‘สรรพสามิต’ เก็บรายได้ 9 ด.แรกเฉียด 4 แสนล. สูงกว่าปีก่อน 12.3% – จำนน ‘3 รายได้หลัก’ หดจากนโยบายรัฐ ทำจัดเก็บต่ำกว่าเป้า

“อธิบดีกรมสรรพสามิต” เผย! จัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 เกือบ 4 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 12.3% แต่ยังคงต่ำกว่าประมาณตามเอกสารที่ตั้งไว้ หลัง 3 รายได้หลักภาษีสรรพสามิต “น้ำมัน – รถยนต์ – ยาสูบ” หายไปเกือบ 6 หมื่นล้านบาท

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึง การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2567 ว่า ในช่วง 9 เดือน (1 ต.ค.2566 – 30 มิ.ย.2567) กรมฯสามารถจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตเกือบ 4 แสนล้านบาท แม้จะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 12.3% และสูงกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศที่เติบโตเพียง 2% เศษ แต่ก็ยังต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารที่รัฐบาลกำหนดไว้ เป็นผลมาจากเหตุผลสำคัญ 3 ประการ คือ…

1. จาก มาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล ลงลิตรละ 2.50 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนด พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2566 (ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566) มาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 1 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 38) พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2567 (ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2567) และมาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันเบนซินลงลิตรละ 1 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัด อัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 36) พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 (ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567) เพื่อลดภาระค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งผลจากมาตรการข้างต้น ทำให้กรมสรรพสามิตต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้ำมันราว 25,000 ล้านบาท

2. การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ลดลงด้วย 2 เหตุผลคือ ภาพรวมการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศหดตัวลงอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่สถาบันการเงินไม่พิจารณาปล่อยสินเชื่อรถยนต์ให้กับผู้ขอสินเชื่อฯ เนื่องจากพบว่าคุณภาพของผู้ขอสินเชื่อฯลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีสัดส่วนรายได้ภาษีฯในส่วนที่เป็นรถยนต์สันดาปมากถึง 90% ขณะที่มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ผ่านมาตรการ EV 3.0 และ EV 3.5 แม้จะมีสัดส่วนรายได้ภาษีฯแค่ 10% เมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป แต่ก็มีส่วนสำคัญทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้จากภาษีสรรพสามิตรถยนต์ราว 25,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับรายได้ภาษีน้ำมันฯที่ลดลง

และ 3.ภาษีสรรพสามิตยาสูบ ที่แม้การจัดเก็บรายได้จะลดลงเพียงแค่ประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่เมื่อรวมกับ2 ภาษีสรรพสามิตฯข้างต้น ก็ทำให้การจัดเก็บรายได้ในปีนี้ ยังคงต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารที่ตั้งไว้ ส่วนการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตอื่นๆ เช่น สุรา เครื่องดื่ม และอื่นๆ ยังคงเป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่ง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมสรรพสามิต ได้เดินมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับผู้บริหารของกรมสรรพสามิต โดยตอนหนึ่งได้พูดถึง ประเด็นการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตที่ลดลงว่าเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล ทั้งเรื่องภาษีน้ำมัน รถยนต์ไฟฟ้า และบุหรี่ โดยจะพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปหารือและทบทวนประมาณการการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงให้มากที่สุด ล่าสุดมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง? เกี่ยวกับเรื่องนี้ อธิบดีกรมสรรพสามิต ตอบเพียงสั้นๆ ว่า กรมสรรพสามิตก็รอความชัดเจนอยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิต พร้อมจะดำเนินการจัดเก็บรายได้ให้ใกล้เคียงตัวเลขประมาณการตามเอกสารให้มากที่สุด.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password