“เศรษฐา” ไม่หนีสภาฯ ตอบกระทู้ “ศิริกัญญา” ปม กระตุ้น ศก.ด้วย “ดิจิทัลวอลเล็ต”

“เศรษฐา” ไม่หนีกระทู้ฝ่ายค้าน ยืนยันดิจิทัลวอลเล็ตได้แน่ แต่ต้องรอบคอบ และถูกกฎหมาย ด้าน “ศิริกัญญา” ขอบคุณเห็นคุณค่าสภา ขู่สัปดาห์หน้า เคลียร์ตารางด้วยเจออีกแน่ พร้อมจี้ถาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดอะไรขึ้นกับดิจิทัลวอลเล็ต เปลี่ยนไปมาจนประชาชนมืดแปดด้าน เหน็บปุ๋ยคนละครึ่งออกมาทำไมตอนนี้ ชาวนาหว่านปุ๋ยจนเป็นหนี้หมดแล้ว ด้านนายกฯ ยันเกณฑ์เงินหมื่นตอบโจทย์ชาวบ้าน

วันที่ 11 ก.ค.2567 เวลา 11.12 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ มาตอบกระทู้ด้วยตัวเอง เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม

โดยก่อนถามกระทู้ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ต้องขอบคุณนายกฯ ที่ยังอุตส่าห์เห็นคุณค่าของสภาผู้แทนราษฎร ยังคงยึดถือหลักการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายนิติบัญญัติ และยังเคารพต่อหลักการว่ารัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด ท่านได้ตอบรับมาตอบกระทู้เวลา 07.30 น. ก็ขอแสดงความขอบคุณ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ท่านมาตอบกระทู้สดของพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด แต่นี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะในสัปดาห์หน้าขอให้ท่านเคลียร์ตารางไว้ได้เลย เพราะเราได้เตรียมข้อมูลที่จะถามนายกฯ เอาไว้แล้ว หรือถ้าสัปดาห์หน้าท่านเคลียร์ตารางไม่ทัน แต่ท่านว่างวันพฤหัสบดีไหนแจ้งเรามาได้เลย เราพร้อมที่จะอำนวยความสะดวก

จากนั้น น.สศิริกัญญาถามคำถามแรกว่า เกี่ยวกับคำแถลงของ รมช.คลัง เกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ต ที่ต้องถามเพราะมีประชาชนสอบถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งในเนื้อหาที่ รมช.คลังแถลง มีการปรับแก้เงื่อนไข และมีเงื่อนไขเพิ่มเติมออกมามากมาย เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา จากเดิมบอกว่าใช้ซื้อโทรศัพท์มือถือได้ แต่วันนี้บอกซื้อไม่ได้ วันก่อนบอกซื้อปุ๋ยไม่ได้ วันนี้บอกว่าซื้อได้แล้ว และมีเงื่อนไขประหลาดเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็บอกว่าจะใช้ซื้อไม่ได้ ทั้งที่คนไทยผลิตเองจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น พัดลม แต่ที่สำคัญที่สุดประชาชนกังวลคือการปรับลดเป้าหมายเหลือ 45 ล้านคน โดยอ้างว่าจะมีคนที่มีสิทธิแต่ไม่มาลงทะเบียนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ 50 ล้านคน เหลือ 45 ล้านคน และอาจจะไม่ยืมเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว เท่ากับว่ามีเงินที่จะแจกเพียงแค่ 4.5 แสนล้านบาท

