ยุทธศาสตร์แห่งโอกาส : ‘NEDA + ลาว’ โมเดลต้นแบบการพัฒนาสู่เพื่อนบ้านอื่นๆ

โมเดลความช่วยเหลือการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ สปป.ลาว อาจถูกนำไปเป็น “โมเดลต้นแบบ” ที่ NEDA จะนำไปช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่มีพรมแดนกับไทย โดยเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดรับการเปลี่ยนแปลงของโลก

ตลอด 3 วัน 2 คืน (3 – 5 ส.ค.2566) ที่ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA พาคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทย ร่วมเดินทางสัญจรเส้นทาง “หลวงพระบาง-เวียงจันทน์” สปป.ลาว ก่อนจะพาเข้าเยี่ยมชม โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) รวมถึงการศึกษาดูงานใน โครงการท่าบกท่านาแล้งและเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ของทริปนี้  

นอกจากการเดินทางด้วย รถไฟความเร็วสูง “จีน-ลาว” ครั้งแรกของผมและเพื่อนสื่อมวลชนบางคนแล้ว “ไฮไลท์” ของทริปนี้ ก็น่าจะโฟกัสไปยังการเยี่ยมชมและรับฟังบรรยายสรุปของทั้ง 2 โครงการข้างต้น

ทันทีที่เดินทางถึง นครหลวงเวียงจันทน์ (บ่ายของวันที่ 4 ส.ค.) คณะใหญ่ฯ ภายใต้การนำของ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานอนุกรรมการ NEDA, คุณพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผอ. NEDA และ พันเอก ดร.ศรัณยู วิริยเวชกุล รอง ผอ. NEDA ได้พาพวกเราไปยัง สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) เพื่อพบกับ คณะผู้บริหารของการรถไฟแห่งชาติลาว (LNR) และร่วมรับฟังข้อมูลพื้นฐานของ สปป.ลาว, ทิศทางการดำเนินนโยบายเพื่อการพัฒนา ระหว่าง NEDA กับ สปป.ลาว รวมถึงรับฟังความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-ลาว ระยะที่ 2 (สายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์)

ข้อมูลพื้นฐานสำหรับโครงการนี้ ทาง NEDA ระบุไว้ว่า…เป็นงานก่อสร้างระบบรางรถไฟหลัก เริ่มจากสถานีท่านาแล้งถึงสถานีเวียงจันทน์ รวมระยทาง 7.50 กม. ทั้งยังครอบคลุมงานระบบอาณัติสัญญาณ, งานก่อสร้างสถานีเวียงจันทน์, บ้านพักเจ้าหน้าที่, ทางเข้าสถานีเวียงจันทน์ และงานจุดตัดทางรถไฟ

รวมวงเงินในโครงการ 944 ล้านบาทเศษ (รวมค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 50.98 ล้านบาทแล้ว) อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 10) คิดอัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี

ณ วันรับฟังการบรรยาย ถือว่า…โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ใกล้จะแล้วเสร็จ 100% รอเพียงเก็บรายละเอียดอีกเพียงเล็กน้อย กระนั้น การจะเปิดเส้นทางวิ่งจากสถานีฯท่านาแล้งมายังสถานีฯเวียงจันทน์ ด้วยระยะทาง 7.50 กม. ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย!

ติดขัดที่กฎระเบียบ (บันทึกข้อตกลงระหว่าง NEDA กับการรถไฟแห่งชาติลาว) ที่มีร่วมกัน เนื่องจาก ทางการลาวไม่อนุญาตให้พนักงานขับรถไฟชาวต่างชาติขับรถไฟใน สปป.ลาว ดังนั้น จึงกำหนดไม่ได้ว่า สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) แห่งนี้ จะเปิดทำการอย่างเป็นทางการได้เมื่อใด?

ทางออกของปัญหามี 2 ข้อ หนึ่งฝ่ายไทย โดยการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องดึงเอาพนักงานขับรถไฟลาวจำนวน 10 คน ไปทำการฝึกอบรมการขับรถไฟในประเทศไทย คาดว่าจะใช้เวลาฝึกอบรมประมาณ 5 สัปดาห์ นั่นหมายความ…ทางออกแรกนี้ อาจทำให้การเปิดใช้ สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ทำได้เร็วขึ้นและน่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ เรื่องนี้…ทาง NEDA รับไปดำเนินการประสานงานแล้ว

และสองปรับแก้ไขบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี ทั้งนี้ เพื่อเปิดทางให้ พนักงานขับรถไฟชาวไทย สามารถจะขับรถไฟใน สปป.ลาว ได้

ข้อดีคือ สิ่งนี้…จะทำให้ (1) จำนวนการเดินทางด้วยรถไฟจากฝั่งไทยมายัง สปป.ลาว สิ้นสุดที่นครหลวงเวียงจันทน์ และ (2) จำนวนผู้โดยสาร ทั้งเพื่อการท่องเที่ยว ทำงาน-ธุรกิจการค้าการลงทุน และ/หรือ เพื่อการศึกษา  มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น

