ปมแก้หนี้รายย่อยของรัฐ – นายกฯ-รมว.คลัง ต้องชัดเจน! ‘ใครคือตัวจริง?’ สั่งการ
แม้จะถูกมองว่า “เหวี่ยงแห” แต่การแก้หนี้ให้เกษตรกรไทย รัฐบาลเศรษฐาได้เดินเครื่องไปแล้ว เหลือก็แต่ “หนี้สินรายย่อย” ของคนไทย ที่ยอดรวมสูงกว่าหนี้เกษตรกรเยอะ! ปมคือ การสั่งการของ “รมช.กฤษฎ” ที่กำกับดูแลแบงก์ออมสิน จะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจริงหรือไม่? ในเมื่อพรรคเพื่อไทยเอง ก็จ้องดึงงานในส่วนนี้มาดูแล เรื่องนี้ “นายกฯเศรษฐา” ต้องชัดเจนก็ทุกอย่างจะบายปลาย!
ยุทธศาสตร์ – รายงานพิเศษ :
ในฐานะกำกับดูแลธนาคารออมสิน ไม่แปลก! หาก นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง จะลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับธนาคารสีชมพูแห่งนี้ ได้เร่งดำเนินการช่วยแก้ไขปัญหาและลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนรายย่อย แก่คณะผู้บริหารของธนาคารออมสิน เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมกำแพงเพชร ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่
มากกว่านั้น รมช.คลัง ยังได้กำชับให้ธนาคารออมสิน ภายใต้การนำของ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารฯ ให้เร่งดำเนินการความรู้ทางการเงิน และให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้อย่างทั่วถึง รวมถึงให้มีการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการทำงานตามนโยบายรัฐบาลในอนาคต
“ธนาคารออมสินจำเป็นจะต้องให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบภัย หรือสนับสนุนให้มีกิจกรรมเพื่อสังคมในการดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง” บางส่วนของนโยบายที่ นายกฤษฎา มอบไว้กับ คณะผู้บริหารของธนาคารออมสิน ที่วันนั้น นอกจาก นายวิทัยและคณะผู้บริหารของธนาคารฯ แล้ว ยังมี นายธีรัชย์ อัตนวานิช ประธานกรรมการธนาคารออมสิน พร้อมด้วยคณะกรรมการธนาคารฯ เดินทางไปให้การต้อนรับ คณะของ รมช.คลัง อีกด้วย
แม้ นายกฤษฎา ในโควตาของ พรรครวมไทยสร้างชาติ จะกำกับดูแลธนาคารออมสินโดยตรง แต่การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน โดยเฉพาะหนี้สินของประชาชนรายย่อยนั้น ถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของ “รัฐบาลเศรษฐา” และพรรคเพื่อไทย จึงน่าสนใจว่า…พรรคแกนนำรัฐบาล จะร่วมขับเคลื่อนและสั่งการเพื่อให้ภารกิจแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวและหนี้สินของประชาชนรายย่อย เดินไปข้างหน้า “แบบมีสวนร่วม” ในการกำหนดนโยบายและสั่งการไปยังธนาคารสีชมพูแห่งนี้หรือไม่? อย่างไร?
จากข้อมูลเชิงลึก! พรรคเพื่อไทย ที่แม้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง อีกคน…จะไม่ได้กำกับดูแลธนาคารแห่งนี้โดยตรง แต่ถูกคาดหวังจากผู้ใหญ่ในพรรคฯให้ต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางและสั่งการเพื่อให้เกิดขับเคลื่อนแนวนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน และหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งแน่นอนว่า…มันเกี่ยวพันกับภารกิจของธนาคารออมสินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
อาจกลายเป็นว่า…ธนาคารออมสิน อาจต้องประสบปัญหา “บ่าว 2 นาย” หรือไม่? เรื่องนี้…ตัว “รัฐมนตรีว่าการฯ” ซึ่งก็คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะต้องชัดเจนกับการวางโพสิชั่นของ “รัฐมนตรีตัวจริง” ในการจะควบคุมและสั่งการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย
จะยังคงบทบาทของ นายกฤษฎา ในภารกิจนี้ หรือแบ่งปัน กระทั่ง โอนมอบภารกิจดังกล่าวไปให้ นายจุลพันธ์
เรื่องนี้ นายกฯเศรษฐา ในบริบท “รมว.คลัง” ต้องเร่งสร้างความชัดเจน ก่อนที่เรื่องเล็กๆ จะบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่โต
ต้องไม่ลืมว่า…ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน และหนี้สินของประชาชนรายย่อย ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นระบบ และชัดเจนในแนวทางเชิงนโยบาย จะมอบให้ใครดูแล หรือจะช่วยกันดูแลทั้ง 2 คน แม้กระทั่ง โอนมอบงานไปให้คนของพรรคเพื่อไทยดูแล ก็ต้องชัดเจน!
การสร้างภาคความคลุมเครือในปัจจุบัน ย่อมไม่ก่อผลดีต่อภาพรวมและความสัมพันธ์ในทางการเมืองสักเท่าใด?
