายประเทศได้นำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม มายกระดับสร้างเงื่อนไขบังคับในการค้าระหว่างประเทศไปแล้ว” นายพรชัย ย้ำและว่า…

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ภาครัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน กระทรวงการคลังเองก็จะต้องพัฒนามาตรการด้านการเงินและการคลัง เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจได้ปรับเปลี่ยนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความตื่นตัวและตระหนักรู้ให้กับภาคประชาชน เพื่อให้ความสำคัญในการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การร่วมมือของทุกภาคส่วนจะช่วยให้ประเทศไทยได้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบ หรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ รวมทั้งรักษาระดับการแข่งขันของประเทศไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password