อนาคตอันใกล้ ยังสามารถจะเชื่อมต่อการเดินทางไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูง “จีน-ลาว” ที่อยู่ห่างออกไปราว 10 กม.ด้วยรถโดยสารประจำทาง (รถบัสหรือรถตู้) ได้อีก

สรุปให้เข้าใจง่ายๆ โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) จะเน้นที่การขนคนเป็นหลัก เบื้องต้นอาจจะมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟผ่านสถานีนี้ราว 3,500 คนต่อวัน ซึ่งถือว่าไม่น้อยทีเดียวสำหรับประเทศที่ยังไม่เคยมีการวิ่งรถไฟ (ปกติ) มาก่อน

อีกโครงการที่ต้องพูดถึง คือ การศึกษาดูงานในโครงการท่าบกท่านาแล้งและเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ และแม้ว่า…ศ.พิเศษ ธงทอง และ คุณพีรเมศร์ จะติดภารกิจสำคัญโดยทั้ง 2 ท่านมีนัดประชุมร่วมกับทางการลาวเกี่ยวกับความร่วมมือกันในอนาคต กระนั้น ก็ได้มอบหมายให้ “รองฯหยู” พันเอก ดร.ศรัณยู ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะของฝ่ายไทย

การรับฟังคำบรรยายจากตัวแทนของฝั่งลาว นำโดย Mr.Sila Vienkeo, Vice President of Executive Board of Trade  and Regulation PTL Holding และ Mr.Sakhone Philangam, Managing Director of Thanaleng Dry Port Sole. C0., Ltd. ที่ทั้ง 2 ท่านได้บรรยายถึงภาพอนาคตของโครงการข้างต้น ที่จะมีขึ้นบนเนื้อที่กว่า 2.38 พันไร่ และมีมูลค่าโครงการสูงกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท (หรือกว่า 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ตัวแทนฝ่าย สปป.ลาว ยอมรับว่า…ภาพฝันที่พวกเขาวาดหวังเอาไว้ อาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานอีกหลายปี ระหว่างนี้…ก็เปิดให้บริการขนถ่ายและขนส่งสินค้าไปมาระหว่างประเทศต้นทางและปลายทาง ผ่าน สปป.ลาวไปก่อน ซึ่งก็ได้เปิดดำเนินการมาเกือบ 2 ปีแล้ว

อย่างไรก็ดี หากโครงการนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์แบบอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อใด สิ่งนี้…จะช่วยเปลี่ยนประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ให้กลายเป็น “ฮับ” เชื่อมโยงการเดินทางและขนส่ง ทั้งคน (ทางผ่าน) และสิ่งของ (ต้นทาง) จากไทยไปจีน และจีนมาไทย โดยมี สปป.ลาวเป็น “จุดศูนย์กลาง” สร้างความมั่นคั่งและมั่นคงทางเศรษฐกิจต่อทุกฝ่าย ที่สำคัญยังจะช่วยสร้างอัตราการจ้างงานใหม่ๆ ให้กับแรงงานลาวได้อีกหลายพันหลายหมื่นตำแหน่ง

โดย โครงการท่าบกท่านาแล้งและเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ จะเน้นที่การขนถ่ายสินค้าเป็นหลัก ต่างจาก โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ที่เน้นเรื่องการขนคน

ครั้งก่อน…ผมหยิบคำพูดของ ศ.พิเศษ ธงทอง ที่ท่านพูดถึง จุดยืนและภารกิจของ NEDA กล่าวคือ…มุ่งส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทย ทั้ง สปป.ลาว กัมพูชาและเมียนมา

อีกทั้งยังได้นำ กราฟฟิก (รูปภาพ) ข้อมูลการลงทุนของ NEDA ที่มีให้กับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ รวมถึงอีกหลายประเทศเล็กๆ ในเอเชีย นั่นเพราะเรา (ไทย) ไม่อาจเติบโตอย่างโดดเดี่ยว จำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศของเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุที่เคยนำเรียนมาแล้วก่อนหน้านี้

สำหรับ สปป.ลาว ประเทศที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนมากที่สุดถึง 33 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 1.55 หมื่นล้านบาท นั้น อนาคตอันใกล้…ยังจะมีความร่วมมือกับ NEDA อีก โดยเน้นให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในทุกมิติ การมีผลประโยชน์ร่วมกัน และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน โดยคำนึงถึงการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ครอบคลุมทั้งทางด้าน…

1.สนับสนุนการเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การเชื่อมโยงระบบคมนาคม และการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์, 2.การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง, 3.สนับสนุนการพัฒนาเสถียรภาพทางพลังงานและพลังงานทดแทน และ 4.การพัฒนาระบบสาธารณสุข

สิ่งที่ สปป.ลาว และคนลาว จะได้รับจาก…ทางการไทย ผ่านทาง NEDA ในโอกาสต่อไป ถือได้ว่า…เป็นอีกหนึ่ง “ยุทธศาสตร์แห่งโอกาส” ที่ประเทศเพื่อนบ้านจะมีให้กันอย่างจริงใจ และก็น่าจะเป็น “โมเดล” ที่สำคัญในการขับเคลื่อนยุทธการเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านรายล้อมไทยต่อไป.

สุเมธ จันสุตะ

email : schansata@gmail.com

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password