คปภ. เพื่อสังคม เปิดฉาก สังคมอุดมศึกษา เข้ารั้วมหาลัย ให้ความรู้อาชีพธุรกิจประกันภัย
สำนักงาน คปภ.ร่วมลงพื้นที่เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องการประกันภัยที่เกี่ยวข้องต่อสังคมเป้าหมาย และเผยแพร่เรื่องราวผ่านรายการ คปภ. เพื่อสังคมผ่านช่องทางทีวีดิจิทัล (อัมรินทีวี HD ช่อง 34) เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความสำคัญของการประกันภัย
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงาน “คปภ. เพื่อสังคม” สังคมอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) โดยสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยร่วมกันลงพื้นที่เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องการประกันภัยที่เกี่ยวข้องต่อสังคมเป้าหมาย และเผยแพร่เรื่องราวผ่านรายการ คปภ. เพื่อสังคม ซึ่งจะเผยแพร่ผ่านช่องทางทีวีดิจิทัล (อัมรินทีวี HD ช่อง 34) โดยมุ่งหวังให้ประชาชนผู้รับชมรายการได้รับความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย รวมทั้งเป็นการดำเนินการเพื่อสร้างประโยชน์ในมิติการส่งเสริมอาชีพตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ และรศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้การต้อนรับ
โดยสังคมอุดมศึกษาถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีนักศึกษาในสังกัดสถาบันอุดมศึกษามากกว่า 1,600,000 คน (ข้อมูล ณ 1 ตุลาคม 2567) ซึ่งจะเติบโตเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต แต่เมื่อพิจารณาจากอัตราการว่างงานภายในประเทศในเดือนสิงหาคม 2567 พบว่าประเทศไทยมีแรงงานในระบบอยู่ที่ 40.39 ล้านคน มีจำนวนผู้ว่างงาน 440,000 คน เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาแล้ว กลุ่มบัณฑิตซึ่งจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ว่างงานมากที่สุด ถึงประมาณ 169,000 คน และจากจำนวนดังกล่าวเป็นกลุ่มบัณฑิตผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนถึง 122,000 คน หรือประมาณร้อยละ 72.19 ของผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จากข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนถึงทักษะของบัณฑิตจบใหม่ที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด และปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงาน ดังนั้น การให้ความรู้เรื่องเส้นทางอาชีพ ทักษะที่จำเป็น รวมทั้งความต้องการของตลาดแรงงาน จะสามารถเป็นตัวช่วยให้อัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ลดน้อยลงได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สำนักงาน คปภ. จึงเลือกคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนของการถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมอุดมศึกษา เนื่องจากเล็งเห็นว่าสถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตบุคลากรเข้าสู่ระบบประกันภัย อาทิ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย นักจัดการความเสี่ยง นักวิเคราะห์วางแผนในธุรกิจประกันภัย นายหน้าประกันภัย หรือการเข้ามาเป็นพนักงานของสำนักงาน คปภ. ในอนาคต อันจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ได้มีการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ทำงานด้านประกันภัยจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องจากศิษย์เก่าโดย ดร.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี สำนักงาน คปภ. ต่อด้วยเวทีเสวนาในหัวข้อ “เส้นทางอาชีพด้านการประกันภัยของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากร ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.กมล บุษบา สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.พงษ์ภาณุ ดำรงศิริ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย นายจรุง เชื้อจินดา รองผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย นายจิตวุฒิ ศศิบุตร นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย นายกฤษณ์ วณิชเดโชชัย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน นางคณิญาภร จรุงกิจกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านบริหารยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงาน คปภ. และ นางสาวนัฎพร กีชานนท์ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและความเชื่อมโยงภาคการเงิน
โดยการจัดงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัยทั้งบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทนายหน้าประกันภัย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มาร่วมออกคูหานิทรรศการ ทำให้งานมีสีสันสนุกสนานและคึกคักมากขึ้น เปรียบเสมือน Job Fair ขนาดย่อมๆ กันเลยทีเดียว
“เลขาธิการ คปภ. กล่าวทิ้งท้ายว่าโครงการ “คปภ. เพื่อสังคม” สังคมอุดมศึกษา จะเป็นประโยชน์แก่น้อง ๆ นักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงผู้ที่รับชมรายการ “คปภ. เพื่อสังคม” ในการวางแผนเส้นทางอาชีพของตนเอง ก่อนการเข้าสู่วัยทำงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า น้อง ๆ ทุกคนจะเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัย อันนำมาซึ่งการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”.