คลังเล็งขยายฐานภาษีใหม่ โฟกัส ‘โซเดียม+ไขมัน’ – ย้ำรัฐบาลไม่ทิ้ง ‘อุตฯผลิตรถน้ำมัน’ หนุนคู่รถไฮบริดและไฟฟ้า

รมช.มอบนโยบายกรมสรรพสามิต เล็งจัดเก็บ 2 ภาษีใหม่ “โซเดียม+ไขมัน” สั่งเร่งศึกษาจะเก็บภาษีโซเดียมกับสินค้าใด หวังดึงคนไทยลดกินเค็ม 30% ส่วนภาษีน้ำมัน ยังอยู่ระหว่างศึกษาเก็บตัวไหนระหว่าง “ไขมันดีหรือไม่ดี” ย้ำ! ภาษีรถยนต์ รัฐบาลไม่ทิ้งรถน้ำมันไว้ข้างหลัง พร้อมสนับสนุนควบคู่กับรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเข้าตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่คณะผู้บริหารและข้าราชการกรมสรรพสามิตเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่กรมสรรพสามิต ว่า ปัจจุบันตลาดรถยนต์ระดับโลกยังไม่ชี้ชัดว่าจะเน้นสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไปทั้งโลก เพราะในหลายประเทศต่างมีฐานการผลิตรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีต่างกัน ทำให้ไทยต้องมองภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไม่ละทิ้งฐานการผลิตเดิม โดยจะต้องสนับสนุนทั้งอีวี รถยนต์ไฮบริคและรถยนต์สันดาป เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์เกิดการจ้างงานและการผลิตชิ้นส่วนการผลิตต่อไป

โดยใช้ภาษีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอิน ที่ใช้พลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานร่วมกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน (PHEV)รถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ (BEV)และ รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง (FCEV)ให้เพิ่มขึ้นในประเทศ แต่ยังคงรักษาฐานการผลิตรถยนต์สันดาปเชื้อเพลิงฟอสซิล (ICE)และรถยนต์ไฮบริค (HEV)เอาไว้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องกำหนดเวลาชัดเจน และให้แนวทางว่ากรมสรรพสามิตสามารถสูญเสียรายได้ในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในระยะยาว ซึ่งเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจประเทศได้

สำหรับ ภาษีคาร์บอน ได้มีการกำหนดกลไกราคาคาร์บอนภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 6 ประเภท โดยคำนวณจากค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเบื้องต้นกำหนดราคาคาร์บอนที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ โดยต้องไม่ให้กระทบต่อราคาพลังงาน

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า ในเชิงนโยบายจะทำการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ 2 ตัว คือ ภาษีโซเดียมและภาษีไขมัน สำหรับ ภาษีโซเดียม ให้พิจารณาว่าจะใช้กับสินค้าใดก่อน เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหารที่มีความเค็มสูงสุด เพื่อสร้างกลไกการจัดเก็บภาษีโซเดียม ส่วนภาษีการบริโภคไขมัน ได้วางแนวทางให้กรมสรรพสามิตศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับไขมันดี ไขมันไม่ดี ว่าจะนำมาจัดเก็บภาษีได้อย่างไรบ้าง ขณะที่ภาษีค่าความหวานที่จัดเก็บภาษีไปแล้วกำลังเข้าสู่เฟส 4 ให้รักษาระดับอัตราภาษีเดิมไว้

“ผมได้มอบแนวทางให้ กรมสรรพสามิตศึกษากลไกภาษีโซเดียมในสินค้าบางประเภทที่ไม่อยู่ในสินค้าควบคุม รวมทั้งภาษีไขมัน เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมและไขมัน ตั้งเป้าคนไทยลดบริโภคเค็มลง 30% ภายในปี 2568 แต่จะต้องมีระยะเวลาก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ให้ผู้ประกอบการปรับตัว” รมช.คลัง ระบุ

นอกจากนี้ ภาษีบุหรี่ให้พิจารณาและศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียว (Singler Rate) เพื่อลดการบิดเบือนกลไกราคา โดยให้พิจารณาปัจจัยความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและสนับสนุนผู้เพาะปลูกใบยาสูบในประเทศด้วย รวมทั้งดำเนินการระบบตรวจ ติด ตาม บุหรี่ โดยใช้ระบบ QR Code ในบุหรี่ เพื่อป้องกันบุหรี่เถื่อนทั้งระบบ พร้อมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีและแหล่งที่มาของบุหรี่เพื่อมั่นใจได้ว่าเป็นบุหรี่ที่ได้มาตรฐานและตรวจสอบโดยกรมสรรพสามิต ส่วนภาษีแบตเตอรี่ให้ศึกษาพิจารณาเปลี่ยนจากอัตราคงที่ 8% เป็นอัตราแบบขั้นบันได โดยคำนึงถึงปัจจัย Life Cycle และค่าพลังงานจำเพาะต่อน้ำหนัก รวมถึงชนิดของแบตเตอรี่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สะอาด อุตสาหกรรมรถยนต์ EV

ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงผลการดำเนินงานของกรมสรรพสามิตปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 2566 – ก.ย.2567) ว่า สามารถจัดเก็บภาษีได้ 523,676 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.8% จากปีก่อน จัดเก็บภาษีสูงกว่า GDP สะท้อนถึงการใช้จ่ายในประเทศที่ดีขึ้นตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัว เช่น ภาษีเครื่องดื่ม ขยายตัวสูงถึง 8% ภาษีกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ (ไนต์คลับและดิสโกเธค) และภาษีสนามกอล์ฟ จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น 31.3% และ12.4% ตามลำดับ

สำหรับ การจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่ สูงกว่าปีก่อน 15.6% ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการเติบโตขึ้น นอกจากนี้ ด้านการปราบปรามเพิ่มสูงขึ้นมาก มีจำนวน 33,359 คดี สูงกว่าปีก่อน 28.1% เงินค่าปรับนำส่งคลังจำนวน 690.75 ล้านบาท เกิดจากกรมสรรพสามิตยกระดับการทำงานเชิงรุกในด้านการปราบปรามทั้งศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานสืบค้นในทุกช่องทาง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password