สศค.ชี้! เอกชนลงทุนและบริโภคหดตัว แต่เศรษฐกิจ พ.ย.65 ยังไปสวยเหตุท่องเที่ยวขยายตัว

ทีมโฆษก สศค. แจงภาวะเศรษฐกิจการคลัง พ.ย.65 เผย! เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวทั้งจากภายนอกและนักท่องเที่ยวไทย ยอมรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อน  สอดรับการส่งออกสินค้าชะลอลงตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และ นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค แถลงภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อน และการส่งออกสินค้าชะลอลงตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดย การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 4.9 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 5.6 สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนพฤศจิกายน  2565 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 และ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 47.9 จากระดับ 46.1 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยเป็นผลมาจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทิศทางราคาสินค้าและค่าครองชีพมีแนวโน้มลดลง สำหรับ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.1 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -0.4 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -14.8 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -6.4

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -2.2 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 13.6 และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.2 แต่ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -3.9 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.9

ขณะที่ ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.4 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.8 มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 22,308.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ –6.0 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -2.0 เนื่องจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอลง ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยลดลง

อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป และเครื่องดื่ม โดยขยายตัวร้อยละ 43.4 20.9 และ 7.1 ตามลำดับ รวมทั้งสินค้าเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบที่ขยายตัวร้อยละ 91.0 17.9 และ 5.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ตลาดที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ สหราชอาณาจักร ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา สหภาพยุโรป (15) และสหรัฐฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 22.2 13.8 7.1 3.2 และ 1.2 ตามลำดับ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 2.4 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.2 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 93.5 จากระดับ 93.1 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศตามการขยายตัวของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าในระยะต่อไป ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -5.6

สำหรับ ภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 1.75 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1,815.9 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -30.1 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ตามลำดับ เช่นเดียวกับ การท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2565 จำนวน 19.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 69.0 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -26.4

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยปัจจัยกดดันจากระดับราคาสินค้าเริ่มปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 5.55 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.22 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 60.60 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และ ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.62 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับ เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 210.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password