ที่สำคัญ จากตัวเลขล่าสุดจาก สภาพัฒน์ ที่เพิ่งแถลงตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือนในไตรมาสแรกของปี 2566 ได้ไม่นาน พบการขยายตัวของหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 และขยับมาอยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน GDP ที่ 90.6% โดยหนี้สินส่วนใหญ่ มาจากการที่ภาคครัวเรือนได้ก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และอุปโภค-บริโภคส่วนบุคคล
ที่สำคัญ ยังพบด้วยว่า…ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง กระทั่ง ก่อเกิดหนี้เสีย (NPL) ในไตรมาสแรกของปี 2566 สูงถึง 1.44 แสนล้านบาท คิดสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.68% และกลุ่มคนที่เป็นหนี้ครัวเรือนมากที่สุด หนีไม่พ้นกลุ่มเกษตรกร ที่มีสัดส่วนมากถึง 40% ของคนไทยทั้งประเทศ
สอดรับกับข้อมูลของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีฯและประธานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ แถลงกับผู้สื่อข่าวเมื่อ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาใหญ่ของภาระหนี้สินภาคครัวเรือนของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 15 โดยมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 559,408 บาท หนี้สินต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 11.5 % จากปี 2565 ที่มีหนี้รวม 501,711 บาทต่อครัวเรือน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังได้เปรียบเทียบรายจ่ายและค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน โดยพบว่า ประเทศไทยมีรายได้ครัวเรือนที่ต่ำกว่า 5,000 บาทมากถึง 94.1% ขณะที่ รายได้ครัวเรือนน้อยมีกว่ารายจ่าย 65.8% รายได้ครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย 32.0% รายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่ายมีแค่ 2.2%
ส่วนใหญ่แก้ปัญหารายได้น้อยกว่ารายจ่าย ด้วยการกู้ยืมเงิน ไม่วาจะเป็นการกู้เงินจากธนาคาร การกดเงินจากบัตรกดเงินสด บริษัทสินเชื่อ กูยืมเงินจากญาติพี่น้อง…
นั่นจึงปมต้นเหตุของปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย ที่ส่งผลสะเทือนต่อไปยังปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศ
จากข้อมูลข้างต้น พอสรุปได้ว่า…ปัญหาหนี้ของประชาชนรายย่อย รวมไปถึงกลุ่มเกษตรกร ที่แม้ ภาครัฐ โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะดำเนินนโยบายพักหนี้เกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี ให้กับเกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่มีมูลหนี้ไม่เกินรายละ 3 แสนบาท โดยมีมากถึงเกือบ 2 ล้านราย และเอาเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของคนไทยทั้งประเทศไปอุดหนุนนโยบายดังกล่าว รวมกันมากถึงกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท โดยเริ่มให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายเปิดขอรับสิทธิได้ตั้งแต่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา และจะเปิดไปจนถึง 30 ก.ย.2567
แต่นโยบายข้างต้นนี้ กลับถูกมองว่าเป็น…รายการ “เหวี่ยงแห…ว่านเงิน” และตอบไม่ตรงโจทย์สักเท่าใด? ซึ่งก็ไม่ต่างจากนโยบาย…โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ที่แจกในทุกกลุ่มคน ไม่เลือกเศรษฐี คนมีฐานะ หรือยาจก รวมกันกว่า 56 ล้านคน วงเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท
แม้ว่า…ภารกิจของธนาคารออมสิน อาจถูกจำกัดวงอยู่กับการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย และแยกตัวจากหนี้สินของเกษตรกร แต่ในเชิงจำนวนครัวเรือนและมูลหนี้ที่เกี่ยวข้องกับภาระหนี้ก้อนหนี้ ก็ถือว่าไม่น้อยทีเดียว หากหักสัดส่วนของเกษตรกร 40% ออกไป ที่เหลืออีก 60% ของกว่า 5 แสนครัวเรือน หรือราว 3 แสนครัวเรือน ก็คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับหนี้สินก้อนมหึมาก้อนนี้ ซึ่งจากมูลหนี้รวมที่สภาพัฒน์เคยแถลงไว้ มีสูงเกือบ 16 ล้านล้านบาท
จัดเป็นภาระหนี้ก้อนโต ทั้งของ ประชาชนผู้เป็น “ลูกหนี้” และของรัฐบาลไทย รวมถึงอาจกลายเป็น “ความเสี่ยง” ต่อสถาบันการเงินที่เป็น “เจ้าหนี้” อย่างไม่ต้องสงสัย? หากไม่อาจจัดปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม ในเวลาที่เหมาะสมได้แล้ว…
ผลสะท้อนจากการผิดนัดชำระหนี้ ภายใต้สภาวะ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ย่อมต้องส่งผลสะเทือนต่อ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ทั้งระบบอย่างแน่นอน
ไม่ผิด!…หากการมอบนโยบายของ นายกฤษฎา แก่คณะผู้บริหารของธนาคารออมสิน เมื่อ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ดูแลแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย จะจำกัดวงเฉพาะมูลหนี้ในส่วนของธนาคารฯ
แต่ประเด็นของเรื่องก็คือ…นโยบายของ นายกฤษฎา ที่มีออกมาก่อนหน้านี้ จะถูกสำทับจากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย เพิ่มเติมตามมาอีกหรือไม่? อย่างไร?
ประเด็นนี้…เป็นเรื่องที่ “นายกฯเศรษฐา” จะต้องเร่งเคลียร์ให้กระจ่างชัด! ก่อนทุกอย่างจะบานปลาย!!!.