“คำถามคือตอนนี้งบประมาณมีไม่พอแล้วหรือว่าอย่างไร ทำให้หามาได้เพียงแค่ 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งงบปี 2567 จากที่เคยจะใช้ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ตอนนี้เหลือเพียงแค่ 1.65 แสนล้านบาท ที่เหลือจะใช้ของงบปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท คำถามที่ประชาชนสงสัยคือ แล้วอย่างนี้ถ้าสุดท้ายคนมาลงทะเบียนเต็ม 50 ล้านคน จะทำอย่างไร เขายังจะได้รับสิทธิอยู่หรือไม่ และถ้ามีมาครบ 50 ล้านคนจริงๆ อีก 5 หมื่นล้านบาท จะเอาเงินที่ไหนมาใช้ หรือจะใช้เงินคงคลัง จริงเรื่องของรายละเอียดพวกนี้ คิดว่าถามไปก็เท่านั้น ท่านก็คงจะตอบว่าเดี๋ยวรอความชัดเจนก่อน เดี๋ยวรอแถลงวันจันทร์ เดี๋ยวรอแถลงวันที่ 24 กรกฎาคมอย่างเป็นทางการ ท่านก็อาจจะยังไม่ตอบ หรือว่าถ้าตอบอะไรได้ตอนนี้ก็ขอให้ตอบ แต่สิ่งที่ท่านน่าจะทราบและดิฉันก็เป็นกังวล คือเรื่องของการที่บอกว่าจะต้องใช้งบ 67 จากการบริหารจัดการ 4.3 หมื่นล้านบาท บริหารจัดการงบ 68 อีก 1.32 แสนล้านบาท มันคืออะไร คำถามคือตกลงจะมีการใช้งบกลางของปี 67 หรือไม่ หรือจะไปบริหารจัดการอย่างไร จะมีการใช้เงินทุนสำรองจ่ายที่อยู่ในอำนาจของ รมว.คลังหรือไม่” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

นายเศรษฐาตอบคำถามยืนยันว่า ให้ความสำคัญกับสภา ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะหลีกหนีอะไร แต่มีภารกิจแน่นเหลือเกิน ที่เมื่อช่วงเช้าเพิ่งแจ้งมา เพราะพยายามจะเลื่อนประชุมเพื่อจะตอบสนองความต้องการของ ส.ส. เมื่อวานนี้ก็ลงพื้นที่ทั้งวัน แต่เห็นว่าน้อยใจจะไม่ถาม จึงพยายามที่จะมาตอบให้ได้ แน่นอนว่าครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หากมาตอบได้ก็จะพยายามมาตอบอย่างต่อเนื่อง คำถามที่ถามเกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ตนั้น จะมีการแถลงวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ ทั้งหมดนี้ ที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพราะเรื่องประเภทสินค้านั้นเป็นตัวบ่งบอกว่ารัฐบาลฟังความคิดเห็นของประชาชน อะไรจะซื้อได้ซื้อไม่ได้ ก่อนที่โครงการจะออกมาก็เป็นเรื่องที่เราต้องรับฟังทุกภาคไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้ประกอบการ หรือ ฝ่ายค้านก็ตามว่าอะไรเหมาะสม อะไรไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญและพูดคุยกันตลอดเพื่อจะได้ปรับปรุงให้โดนใจประชาชนและถูกวัตถุประสงค์หลักของการออกโครงการนี้มาคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนเรื่องงบประมาณต่างๆ เรามีการกันงบกลางไว้ประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท ที่บอก 4.5 แสนล้านบาทลงมาจาก 5 แสนล้าน เราดูจากสถิติเก่าที่รัฐบาลเก่ามีการแจกเงินและดูว่าคนที่ไม่เข้าสิทธิมีกี่คน แต่ก็พยายามเตรียมงบประมาณให้เต็มที่ มั่นใจว่าจะวิเคราะห์ให้ดีว่าต้องตรงจุด เป็นไปตามกฎหมาย ซื่อสัตย์สุจริต เป็นไปตามกฎกติกาในการใช้งบประมาณที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ย้ำว่าเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายหลักของเรา เหตุผลที่เราต้องใช้เงินหมื่นบาทต่อคนและจำกัดพื้นที่การใช้ เพราะเราไม่ต้องการให้การใช้อยู่ ที่หัวเมืองหลักอย่างเดียว การที่ประชาชนที่มีบัตรประชาชนอยู่ในพื้นที่ไหน อำเภออะไรก็ให้ใช้ที่นั่น เพื่อที่เงินที่เราให้ใช้ในอำเภอนั้นจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดนั้น เพราะบางจังหวัดยังมีจีดีพีต่ำและบางจังหวัดที่มีการพัฒนาต่ำ เช่น จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดมหาสารคาม เพื่อพัฒนาเศษฐกิจภูมิภาค

“มั่นใจอีกครั้งว่าวันที่ 24 กรกฎาคมจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในแง่ของงบประมาณ ประเภทสินค้าที่จะออกมา” นายเศรษฐากล่าว

น.ส.ศริกัญญาถามข้อที่สองว่า เมื่อนายกฯ ตอบว่า เพราะต้องใช้งบกลาง 4.3 หมื่นล้านบาท เพื่อที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ต ก็จะทำให้ปริศนาทุกอย่างกระจ่างขึ้น เพราะที่ผ่านมาที่นายกฯ เริ่มบริหารราชการแผ่นดินมากว่า 10 เดือนแล้ว เราก็มีข้อสังเกตว่าในงบกลางของปี 67 แทบจะไม่ได้อนุมัติเลย ทั้งที่ประชาชนมีปัญหาหลายเรื่องที่ต้องรอการแก้ไข แต่กลับไม่มีอะไรออกมาเลยในช่วงระยะนี้ เป็นเพราะว่าท่านต้องเก็บเงินก้อนนี้ไปไว้ใช้เพื่อดิจิทัลวอลเล็ตนั่นเอง ซึ่งประชาชนก็ยังจะต้องรอต่อไปจนถึงไตรมาส 4 ซึ่งไม่รู้ว่าเดือน ต.ค. พ.ค. หรือ ธ.ค.กันแน่ ที่เราจะได้รับเงินตรงนี้หรือว่าหลังจากนั้นก็เป็นไปได้

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ที่ต้องถามงบกลางของปี 67 เพราะที่ผ่านมาสภาอนุมัติงบไปแล้ว และก่อนที่สภาจะอนุมัติก็มีการใช้งบไปพลางก่อน แต่กลับมีการอนุมัติจาก ครม.เพียงแค่ 1.4 หมื่นล้านบาทเศษเท่านั้น ที่ต้องกังวลเพราะมีปัญหาที่เร่งด่วนกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือปัญหาค่าครองชีพของประชาชน เงินเฟ้อจะลงจะขึ้นอย่างไรประชาชนอาจจะไม่ได้สนใจ แต่สิ่งที่ประชาชนสนใจและกังวลเพราะว่าเวลาที่ราคาข้าวของแพงขึ้น ราคาไม่ได้ลดลงตามเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน โซฮอล์ 95 เมื่อ 5 ปีก่อนเราจ่ายลิตรละไม่ถึง 30 บาท แต่ทุกวันนี้ลิตรละเกือบจะ 40 บาทแล้ว ราคาไข่ไก่จากเคยฟองละ 4 บาท เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนนี้ขึ้นมาเป็น 5 บาท และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ราคาไก่ ไก่สดเป็นตัวจาก 5 ปีที่แล้วเคยอยู่ที่ตัวละ 200 บาท ตอนนี้ขึ้นมาเป็น 230 บาท หมูก็มีราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นค่าไฟก็ยังแพงเหมือนเดิม ถึงแม้ตอนนี้เราจะมีการปรับโครงสร้างแล้วก็ยังต้องเอาเงินส่วนหนึ่งไปใช้หนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) อยู่ดี ถึงแม้จะมีการอนุมัติงบกลาง 1.9 พันล้านบาท

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า นอกจากรัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรที่จะมาช่วยเหลือค่าครองชีพให้ประชาชน ปัญหาอื่นก็ยังตามมา ถึงแม้นายกฯ จะเลิกพูดแล้วว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤต แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องปัญหาที่มีโรงงานปิดกิจการเป็นจำนวนมาก และมีเอสเอ็มอีทยอยล้มหายตายจากกันไประลอกใหญ่ ซึ่งข้อมูลการปิดโรงงานมีมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว คาบเกี่ยวกับที่นายกฯ เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งถ้ารวมตั้งแต่ปี 66 ถึงไตรมาสสองของปี 67 มีโรงงานปิดตัวไปแล้วเกือบ 2 พันแห่ง กระทบกับการจ้างงานเกือบ 5 หมื่นตำแหน่ง ถ้านับเฉพาะที่นายกฯ เข้ามารับตำแหน่งปิดไปแล้ว 1,217 โรง และเป็นโรงงานขนาดใหญ่ แต่มีการเปิดโรงงานเพียงแค่ 1,264 โรง ซึ่งกลายเป็นโรงงานขนาดเล็ก คำถามคือมีการของบกลางไปช่วยพยุงราคาน้ำมัน 6.5 พันล้านบาท แต่ท่านกลับไม่อนุมัติ ทั้งๆ ที่งบกลางก็ไม่ได้ใช้ เพราะจะเก็บไว้ใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตปลายปีนี้ ถ้าไม่อยากอุดหนุนราคาน้ำมันด้วยการลดภาษีสรรพสามิตแบบเดิม ก็อาจจะเลือกหนุนเฉพาะกลุ่มก็ได้ เช่น ภาคขนส่ง โดยสารสาธารณะ โดยแจกคูปองให้มีน้ำมันที่ราคาถูกลง หรือแจกคูปองลิตรละ 5 บาทให้ประชาชน อาจจะมีมาตรการช่วยเหลืออยู่บ้าง ก็ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่คนเดือดร้อน จึงอยากทราบว่านายกฯ มีแนวโน้มที่จะมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน หรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร โดยที่ไม่ต้องรอดิจิทัลวอลเล็ต

ด้านนายเศรษฐาชี้แจงว่าเราใช้งบกลางในการดูแลเรื่องค่าน้ำมัน ค่าไฟ ด้านการเกษตร สถานพยาบาลต่างๆ ส่วนเรื่องที่ยังไม่มีความกระจ่างในเรื่องงบกลางนั้น คราวหน้ามาแถลงอีกครั้งแล้วจะเอารายละเอียดมาให้ดูว่าเราใช้งบกลางทำอะไรบ้าง เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชน ส่วนเรื่องเศรษฐกิจโดยรวมที่บอกว่ามีการปิดโรงงานและไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เราเห็นต่างกันเยอะในเรื่องของวิกฤตหรือไม่วิกฤต ต้องกระตุ้นหรือเปลี่ยนโครงสร้างหรือไม่ ท่านทราบดีอยู่แล้วว่า 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีโตต่ำต้อยเหลือเกิน ไม่มีการทำโครงการใหญ่ๆ เลย การเจริญเติบโตส่วนใหญ่เป็นในรูปแบบพีระมิดคือช่วงบนโตขึ้น คนที่รวยแล้วก็รวยอีก รวยไปเรื่อยๆ ขณะที่คนจนก็ต่ำต้อยไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด การลงทุนก็อยู่แค่ 1% ส่งออกก็ติดลบ

นายเศรษฐากล่าวต่อว่า ขณะที่เรื่องการปิดตัวของโรงงานนั้น ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเข้ากับความต้องการของโลกสมัยใหม่ ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมาเรามีการปรับตัวที่ช้ามาก จึงเป็นที่มาของการที่ตนต้องเดินทางต่างประเทศ ต้องมีการเจรจากับบริษัทใหญ่ต่างๆ เพื่อจะเข้ามาสร้างดาต้าเซนเตอร์ในการรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ สร้างกำไรให้ประชาชนทุกคนทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น หรือแม้กระทั่งการเดินทางไปประเทศจีนเพื่อนำรถอีวีเข้ามา ซึ่งปัจจุบันก็มีบริษัทเข้ามาลงทุนมาเยอะ แม้จะมีการสะดุด ยอดขายตกไปบ้างแต่เราก็ยังเดินหน้าต่อ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของไฮบริดจ์ที่เราต้องดูแลคู่ค้าที่มาจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำให้ซัพพายเชนแข็งแกร่ง

นายเศรษฐากล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องจีโอโพลิกติกส์เป็นเรื่องสำคัญ แม้ประเทศไทยจะมีจุดยืนเป็นกลาง ไม่ทะเลาะกับใคร และพร้อมจะเป็นคู่ค้ากับทุกคนก็ทำให้เรามีการส่งออกได้น้อยลง นี่จึงเป็นเรื่องที่เราต้องมีจุดยืนด้านการต่างประเทศที่ชัดเจน และเดินทางไปพูดคุยกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกตลอดเวลาเพื่อทำให้เขามีความมั่นใจที่จะมาลงทุนและซื้อสินค้าไทย สำหรับเรื่องบริโภคในประเทศ หากตัดเรื่องภาคท่องเที่ยวออกไปก็ถือว่าไม่มีการเจริญเติบโตเท่าที่ควร และตั้งแต่เราเข้ามาเรื่องท่องเที่ยวที่ถือเป็นนโยบายหลักแม้ไม่ได้ใช้งบประมาณเป็นหลัก แต่เราก็สามารถพยุงเศรษฐกิจได้ เช่น เรื่องวีซ่าฟรี ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามจะทำมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม เพิ่งผ่าน 10 เดือนเท่านั้นเอง พวกท่านคงทราบดีว่าการจะลงทุนเป็นแสนๆ ล้านนั้นต้องใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าเขาจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่ก็มีการพัฒนาไปในขั้นตอนต่างๆ ควบคู่ไปกับเรื่องของเอฟทีเอด้วยนายกฯ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า การที่นายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามของตน เท่ากับว่ายืนยันว่าจะไม่มีมาตรการที่จะพยุงค่าครองชีพให้ประชาชนในระยะสั้น รวมถึงจะไม่มีการที่จะไปแก้ปัญหาโรงงานปิดกิจการ เพราะจากที่นายกฯ เล่ามาทั้งหมด แน่นอนว่าวิเคราะห์ปัญหาถูก วินิจฉัยโรคถูกหมด แต่ทางออกยังมืดแปดด้านเพราะยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ว่าตอนนี้โดยที่ไม่ต้องรอดิจิทัลวอลเล็ต เราก็จะปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร ตนเสนอว่าถ้ารัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้ท้องถิ่นเอาเงินสะสมของตัวเองออกมาใช้ เป็นโครงการลงทุนขนาดเล็ก ในพื้นที่ ให้เกิดการจ้างงาน เศรษฐกิจชุมชนก็จะมีความกระชุ่มกระชวย มีเงินในกระเป๋าขึ้นมาบ้าง ซึ่งเงินนี้มีอยู่จริงไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลออกครึ่งหนึ่ง ท้องถิ่นออกครึ่งหนึ่ง เพื่อเอาไปใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆในพื้นที่รอบรองว่าจะทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้โดยที่ไม่ต้องรอดิจิทัลวอลเล็ต

“จริงๆ แล้วมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ท่านทำ ไม่ว่าจะเป็นภาษีอีซี่ อี-รีซีท ลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ลดภาษีไวน์ ออกมากตรการประกันสินเชื่อพีจีเอส 11 ซึ่งดูแล้วพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนรวยหรือชนชั้นกลางเป็นหลัก อาจจะมีกลุ่มเกษตรกรบ้างเช่นปุ๋ยคนละครึ่ง แต่ดันออกในช่วงเวลาที่เกษตรกรลงปุ๋ยนาไปหมดแล้ว ติดเงินเชื่อกับบริษัทขายปุ๋ยไปเรียบร้อยแล้ว ไม่รู้จะมาคนละครึ่งตอนนี้ไปทำไม ที่สำคัญเน้นไปที่ภาคอสังหากรณีการเพิ่มสัดส่วนต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ที่นายกฯ เป็นต้นคิดและสั่งการกระทรวงมหาดไทยให้เร่งรัดดำเนินการ ซึ่งมาตรการนี้มีผลกระทบในเชิงลบค่อนข้างมาก ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้น ประชาชนที่ไม่มีบ้านได้รับผลกระทบ เพราะไม่มีเงินที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นของต่างชาติและอาจจะต้องไปเช่าบ้านของต่างชาติด้วย แล้วสุดท้ายคนไทยได้อะไรจากมาตรการนี้ สัดส่วนที่เกิดผลต่อเศรษฐกิจคืออะไร”

นายเศรษฐาชี้แจงว่า เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจเรายังทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องใช้งบประมาณก็ได้ เช่น เรื่องของผลผลิต การดูแลพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีการดูแลควบคุมไม่ให้มีสินค้าเถื่อนเข้ามา ส่วนเรื่องให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปีนั้น เราก็ให้มีการศึกษาเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะเป็นการเชื่อมกันหลายอย่าง ซึ่งต่างชาติก็อยากให้มีการพิจารณาเพิ่มระยะเวลาลิสโฮลด์จาก 30 ปีเป็น 99 ปี และไม่ใช่เรื่องของการขายชาติแต่เป็นเรื่องการศึกษาว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะทำ หากทำแล้วจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในไทยสูงขึ้นหรือไม่ ยืนยันว่าจะต้องมีการศึกษาและทำให้ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีการกดดันใคร

“ยืนยันว่ารัฐบาลนี้ภายใต้การนำของผม เราจะวิ่งสู้เพื่ออนาคตและพรรคร่วมทุกพรรคที่อยู่ในรัฐบาลจะช่วยกันวิ่งสู้ต่อไปเพื่อปัจจุบันที่ดีกว่า และจะต้องสู้กับแรงค้านที่ไร้อนาคต” นายเศรษฐา กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password